‘รองผู้ว่าฯ ธปท.’ กระตุ้น ‘ภาคธุรกิจไทย’ ปรับตัวเข้าสู่ ‘less brown-Green’ รับมือภาวะโลกร้อน-แรงกดดันนโยบายการค้า ‘ต่างประเทศ’ มุ่งลด ‘ก๊าซเรือนกระจก’ พร้อมเผยปี 66 ‘แบงก์ขนาดใหญ่’ ปล่อยกู้ ‘สินเชื่อสีเขียว-สินเชื่อยั่งยืน’ กว่า 1.9 แสนล้าน ห่วงอุตสาหกรรมไทย 30% ของจีดีพี ยังเป็น ‘กลุ่มสีน้ำตาล-เป็นเทคโนโลยีโลกเก่า’ ไม่รองรับกระแสความยั่งยืน
................................
เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในหัว ‘ESG กับการยกระดับธุรกิจไทย’ ในงานสัมมนา Unlock ESG Value for Business Success โดยระบุว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาและมองไปข้างหน้า โลกให้ความสำคัญกับ ESG (Environment, Social, และ Governance) มากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นที่แน่ชัดว่าการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงแต่ผลกำไรนั้น ไม่เพียงพอที่จะตอบโจทย์กับความท้าทาย รวมถึงความคาดหวังจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งผู้บริโภคและนักลงทุนต่อการดำเนินธุรกิจที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate change)
นายรณดล กล่าวว่า เพื่อให้เห็นภาพปัญหาที่ชัด ขอสรุปความท้าทายที่ธุรกิจไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมี 3 ประการด้วยกัน คือ
ประการแรก แม้ไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ใน top 20 ของโลก แต่ในด้านความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวน (physical risk) ไทยเราติดอันดับ top 10 ประเทศที่จะได้รับผลกระทบจาก climate change รุนแรงที่สุด โดยมีผลจากงานวิจัยชี้ว่า ไทยจะเจออากาศร้อนยาวนานขึ้น และจะเผชิญภัยแล้งและนำท่วมฉับพลันบ่อยครั้งขึ้น ทำให้ธุรกิจไทยอาจเผชิญกับผลกระทบรุนแรงมากขึ้น
โดยเฉพาะภาคเกษตรและการท่องเที่ยวที่พึ่งพาทรัพยากรทางธรรมชาติสูงและมีการจ้างแรงงานเกือบ ร้อยละ 40 ของแรงงานทั้งหมด รวมถึงภาคการผลิตที่หลายนิคมอุตสาหกรรมตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อน้ำท่วม นอกจากนี้ หลายจังหวัดในภาคเหนือของไทยยังติดอันดับเมืองที่มีมลพิษสูง ขณะที่ภาวะโลกร้อนก็อาจส่งผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อแหล่งท่องเที่ยวของไทย เช่น ภาวะปะการังฟอกขาว ความมีเสน่ห์ของแหล่งท่องเที่ยวไทยก็อาจลดลง ซึ่งอาจกระทบภาคการท่องเที่ยวที่คิดเป็น 1 ใน 5 ของรายได้ของคนไทย
“นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลกระทบ ซึ่งผมคงต้องตั้งคำถามกลับไปถึงทุกท่านว่า เราพร้อมที่จะทำอะไร เพื่อบรรเทาผลกระทบนี้หรือไม่ เพราะหากพวกเราไม่เร่งปรับตัวหรือเตรียมการรับมือ ไทยอาจสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาลโดยในกรณีที่อุณหภูมิโลกปรับสูงขึ้น 3.2 องศาเซลเซียส ภายในปี 2050 นั้น GDP ไทยอาจลดลงถึงร้อยละ 43” นายรณดล กล่าว
@ธุรกิจไทยเจอแรงกดดัน‘นโยบายการค้า ตปท.’
ประการที่สอง ธุรกิจไทยต้องเผชิญแรงกดดันจากนโยบายการค้าในต่างประเทศที่เข้มงวดกับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น (transition risk) ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ที่จะได้รับผลกระทบจากการเร่งออกนโยบายเพื่อจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในหลายประเทศ เช่น มาตรการเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดนของยุโรป หรือ CBAM ที่อาจกระทบต่ออุตสาหกรรมซีเมนต์ เหล็ก และปุ๋ยของไทย ที่คิดเป็นกว่าร้อยละ 6 ของ GDP ซึ่งมาตรการลักษณะนี้มีแต่จะเพิ่มขึ้น และขยายขอบเขตครอบคลุมหลายอุตสาหกรรมมากขึ้น
ล่าสุดยุโรปก็ออกมาตรการ EU Deforestation-free Regulation (EUDR) ที่จะมีผลบังคับใช้ปลายปี 2567 นี้ เพื่อควบคุมกลุ่มสินค้าที่มีส่วนในการทำลายป่า ซึ่งอาจกระทบหลายสินค้าเกษตรส่งออกของไทยเช่น ยางพารา ไม้ และปาล์มน้ำมัน ขณะเดียวกัน ธุรกิจ SMEs ใน supply chain ก็จะเผชิญแรงกดดันจากธุรกิจขนาดใหญ่ที่ทยอยปรับตัว ทั้งนี้ จากการวัดปริมาณการปล่อยคาร์บอนต้องคำนวณตลอดทั้งวงจรผลิตภัณฑ์ซึ่งในบางอุตสาหกรรมมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบริษัทใน supply chain สูงกว่าของตัวบริษัทเองกว่า 11 เท่า
ประการสุดท้าย อุตสาหกรรมไทยกว่าร้อยละ 30 ของ GDP ยังอยู่ในกลุ่มสีน้ำตาล และเป็นเทคโนโลยีโลกเก่า ไม่รองรับกระแสความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ ปิโตรเลียม และปิโตรเคมี รวมทั้งธุรกิจจำนวนมากยังพึ่งพาพลังงานจากถ่านหินและน้ำมันในสัดส่วนที่สูง ซึ่งอาจเจอความท้าทายให้เร่งปรับตัว เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ถ้าปรับตัวไม่ทัน ก็เสี่ยงที่จะเสียโอกาสทางธุรกิจ ดังนั้น การส่งเสริมเฉพาะการสร้างโอกาสทางธุรกิจในอุตสาหกรรมสีเขียว ย่อมไม่เพียงพอสำหรับบริบทไทย
“โจทย์ที่สำคัญกว่า คือ การสนับสนุนกลุ่มสีน้ำตาลให้เริ่มปรับตัว นอกเหนือจากการมุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียว สิ่งที่ผมอยากเน้น คือ การปรับตัว ไม่ได้หมายความว่าธุรกิจต้องเปลี่ยนไป “เขียว” เลย แต่มันคือจุดเริ่มของ journey ที่จะทำให้ธุรกิจเปลี่ยนไป “less brown” มากขึ้นเรื่อยๆ จนเขียวได้ ในวันข้างหน้า ที่เทคโนโลยีมีความพร้อมในต้นทุนที่เหมาะสม
ขอยกตัวอย่างให้เห็นชัดขึ้น คือ ทราบหรือไม่ว่า หากบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นเปลี่ยนทิศทางการผลิตจากรถยนต์ประเภทสันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ต่อคันจะลดลงจาก 30,000 ชิ้น เหลือเพียง 1,500–3,000 ชิ้น สะท้อนว่าโอกาสของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สันดาปอย่างไทยอาจลดลงกว่า 10 เท่า
แต่ในวิกฤตก็ย่อมมีโอกาส หากธุรกิจไทยตระหนักรู้และปรับตัวยกระดับศักยภาพทางการแข่งขัน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐที่จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปี 2030 โดยปรับตัวเปลี่ยนแปลงสู่การผลิตชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า เช่น ชิ้นส่วนในระบบแบตเตอรี่ ระบบอิเล็กทรอนิกส์การสื่อสาร และมอเตอร์ไฟฟ้า ได้เพิ่มมากขึ้น ก็จะเป็นโอกาสที่ช่วยให้ไทยยังไปต่อในเวทีโลกได้และนี่ก็เป็นหนึ่งตัวอย่างของการปรับตัวครับ ซึ่งเราไม่ต้องมุ่งหวังว่าจะต้อง green ทันทีแต่ต้อง less brown มากขึ้นเรื่อยๆ” นายรณดล กล่าว
@การปรับตัวของธุรกิจต้องมีความพร้อม 3 ด้าน
นายรณดล กล่าวต่อว่า แม้ว่าเป้า Net Zero ในปี ค.ศ. 2065 จะฟังดูอีกไกล แต่การปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อมเป็น journey ที่ต้องใช้เวลา จึงต้องเริ่มตั้งแต่ตอนนี้ทั้งการปรับตัวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (mitigation) และการปรับตัวเพื่อรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (adaptation) ในอนาคต
“เราเห็นตัวอย่างของหลายธุรกิจที่ได้เริ่มปรับตัวแล้วและเห็นผลสำเร็จ ผมจึงขอยกตัวอย่างการปรับตัวเพื่อประหยัดพลังงาน สำหรับธุรกิจโดยทั่วไปแล้ว ต้นทุนค่าไฟเป็นต้นทุนที่สำคัญ เช่น ธุรกิจโรงแรมที่มีต้นทุนค่าไฟสูงถึงร้อยละ 6 ถึง 8 ของรายได้ โดยจากการสำรวจธุรกิจโรงแรมที่ปรับตัว เช่น หันมาใช้หลอดไฟ LED ติด solar rooftop หรือเปลี่ยนไปใช้เครื่องปรับอากาศที่ประหยัดไฟ พบว่าสามารถลดต้นทุนค่าไฟไปได้เกือบร้อยละ 30 อีกทั้งยังช่วยเพิ่มจุดขายให้กับโรงแรมได้อีกด้วย” นายรณดล ระบุ
นายรณดล กล่าวว่า กระบวนการปรับตัวของภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะขนาดใหญ่หรือเล็ก ต้องอาศัยความพร้อมใน 3 เรื่อง ได้แก่
เรื่องแรก การตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในการปรับตัว โดยสิ่งแรกที่ต้องเกิดขึ้นกับองค์กร คือ ต้องมี “tone from the top” ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรต้องแสดง commitment เพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้ภายในองค์กรให้เป็นรูปธรรม แต่สิ่งหนึ่งที่อยากเน้นย้ำ คือ นอกจากจะตระหนักถึงความสำคัญของการปรับตัวแล้ว ธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับบริบทและความพร้อมในการปรับตัว เพื่อให้จังหวะและเวลาของการปรับตัวไม่เร็วเกินไป และ ไม่ช้าเกินไป ให้เกิดผลข้างเคียงจากการปรับตัวให้น้อยที่สุด การคำนึงถึง timing และ speed ในการปรับตัวเป็นสิ่งสำคัญ
เรื่องที่สอง คือ การมีองค์ความรู้ และ know how ที่จำเป็นสำหรับการปรับตัว ทั้งนี้ การปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องท้าทาย บางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวและยังไม่เข้าใจ เพราะเป็นเรื่องใหม่และต้องอาศัยความรู้เฉพาะทาง เช่น วิธีการคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการวางแผนการลดการปล่อยก๊าซในกระบวนการดำเนินธุรกิจ ซึ่งรวมไปถึงการเลือกลงทุนในเทคโนโลยีที่เหมาะสม จึงจำเป็นต้อง equip องค์กรให้มีความรู้เท่าทันและมี know-how
“เป็นที่น่ายินดีที่บริษัทขนาดใหญ่ของไทยหลายแห่ง ได้เริ่มจัดทำแผนการปรับตัวสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ climate transition plan แล้ว โดยกำหนดเป้าหมาย กลยุทธ์ และกรอบเวลาที่ชัดเจนในการปรับกระบวนการดำเนินธุรกิจเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ หรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (net zero) ได้อย่างเป็นระบบและสอดคล้องกับหลักทางวิทยาศาสตร์สากล เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนการปรับปรุงเครื่องจักร ซึ่งจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กสามารถนำไปปรับใช้ได้” นายรณดล กล่าว
เรื่องที่สาม คือ การมีเงินทุนสนับสนุน หรือสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เพียงพอสำหรับการปรับตัว โดยการปรับกระบวนการดำเนินธุรกิจให้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนด้านประสิทธิภาพพลังงาน การเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรต่างๆ ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเปลี่ยนระบบทำความเย็นและบำบัดน้ำเสีย ล้วนใช้เงินลงทุนสูง แต่กว่าจะเห็นประโยชน์จากเงินลงทุนก็ต้องใช้เวลา
@ปี 66 ธนาคารใหญ่ปล่อยสินเชื่อสีเขียว 1.9 แสนล.
นายรณดล กล่าวว่า สำหรับบทบาทของภาคการเงินในการช่วยยกระดับธุรกิจด้าน ESG นั้น ด้วยประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีความเปราะบางในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังต้องการเงินลงทุนอีกมาก เพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ยกว่าปีละ 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือเพิ่มขึ้นจากในอดีตกว่า 6 เท่าตัว สำหรับการลงทุนด้าน renewable energy และ energy efficiency การมีเงินทุนและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เพียงพอ จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ดังนั้น ภาคการเงินจึงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุน เงินลงทุน เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างทันการณ์
“ภาคการเงินไทยก็ตื่นตัว โดยสนับสนุนเงินทุนให้ธุรกิจปรับตัวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี จำนวนเม็ดเงินที่ต้องลงทุนในการเปลี่ยนผ่านนี้ยังต้องการอีกมาก เพื่อให้ประเทศไทยสามารถ บรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions ได้โดยในปีที่ผ่านมา ธนาคารขนาดใหญ่ให้สินเชื่อสีเขียว (green loan) และสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน ประมาณ 190,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.4 ของยอดคงค้างสินเชื่อรวมทั้งระบบ
ขณะที่ภาคธุรกิจไทยมีการออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (ESG Bond) ประมาณ 882 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5 ของยอดคงค้างตราสารหนี้ไทย ซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับความจำเป็น และเน้นการสนับสนุนกิจกรรมสีเขียว ขณะที่เงินทุนสำหรับกิจกรรมเปลี่ยนผ่าน (transition) หรือกลุ่มสีน้ำตาลที่อยู่ระหว่างปรับตัวยังมีไม่มากนัก แต่ยังต้องการอีกมาก ดังนั้น การจัดสรรเงินทุนให้ตรงจุดไปสู่กิจกรรมกลุ่ม brown มากขึ้น จะช่วยให้เกิดการปรับตัวที่มีนัยสำคัญ และเกิด action ที่เป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ ธปท. ได้ผลักดันให้ภาคสถาบันการเงินให้ความสำคัญในการช่วยภาคธุรกิจปรับตัว เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ที่สนใจในการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ช่วยสนับสนุนเงินทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (financing product for transition to environmental sustainability) สำหรับกลุ่มลูกค้าที่ธนาคารแต่ละแห่งเห็นว่าจะสามารถช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีนัยและเป็นรูปธรรม
โดยให้ความสำคัญกับการสนับสนุนเงินทุนเพื่อเปลี่ยนแปลงธุรกิจ จาก red หรือ brown ให้เป็น less brown หรือ greener ควบคู่กับการให้ความรู้ที่จำเป็น เช่น การประเมิน carbon footprint โดยคาดว่าสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการจะสามารถประกาศรายละเอียดแนวทางในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้
นอกจากนี้ ธปท. ยังดำเนินการตามแผนการวางรากฐาน สำหรับการเงินเพื่อความยั่งยืน โดยงานหนึ่งที่มีความคืบหน้าสำคัญ คือการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคการเงิน และภาคเอกชน ในการจัดทำมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไทย หรือ Thailand Taxonomy ที่พัฒนาขึ้นโดยใช้เงื่อนไขและตัวชี้วัดที่ชัดเจน สอดคล้องกับบริบทของไทยและเป้าหมายการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสตาม Paris Agreement” นายรณดล กล่าว
@ย้ำ Taxonomy ไม่ใช่เครื่องมือภาษี
นายรณดล ระบุว่า ในปีที่แล้ว คณะทำงานได้เผยแพร่ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 สำหรับภาคพลังงานและขนส่งแล้ว และอยู่ระหว่างร่วมกันจัดทำ Taxonomy สำหรับภาคเศรษฐกิจอื่นเพิ่มเติม ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคการเกษตร ภาคอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง และภาคการจัดการของเสีย โดยคาดว่าจะเปิดรับฟังความเห็นจากสาธารณชนต่อร่าง Taxonomy ในช่วงปลายปีนี้
“หลายท่านอาจยังไม่ทราบว่า Taxonomy นำไปใช้ทำอะไร ผมขอย้ำว่า Taxonomy ไม่ใช่เครื่องมือภาษี แต่เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการจัดกลุ่มกิจกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมีประโยชน์อย่างน้อย 3 ด้าน คือ
ด้านแรก ภาคการเงินสามารถสนับสนุนเงินทุนได้อย่างตรงจุด เนื่องจากช่วยก าหนดนิยามความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หรือ green ให้เข้าใจตรงกัน ทำให้สามารถประเมินสถานะของลูกค้า ว่ามีการดำเนินการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในระดับใด จะได้ประเมินโอกาสและความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินก็สามารถประเมินสถานะพอร์ตของตัวเองเพื่อช่วยวางกลยุทธ์ในการให้สินเชื่อ
ด้านที่สอง เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเงินทุนของกิจกรรมเปลี่ยนผ่าน (transition) โดยเป็น 1 ใน Taxonomy แรกๆ ของโลกที่มีการจัดกลุ่มกิจกรรมสีเหลือง (amber) ซึ่งสะท้อนการให้ความสำคัญต่อบริบทของประเทศที่ยังมีอุตสาหกรรมในกลุ่มสีน้ำตาลอยู่มาก ทำให้อุตสาหกรรมเหล่านี้มี commitment ในการปรับตัวเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น
ด้านที่สาม ช่วยลดปัญหาการกล่าวอ้างเกินจริงหรือ greenwashing รวมถึงการมี taxonomy ที่ได้มาตรฐานสากล ก็จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและดึงดูดนักลงทุนต่างชาติที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนเงินลงทุนในผลิตภัณฑ์การเงินด้านสิ่งแวดล้อมในไทยมากขึ้น” นายรณดลกล่าว
นายรณดล ย้ำว่า Taxonomy ไม่ได้เป็นมาตรฐานที่ต้องการให้ปล่อยกู้หรือ ลงทุนเฉพาะในกิจกรรมสีเขียว และห้ามปล่อยกู้หรือลงทุนในกิจกรรมสีแดง แต่เป็นเพียงการจัดหมวดหมู่ให้เห็นทิศทางที่ควรจะปรับตัวไป ตามที่เทคโนโลยีในปัจจุบันเอื้ออำนวย เช่น ในธุรกิจพลังงานที่มีเทคโนโลยีพลังงานหลายรูปแบบ ก็จะช่วยให้ภาคธุรกิจตั้งเป้าหมายระยะยาวในการปรับสัดส่วนกิจกรรมสีเขียวสูงขึ้นและลดสัดส่วนกิจกรรม สีเหลืองและแดง ภายในเวลาที่จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย net zero ได้
@ยก ‘3C Solutions’ หนุนธุรกิจไทยปรับตัว
นายรณดล ยังกล่าวถึงความท้าทายและ Key success factors เพื่อให้ธุรกิจไทยปรับตัวอย่างยั่งยืน ใน Journey ของการปรับตัว ว่า มีความท้าทายที่สำคัญ 2 ด้าน คือ “ข้อมูลของธุรกิจที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม” และ “ความพร้อมในการปรับตัว” โดยข้อมูลที่ใช้ในการตัดสินใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งจำเป็น แต่ข้อมูลยังมีจำกัด อีกทั้งในกติกาใหม่ๆ และแรงกดดันจากเวทีการค้าโลกที่ต้องการทราบแหล่งที่มาและปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้า
อีกทั้งยังมีมาตรฐานการจัดทำรายงานและการเปิดเผยข้อมูล ทำให้การเก็บข้อมูลของธุรกิจที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เป็นขั้นแรกที่ทุกธุรกิจต้องให้ความสนใจ โดยปัจจุบันบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีการเปิดเผยข้อมูล ESG แล้วถึงร้อยละ 76 และคาดว่าบริษัทจดทะเบียนเหล่านี้จะขยายขอบเขตการรายงานข้อมูลให้ครอบคลุมถึงบริษัทใน supply chain ในระยะต่อไป ดังนั้น การพัฒนา data platform และการเข้าถึงข้อมูลที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถือจะมีความสำคัญอย่างยิ่ง
อีกหนึ่งความท้าทาย คือ ความพร้อมในการปรับตัวที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ใน supply chain ที่อาจเผชิญข้อจำกัดในการปรับตัว และอาจขาดความพร้อมทั้ง 3 ด้าน ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น ทั้งขาด tone from the top ขาดองค์ความรู้ และขาดเงินทุน ดังนั้น จึงเป็นโจทย์สำคัญที่ท้าทายที่การปรับตัว ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งทั้ง 2 ความท้าทายนั้น มี 3C Solutions ด้วยกัน
“โดย C ที่หนึ่ง Clear direction คือ มีทิศทางที่ชัดเจนทั้งในระดับประเทศและระดับองค์กรในการมุ่ง ไปสู่เป้าหมายเดียวกันในด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเทศไทยเรากำลังจะมี พ.ร.บ.Climate Change ที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปีนี้ จะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยให้เจตจำนงและเป้าหมายในการดำเนินงาน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศมีความชัดเจนและสอดคล้องกันในทุกภาคส่วน
C ที่สอง Cooperation การผลักดันและพัฒนาให้ประเทศเติบโตได้อย่างยั่งยืน ไม่สามารถทำได้ หากปราศจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ภาครัฐไม่สามารถออกนโยบายได้หากไม่เข้าใจความต้องการและความพร้อมของภาคเอกชน ภาคธุรกิจไม่สามารถปรับตัวได้หากขาดองค์ความรู้และเงินทุนที่มีต้นทุนเหมาะสม ขณะเดียวกัน ภาคการเงินก็ไม่สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมหากขาดข้อมูลจากภาคธุรกิจ ดังนั้น ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการเงิน ต้องร่วมมือและประสานงานกัน
และ C ที่สาม Customization การคำนึงถึงบริบทและความพร้อมที่แตกต่างกันของแต่ละภาคเศรษฐกิจจะช่วยให้เกิดความสมดุลระหว่างการพัฒนาและการรักษาเสถียรภาพในระยะยาว ซึ่งประเทศเรายังมีกลุ่มที่ไม่พร้อมหรือพร้อมน้อยอยู่มาก โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและ SMEs สิ่งสำคัญ คือ ต้องมีผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน รวมถึงมาตรการภาครัฐที่ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลาย
โดยให้ความสำคัญกับการกระตุ้นการตระหนักรู้ ให้องค์ความรู้ที่เหมาะสม อาทิ การประเมิน carbon footprint รวมทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ก็สามารถช่วยเหลือธุรกิจใน supply chain โดยเป็นแบบอย่างที่ดีในการส่งผ่านแนวคิดเรื่องการเปลี่ยนผ่าน” นายรณดล กล่าว
นายรณดล ย้ำว่า การปรับตัวสู่ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยสร้างความยั่งยืนในการทำธุรกิจระยะยาว และเพิ่มมูลค่าให้กับองค์กรหรือพบโอกาสต่อยอดทางธุรกิจได้ต่อไป