2 เอกชน ‘บ.อู่กรุงเทพ-บ.ซีเครสท์ มารีน’ ยื่นประมูล ‘เรือขุดแบบยุ้งดิน’ 2.5 พันล้าน ‘รอบ 2’ หลังจาก ‘กทท.’ ล้มประมูลรอบแรก ด้าน ‘ผอ.กทท.’ แจงตั้ง ‘ราคากลาง’ ไม่สูงเกินจริง เหตุเป็นการต่อเรือทั้งลำในประเทศ ยันทั้ง 2 ราย แข่งขันกันจริง ไม่ใช่แค่เข้ามาเป็น 'คู่เทียบ'
...........................................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 18 ก.ย.2566 การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้เปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในการประกวดราคาจ้างเหมาต่อเรือขุดแบบยุ้งดิน ขนาดความจุไม่น้อยกว่า 2,500 ลูกบาศก์เมตร 1 ลำ (ทดแทนเรือสันดอน 7) ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ราคากลางฯ 2,500 ล้านบาท ผลปรากฏว่า มีผู้ยื่นซองข้อเสนอและข้อเสนอราคา จำนวน 2 ราย จากผู้ซื้อซองเอกสารทั้งหมด 32 ราย ได้แก่
1.บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในความควบคุมของกองทัพเรือ และ 2.บริษัท ซี เครสท์ มารีน จำกัด โดยบริษัทที่เสนอราคาต่ำสุดนั้น เสนอราคาไว้ที่ 2,495 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 5 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ต่อมาในวันที่ 4 ธ.ค.2566 กทท. ประกาศยกเลิกการประกวดราคาฯดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า “เนื่องจากไม่มีผู้ผ่านการคัดเลือกจากการพิจารณาผลการประกวคราคาในครั้งนี้ การท่าเรือแห่งประเทศไทย จึงขอยกเลิกประกาศดังกล่าว” นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 3 เม.ย.2567 กทท.ได้เผยแพร่ประกาศประกวดราคาจ้างเหมาต่อเรือขุดแบบยุ้งดิน ขนาดความจุไม่น้อยกว่า 2,500 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 1 ลำ (ทดแทนเรือสันดอน 7) ครั้งที่ 2 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ราคากลางฯ 2,500 ล้านบาท และเปิดให้ผู้ซื้อซองเอกสาร ยื่นข้อเสนอฯในวันที่ 28 พ.ค.2567 ปรากฏว่า มีผู้ยื่นข้อเสนอฯ 2 ราย คือ 1.บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด และ 2.บริษัท ซี เครสท์ มารีน จำกัด
ขณะที่ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการพิจารณาผลการจ้างเหมาต่อเรือขุดแบบยุ้งดินฯ ที่มี ร.ท.ภูมิ แสงคำ เป็นประธาน ได้รับทราบผลการตรวจเยี่ยมอู่ต่อเรือและอู่สำรองของผู้ยื่นเสนอทั้ง 2 บริษัท คือ อู่เรือกรุงเทพ และบริษัท เอเชียนมารีน เซอร์วิส (มหาชน) ซึ่งเสนอโดยบริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด และอู่ต่อเรือ บริษัท ซี เครสท์ มารีน จำกัด และอู่เรือ มารีน แอคมี มารีนไทย ซึ่งเสนอโดยบริษัท ซี เครสท์ มารีน จำกัด
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯยังได้พิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอฯทั้ง 2 บริษัท ซึ่งจากข้อมูลที่มีการนำเสนอต่อที่ประชุมฯนั้น พบว่าทั้ง 2 บริษัท ผ่านคุณสมบัติในทุกรายการ และมีเพียง 1 รายการเท่านั้นที่อยู่ระหว่าง ‘รอตรวจ’
ด้าน นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ว่า ขณะนี้คณะกรรมการพิจารณาผลฯ ยังอยู่ระหว่างตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ยื่นเสนอราคาฯทั้ง 2 บริษัท ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบเอกสารต่างๆว่า ครบถ้วนหรือไม่ รวมทั้งจะมีการตรวจสอบในประเด็นต่างๆที่คณะกรรมการฯมีข้อสังเกตเพิ่มเติมด้วย โดยคณะกรรมการผลฯ จะมีระยะเวลาในพิจารณา 60 วันทำการ แต่อาจขอต่อเวลาพิจารณาออกไปได้
“วันนี้ เรายังอยู่ในกระบวนการพิจารณา ซึ่งมีระยะเวลา 60 วันทำการ โดยคณะกรรมการพิจารณาผลฯ จะต้องมานั่งดูข้อเสนอทั้งหมด ดูว่ามีความเหมาะสมไหม คุ้มค่าสูงสุดไหม แต่ถ้ามีอะไรไม่ถูกต้อง เรา (กทท.) ก็จะยกเลิกได้ เหมือนกับในคราวก่อน คาดปลายเดือน ส.ค.นี้ คณะกรรมการฯ จะพิจารณาจบ ส่วนจะประกาศผลได้วันไหน ก็ต้องดูอีกทีว่า เขา (คณะกรรมการฯ) พิจารณาจบไหม อย่างคราวก่อน ถ้าไม่จบ เขาก็มาขอต่อเวลา” นายเกรียงไกร กล่าว
ส่วนกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า การจ้างเหมาต่อเรือขุดแบบยุ้งดินฯดังกล่าว ซึ่งที่มีราคากลาง 2,500 ล้านบาท นั้น เป็นราคาที่สูงกว่าเกินความเป็นจริง เนื่องจากในปัจจุบันค่าต่อเรือแบบเดียวกัน รวมค่าแบบ ค่าวัสดุอุปกรณ์ และค่าใช้จ่ายอื่นๆแล้ว จะมีมูลค่า 1,700-1,800 ล้านบาท เท่านั้น นายเกรียงไกร กล่าวว่า เนื่องจากการจ้างต่อเรือขุดฯลำดังกล่าว เป็นการต่อเรือขุดฯทั้งลำในประเทศไทยเป็นลำแรกในรอบ 30 ปี ไม่ใช่เรือขุดฯที่นำเข้ามาทั้งล็อตจากต่างประเทศ
ดังนั้น การต่อเรือขุดฯลำนี้ จึงมีค่าใช้จ่ายและมีความเสี่ยงต่างๆสูงกว่าเรือขุดฯที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ความเสี่ยงในการจัดหาแรงงานที่ทักษะและความเชี่ยวชาญในการต่อเรือ ซึ่งหาได้ค่อนข้างยาก ความเสี่ยงในเรื่องความผันผวนของค่าจ้างแรงงาน โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ค่าแรงเป็นขาขึ้น ในขณะที่เรือขุดฯลำนี้ ต้องใช้เวลาต่อประมาณ 2 ปี อีกทั้งผู้รับจ้างต่อเรือจะต้องปรับแบบให้สอดคล้องกับความต้องการใช้งานของ กทท. รวมทั้งต้องการันตีการใช้งานด้วย
“ราคาที่ทั้งสองเจ้าเสนอมาในครั้งนี้ เข้าใจว่าใกล้เคียงกับราคาที่เสนอมาในครั้งที่แล้ว เพราะการต่อเรือไม่ใช่แค่การซื้อเครื่องจักรเข้ามา แต่เขารู้ว่า มีความเสี่ยงสูง คือ ถ้าต่อนาน ก็ไม่รู้ว่าค่าแรงปลายทางจะเป็นเท่าไหร่ เขาจึงต้องซื้อความเสี่ยงด้านค่าแรง และวันนี้แรงงานที่มีทักษะ (ต่อเรือ) ก็หายาก ค่าแรงก็เป็นขาขึ้นอีก ราคาค่าแรงจึงมีความผันผวน แล้วถ้าเขาทำไม่ได้ ก็ต้องเจอค่าปรับ อาจไม่คุ้มค่า รวมทั้งต้องเรื่องการบริการหลังการขายอีก” นายเกรียงไกร กล่าว
นายเกรียงไกร ระบุด้วยว่า สาเหตุที่ กทท.กำหนด TOR ให้การต่อเรือขุดฯลำนี้ ต้องต่อขึ้นในประเทศไทย แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าเรือขุดฯที่นำเข้านั้น ก็เพื่อให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมต่อเรือ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการใช้และพัฒนาทักษะแรงงานไทย และเรือขุดฯที่ต่อขึ้นเองกับเรือขุดฯที่นำเข้านั้น ค่าใช้จ่ายอาจไม่แตกต่างกันมากนัก เพราะเรือขุดฯที่นำเข้ามาต้องมีค่าภาษีด้วย
นายเกรียงไกร กล่าวถึงกรณีที่การตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทที่ยื่นข้อเสนอบางรายฯ อาจยื่นข้อเสนอเข้ามา เพียงเพื่อต้องการเป็นคู่เทียบ ไม่ต้องการเข้ามาแข่งขันจริงๆ ว่า ในอุตสาหกรรมนี้ มีบริษัทที่ต่อเรือได้เองอยู่ไม่กี่เจ้า คงไม่มีใครอยากให้งานใคร ทุกคนอยากได้งานทั้งนั้น และเราเองก็ได้ไปตรวจสอบว่า อู่หลักและอู่รองที่เสนอเข้ามานั้น มีคุณสมบัติหรือไม่ เจ้าของอู่หลักและอู่รองเป็นใคร จึงมั่นใจว่าไม่มีใครยื่นข้อเสนอฯเข้ามา เพียงเพื่อต้องการเป็นเพียงคู่เทียบแน่นอน
“ราคาที่เรากำหนด มีความเหมาะสม เรือขุดฯที่ต่อขึ้นต้องใช้ประโยชน์ได้จริง และการดำเนินการทุกขั้นตอนเราจะเข้าไปตรวจสอบร่วมกับ IP Observer (ผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม) และยังมีบุคลากรภายในที่มาจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจฯ เข้ามาดูทุกขั้นตอนว่า ทำถูกต้องและแม่นยำไหม” นายเกรียงไกร ย้ำ
อ่านประกอบ :
เสนอต่ำกว่าราคากลาง 5 ล้าน! 2 เจ้ายื่นประมูลต่อเรือขุดฯ2.5พันล.-กทท.คาดได้ผู้ชนะ พ.ย.นี้
มีสิทธิไม่รับราคาต่ำสุด! 'กทท.'เปิดยื่นซองประมูล‘ต่อเรือขุดแบบยุ้งดิน’2.5พันล.18 ก.ย.นี้