‘ธปท.’ ร่วมมือสถาบันการเงิน 8 แห่ง ผลักดันโครงการ ‘Financing the Transition’ เดินหน้าออก ‘ผลิตภัณฑ์สินเชื่อ’ใหม่ สนับสนุน SMEs เปลี่ยนผ่านจาก ‘brown’ สู่ ‘less brown’
....................................
เมื่อวันที่ 7 ส.ค. นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวเปิดงาน ‘ Financing the Transition : การเงินเพื่อการปรับตัวสู่ความยั่งยืนของภาคธุรกิจ’ ตอนหนึ่งว่า แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาตลาด green และตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (sustainability bond) จะเติบโตอย่างก้าวกระโดด และธุรกิจขนาดใหญ่เริ่มปรับตัวได้ค่อนข้างดีแล้ว เห็นได้จากการที่บริษัทไทยเข้าเป็นสมาชิกดัชนี DJSI ถึง 26 บริษัท สูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน
อย่างไรก็ดี กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือ SMEs ยังตระหนักถึงความจำเป็น และมีความพร้อมในการปรับตัวสู่เศรษฐกิจสีเขียวน้อยกว่าธุรกิจขนาดใหญ่อยู่มาก
นายเศรษฐพุฒิ ระบุว่า เมื่อพิจารณาบริบทและโครงสร้างภาคธุรกิจของไทย ต้องยอมรับว่ายังพึ่งพาพลังงานฟอสซิลในสัดส่วนที่สูง และใช้เทคโนโลยีแบบเดิม ซึ่งไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่าที่ควร ในขณะที่เครื่องมือสนับสนุนหรือแรงจูงใจให้แต่ละภาคส่วนปรับตัวมีอยู่ไม่มาก โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจ SMEs ที่ต้องการปรับตัว แต่ยังไม่พร้อมที่เปลี่ยนเข้าสู่ความเป็นสีเขียวอย่างเต็มที่ ซึ่งข้อจำกัดนี้อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ดังนั้น การสนับสนุนทางการเงินเพื่อการปรับตัวจาก brown (ธุรกิจที่มีการปล่อยคาร์บอนสูง) สู่ less brown หรือ Financing the Transition จึงจำเป็นอย่างยิ่งต่อบริบทของประเทศไทยในขณะนี้
“ตอนนี้เศรษฐกิจไทยในหลายๆมิติ ต้องถือว่าค่อนข้าง brown เซ็กเตอร์ที่เป็นที่เซ็กเตอร์สำคัญๆในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งภาคการผลิต ภาคการส่งออก เราก็รู้ว่ายังอยู่ในโลกเก่า หรือโลกที่ brown เยอะ และธุรกิจหลายตัว โดยเฉพาะ SMEs มีความเป็น Green ค่อนข้างน้อย แต่ถ้าเราเน้นไปในเรื่อง Green เป็นหลัก นัยยะเช่นว่า สถาบันการเงินต่างๆ จะไม่ปล่อยสินเชื่อกับธุรกิจที่ brown นั้น เป็นสิ่งที่เราไม่อยากเห็น
เพราะไม่เหมาะกับบริบทของเศรษฐกิจไทย อยู่ดีๆ ไม่ปล่อย ไปสนับสนุนธุรกิจให้เปลี่ยนผ่าน ที่เน้นแต่เรื่อง Green ตามโจทย์ที่เราอาจเห็นในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกลุ่มสากล หรือประเภท Advanced economy โจทย์นั้น มันไม่เหมือนกับโจทย์ที่เราต้องการ หรือเหมาะกับประเทศอย่างไทยหรือประเทศอื่นในภูมิภาคเรา จึงเป็นที่มาของงานวันนี้ คือ เราอยากเน้นเรื่อง Transition คือ ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจที่เป็น brown ทำให้มันเป็น less brown” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ ย้ำว่า หลักการสำคัญในการปรับตัวไปสู่ less brown นั้น ต้องคำนึงถึงจังหวะเวลาและความเร็ว ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ซึ่งต้องมีการสร้างสมดุลระหว่างการเดินหน้าสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืน และการป้องกันผลข้างเคียงเชิงลบที่จะเกิดกับภาคส่วนต่างๆ และการขับเคลื่อนตรงนี้จะเริ่มจากก้าวเล็กๆที่จับต้องได้ ปฏิบัติได้ และเป็นรูปธรรม ต้องไม่ใช่การยิงพลุ ไม่ใช่เรื่อง CSR อย่างเดียว และที่สำคัญสิ่งที่ทำ สามารถนำไปขยายผลในกว้างได้
นายเศรษฐพุฒิ ระบุด้วยว่า ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ธปท. และธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 8 แห่ง ได้ทำงานร่วมกับอย่างใกล้ชิด ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เงินทุนให้ตอบโจทย์ของภาคธุรกิจ และมีเงื่อนที่เอื้อต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ในภาคธุรกิจที่สำคัญ และหวังว่าโครงการฯดังกล่าว จะช่วยให้ภาคธุรกิจไทย โดยเฉพาะ SMEs เริ่มปรับตัวอย่างจริงจัง รวมทั้งขยายผลออกไปในวงกว้างได้
ด้าน น.ส.วิภาวิน พรหมบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า โครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีส่วนที่เป็น ‘สีน้ำตาล’ ค่อนข้างสูง โดยภาคการผลิตกว่า 60% พึ่งพาพลังงานฟอสซิล และพึ่งพาเทคโนโลยีแบบเก่าคิดเป็น 30% ของจีดีพี ในขณะที่ไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศที่มีความเปราะบางจากภัยธรรมชาติสูงสุดในโลก และ SMEs ที่เป็นรากฐานของเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่หรือ 70% ที่ยังไม่พร้อมปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น จึงเป็นโจทย์ที่สำคัญว่า หากภาคธุรกิจจะอยู่รอดให้ได้ แข่งขันได้ และไม่ตกขบวน ก็จำเป็นต้องมีการปรับตัว ทั้งในด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการปล่อยมลพิษ และการปรับรับเพื่อมือกับภัยธรรมชาติด้วย แต่เนื่องจาก SMEs มีความพร้อมไม่เท่ากับบริษัทขนาดใหญ่ จึงจำเป็นต้องเริ่มจากการก้าวเล็กๆก่อน เพื่อปรับตัวจาก brown สู่ less brown และไปสู่เป้าของความเป็นสีเขียวตามที่ตั้งเป้าหมายไว้
“ภาคการเงินสามารถเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเงินทุน เพื่อให้ภาคธุรกิจปรับตัวจาก brown เป็น less brown และไปสู่เส้นทางของความเป็นสีเขียวได้ในที่สุด” น.ส.วิภาวิน กล่าว
น.ส.วิภาวิน กล่าวว่า ธปท. ในฐานะเป็นธนาคารกลาง และผู้กำกับดูแลสถาบันการเงิน ได้ร่วมกับผู้เกี่ยวข้องวางรากฐานในการสนับสนุน Green Ecosystem ของประเทศไทยใน 5 ด้าน ได้แก่ 1.การมีผลิตภัณฑ์ที่สนับสนุนการปรับตัวของธุรกิจ 2.การมี Taxonomy เพื่อให้มีการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามระดับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเหมาะกับบริบทของไทย 3.การมีข้อมูลเพื่อติดตามการดำเนินการในด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการประเมินความเสี่ยง
4.การมีมาตรการและแรงจูงใจต่างๆเพื่อสนับสนุนให้เกิดการปรับตัว และ 5.การพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเข้าใจและทำเรื่องนี้ได้
“ปีที่แล้ว เรามีการออกแนวนโยบายของ ธปท. เพื่อสื่อสารถึงความคาดหวัง ที่เราอยากให้สถาบันการเงิน เริ่มผนวกประเด็นในเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าไปในกระบวนการทำธุรกิจตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งรวมถึงการมีผลิตภัณฑ์เพื่อสนับสนุนการปรับตัวของลูกค้าจาก brown เป็น less brown อย่างราบรื่น และเราได้ร่วมกับ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดทำ Thailand Taxonomy
โดยปีที่แล้ว เราทำในภาคพลังงานและภาคขนส่งเสร็จแล้ว ส่วนปีนี้เราจะทำให้ครอบคลุมภาคธุรกิจที่สำคัญอีก 4 เซ็กเตอร์ คือ ภาคการผลิต ภาคเกษตร ภาคการจัดการของเสีย และภาคก่อสร้าง คาดว่าภายในไตรมาส 4 ปีนี้ เราคงจะเปิดรับฟังความคิดเห็นสำหรับร่าง Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 สำหรับ 4 เซ็กเตอร์นี้” น.ส.วิภาวิน กล่าว
น.ส.วิภาวิน กล่าวว่า ธปท.ได้ร่วมกับภาคสถาบันการเงินผลักดันให้มีการออกผลิตภัณฑ์ที่ช่วยสนับสนุนเงินทุนให้ภาคธุรกิจในการปรับตัว โดยเฉพาะ SMEs ในการปรับตัวจาก brown ไปสู่ less brown จึงเป็นที่มาของโครงการ Financing the Transition ในครั้งนี้
ขณะที่ นางวิภาวี ชมะนันทน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์สินเชื่อในโครงการ Financing the Transition จะถูกออกแบบให้ตอบโจทย์การปรับตัวของภาคธุรกิจ เช่น การออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนเครื่องจักร เพื่อลดการใช้พลังงานฟอสซิล ,การให้เงินลงทุนเพื่อจัดการของเสีย และการลงทุนในระบบบริหารจัดการน้ำภาคเกษตร เป็นต้น
ด้าน นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ธปท. และสถาบันการเงินทั้ง 8 แห่ง ได้ร่วมกันดำเนินโครงการ Financing the Transition โดยจะมีการออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อใหม่ที่ตอบโจทย์ธุรกิจ SMES ในการเปลี่ยนผ่านจาก brown ไปสู่ less brown ซึ่งรวมไปถึงการสนับสนุนองค์ความรู้ การจัดหาที่ปรึกษาให้กับ SMEs เพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนผ่านอย่างครบวงจร ตลอดจนสร้างแรงจูงใจให้ SMEs เข้ามาใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวด้วย
สำหรับธนาคาร 8 แห่งที่เข้าร่วมโครงการ Financing the Transition ได้แก่ 1.ธนาคารกรุงไทย 2.ธนาคารไทยพาณิชย์ 3.ธนาคารทหารไทยธนชาต 4.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 5.ธนาคารยูโอบี 6.ธนาคารกรุงเทพ 7.ธนาคารกสิกรไทย และ 8.ธนาคารเกียรตินาคินภัทร
อ่านประกอบ :
ธปท.กระตุ้นธุรกิจมุ่งสู่‘less brown-อุตฯสีเขียว’-ปี 66‘แบงก์ใหญ่’ปล่อย‘กรีนโลน’1.9 แสนล.