อธิบดีทางหลวง แจงสี่เบี้ยกระแสข่าวคุยเอกชนต่อสัมปทาน ‘โทลล์เวย์’ ระบุตั้งคณะศึกษาแล้วพบไม่คุ้มค่าจึงไม่ได้ต่อสัมปทานใหม่ ชี้แนวทางต่อไปคือ การศึกษาการลงทุน PPP ในตอนปี 2572 ก่อนหมดสัมปทานในปี 2577
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 21 สิงหาคม 2567 นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า จากที่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้กรมทางหลวง ศึกษาหาแนวทางในการปรับลดค่าผ่านทางทางยกระดับอุตราภิมุข หรือ ดอนเมืองโทลล์เวย์ เพื่อลดภาระของประชาชนหลังบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ผู้รับสัมปทาน ประกาศปรับอัตราค่าผ่านทาง ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2567 ตามสัญญาสัมปทานนั้น
อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า กรมได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2567 เพื่อศึกษาแนวทางและความเป็นไปได้ โดยนำตัวเลขที่เกี่ยวข้องมาประเมินในทุกมิติ ทั้ง กรณีไม่ขึ้นค่าผ่านทาง,กรณีลดค่าผ่านทางลง หรือกรณีขึ้นราคาตามสัญญา ว่าจะส่งต่อปริมาณจราจรที่ใช้บริการอย่างไร รวมถึงควรจะขยายอายุสัญญาออกไปกี่ปี จึงจะเหมาะสม ซึ่งคณะทำงานฯได้สรุปผลการศึกษาเสนอมาที่ตนช่วงปลายเดือนก.ค. 2567 โดยสรุปความเห็นไม่ควรลดค่าผ่านทางแลกกับการขยายสัญญาออกไป เพราะตัวเลขที่ออกมาไม่คุ้มค่าและรายงานไปที่ กระทรวงคมนาคมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งรมว.คมนาคม ยังไม่ได้มีข้อสั่งการอะไรเพิ่มเติม
“ตอนที่กรมสรุปผลการศึกษาเป็นจังหวะพอดีกับที่ สำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ทำหนังสืออธิบดีกรมทางหลวง เพื่อขอรับทราบข้อเท็จจริง กรณีการแก้ไขสัญญาสัมปทานทางยกระดับดอนเมือง (ดอนเมืองโทลล์เวย์) กรมฯจึงได้ชี้แจงข้อมูลดังกล่าวให้ทางป.ป.ช.ด้วย” นายสราวุธกล่าว
@ยังไม่มีการเจรจากับโทลล์เวย์ ขอบคุณ ป.ป.ช. ตรวจสอบ
นายสราวุธกล่าวต่อว่า ต้องขอบคุณ ทางสำนักเฝ้าระวัง ป.ป.ช.ที่สอบถามมา โดยที่ไม่ได้มีใครไปร้อง เป็นการเฝ้าระวัง เพื่อความรอบคอบ เนื่องจากมีกระแส และมุมมองที่ไม่เห็นด้วยกับการขยายสัมปทาน จึงเห็นว่ามีประเด็นที่อาจจะมีความเสี่ยง ซึ่งเป็นจังหวะที่กรมฯศึกษาข้อมูลเสร็จพอดี ทั้งนี้ กรมทางหลวงยืนยันว่า เมื่อได้รับโจทย์จากกระทรวงคมนาคม ได้ตั้งคณะทำงานศึกษาความเหมาะสม และพิจารณาแล้วว่าไม่คุ้มค่าจึงยังไม่มีการเจรจาใดๆ กับเอกชน
“แนวคิดของรมว.คมนาคม ให้กรมทางหลวงไปพิจารณาหากไม่ขึ้นราคาหรือลดราคาลง จะมีแนวทางอย่างไร กรณีขยายสัมปทาน จะเป็นกี่ปีถึงจะเหมาะสมคุ้มค่า กรมฯจึงนำมาศึกษาในทุกมิติ ประกอบกับ ทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์นั้น เป็นเส้นทางเลือกแก่ผู้ใช้รถ ส่วนถนนวิภาวดีรังสิต ที่เป็นถนนหลัก และฟรี หากไม่ใช่ช่วงเวลาเร่งด่วน ตั้งแต่ช่วงดินแดง-อนุสรณ์สถาน การจราจรก็ไม่ได้ติดขัดมากนัก”
ดังนั้น ในเดือนธ.ค. 2567 นี้ จะมีการปรับค่าผ่านทางตามสัญญา ซึ่งเป็นการปรับในรอบระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า ระหว่างวันที่ 22 ธันวาคม 2567 เวลา 00.01 น. - 21 ธันวาคม 2572 โดยกำหนดอัตราค่าผ่านทาง ช่วงดินแดง-ดอนเมือง จากปัจจุบัน 80 บาท ขึ้นเป็น 90 บาท และช่วงดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน จาก 35 บาท ขึ้นเป็น 40 บาทซึ่งทางบริษัทฯจะมีคูปองส่วนลดให้ ตรงนี้กรมทางหลวงก็อาจจะเจรจากับเอกชนเพื่อขอให้ส่วนลดเพิ่มอีกได้หรือไม่ เป็นต้น
@ปี 72 ศึกษารูปแบบบริหารตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ
นายสราวุธกล่าวว่า แนวทางจากนี้ เป็นการบริหารสัญญาสัมปทานตามปกติ โดยสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลงในปี พ.ศ.2577 ซึ่งทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของกรมทางหลวง ขณะที่ ไม่มีการระบุในเงื่อนไขว่าก่อนหมดสัญญา เอกชนมีสิทธิ์ที่จะเสนอขอต่อสัญญาหรือกรมทางหลวงต้องเจรจากับทางบริษัทเป็นรายแรก
ขณะที่ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ก่อนหมดสัญญา 5 ปี หรือประมาณปี 2572-2573 กรมทางหลวงจะศึกษาแนวทางในการดำเนินโครงการต่อ ซึ่งต้องพิจารณาหลาpเรื่อง เช่น โครงสร้างที่มีอายุการใช้งานมาหลาย 10 ปี ต้องมีการซ่อมบำรุงแค่ไหนอย่างไร อัตราค่าผ่านทางที่เหมาะสมและรายได้เป็นอย่างไร หลักการหากกรมทางหลวงดำเนินการเอง เป้ารายได้คือเพียงพอในการดูแลซ่อมบำรุง ซึ่งอาจจะต่ำมากๆ เพื่อให้ประช่าชนได้รับประโยชน์มากที่สุด หรือกรณีมีนโยบายจากรัฐบาลต้องการให้ใช้ทางฟรี ก็มีเป็นไปได้ ก็พิจารณาแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ซ่อมบำรุง เช่น นำจากงบประมาณ เป็นต้น
ที่มาภาพปก: วิกิพีเดีย
อ่านประกอบ