เผยมติ ป.ป.ช.เสียงเอกฉันท์ตีตกคดี 'รังสฤษฎ์ พัฒนทอง' อดีตนายด่านศุุลกากรช่องเม็ก อุบลฯ -พวกรวม 9 ราย ละเว้นตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์หาไม้พะยูงผิดกฎหมาย หลังพิจารณาสำนวนไต่สวนเบื้องต้นข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่ากระทำความผิด ไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. เสียงเอกฉันท์ตีตกคดี นายรังสฤษฎ์ พัฒนทอง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายด่านศุุลกากรช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี และพวก กรณีละเว้นการตรวจสอบไม้ในตู้คอนเทนเนอร์ แถวกลาง และแถวท้ายของตู้คอนเทนเนอร์ ทั้ง 14 ตู้ เพื่อตรวจสอบหาไม้พะยูงที่ผิดกฎหมาย
หลังพิจารณาสำนวนไต่สวนเบื้องต้นข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่า กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวไม่มีมูลให้ข้อกล่าวหาตกไป
คดีนี้ มีผู้ถูกกล่าวหา 9 ราย คือ
1. นายรังสฤษฎ์ พัฒนทอง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายด่านศุุลกากรช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1
2. นายสํารวย สุดเฉลียว เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้อํานวยการส่วนป้องกันรักษาป่า สํานักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 7 สาขาอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2
3. นายอนันต์ พรมศรี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ปลัดอําเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3
4. นายชนะ กี่สุ้น เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง หัวหน้าด่านป่าไม้พิบูลมังสาหาร สํานักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 7 สาขาอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4
5. นายฐิติพงศ์ ศาสตร์แก้ว เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง นักวิชาการป่าไม้ชํานาญการ สํานักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 7 สาขาอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5
6. นายพิษณุสุทธ สุทธการ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง เจ้าพนักงานป่าไม้ชํานาญงาน สํานักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 7 สาขาอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6
7. นายชาญณรงค์ เพชรดี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง เจ้าพนักงานป่าไม้ชํานาญงาน สํานักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 7 สาขาอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7
8. พ.ต.อ. สมพจน์ ขอมปรางค์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รองผู้บังคับการตํารวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 8
9. พ.ต.อ. สนม อุไรรักษ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้กํากับการสถานีตํารวจภูธรช่องเม็ก อําเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 9
สำนักงาน ป.ป.ช.ระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำผิดโดยสรุปว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจสกัดจับรถตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้าไม้ที่กําลังจะส่งออกไปต่างประเทศ และได้อายัดไม้ในตู้คอนเทนเนอร์ที่กําลังจะส่งออก จำนวน 14 ตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อทําการตรวจสอบ
แต่เจ้าหน้าที่ที่ทําการตรวจสอบ ทำการตรวจสอบโดยการเปิดตู้คอนเทนเนอร์ ตรวจสอบดูไม้เฉพาะไม้ที่อยู่แถวหน้า โดยไม่ทําการตรวจสอบไม้แถวตอนกลาง และแถวตอนท้ายของตู้คอนเทนเนอร์ เมื่อเห็นว่าเป็นไม้ที่ถูกต้องเพราะไม่มีไม้พะยูง จึงรับรองว่าไม้ทั้งหมดถูกต้อง พร้อมทั้งให้ถอนการอายัดเพื่อให้ส่งไม้ไปต่างประเทศได้
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า ที่ประชุมพิจารณาแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนน 7 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะผู้ไต่สวนจากการไต่สวนเบื้องต้น ว่าข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่า นายรังสฤษฎ์ พัฒนทอง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นายสำรวย สุดเฉลียว ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 นายอนันต์ พรมศรี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 นายชนะ กี่หุ้น ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 นายฐิติพงศ์ ศาสตร์แก้ว ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 นายพิษณุสุทธ สุทธการ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 นายชาญณรงค์ เพชรดี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 พันตำรวจเอก สมพจน์ ขอมปรางค์ ผู้ถูกกล่าวหา ที่ 8 และพันตำรวจเอก สนม อุไรรักษ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 9 ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวไม่มีมูลให้ข้อกล่าวหาตกไป
อนึ่ง จากการไต่สวนเบื้องต้น ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบไม้ในตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวนี้ มีกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกันหลายฉบับ การบังคับใช้ การตีความอาจแตกต่างกัน อาจมีความเข้าใจไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสาธารณรัฐ ประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีอนุสัญญา ข้อตกลงระหว่างประเทศ ความสะดวกในการดำเนินการธุรกิจ การป้องกันและปราบปรามการทุจริตร่วมกันทั้งสามประเทศในการ ป้องกันการสวมไม้ผิดกฎหมาย การปลอมแปลงเอกสาร และการซุกซ่อนสินค้าผิดกฎหมาย จึงให้ส่งเรื่อง ให้สำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม เพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป