ศาลแพ่งสั่ง ‘คปท.-ศปปส.’ เลิกชุมนุมบริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชษฐ์ภายใน 7 วัน ชี้ชุมนุมมาแล้ว 5 เดือนทำประชาชนเดือดร้อน-ใช้สิทธิเสรีภาพเกินสมควร
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 ศาลแพ่งเผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ กรณีพิพากษาให้กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ร่วมกับกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ที่จัดการชุมนุมค้างคืนที่บริเวณเชิงสะพาน ชมัยมรุเชษฐ์ ถนนพิษณุโลก แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เลิกจัดการชุมนุมภายใน 7 วัน โดยระบุว่ากลุ่มผู้ชุมนุมได้ชุมนุมเป็นเวลากว่า 5 เดือน นับว่าได้ใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นของตนอย่างเพียงพอแล้ว เมื่อการชุมนุมได้ส่งผลกระทบต่อการเรียน การสอน และความปลอดภัยในการเดินทางของนักศึกษา การชุมนุมนานไปกว่านี้ถือเป็นการเอาแต่ใช้สิทธิของกลุ่มตนเกินสมควรไปมาก โดยไม่คำนึงถึงความเดือนร้อนของประชาชนคนอื่น
มีรายละเอียด ดังนี้
คดีสีบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการชุมนุมคดีของกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ร่วมกับกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ที่จัดการชุมนุมค้างคืนที่บริเวณเชิงสะพาน ชมัยมรุเชษฐ์ ถนนพิษณุโลก แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร กับขอให้ศาลมีคำสั่งให้กลุ่มผู้ชุมนุมรื้อถอนเต็นท์ที่ปิดทับช่องจราจรและป้ายรถโดยสารประจำทาง มีคำสั่งให้กลุ่มผู้ชุมนุมเปิดช่องทางการจราจรบนถนนพิษณุโลกเพิ่มหนึ่งช่องทางจากที่ปิด 2 ช่องทาง กับให้กลุ่มผู้ชุมนุมหยุดกิจกรรมชุมนุมในวันที่ 29 กรกฎาคม 2567
พิเคราะห์พยานหลักฐานของผู้ร้องแล้วมีคำสั่งในวันนี้ว่า เห็นว่า การที่กลุ่มผู้ชุมนุมผู้ถูกร้องทำการชุมนุมโดยกางเต็นท์และปลูกต้นไม้บนฟุตบาทและผิวจราจร 2 ช่องทางตลอดแนวบนถนนพิษณุโลก ตั้งแต่หน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ถึงแยกพาณิชยการพระนคร ทำให้เหลือช่องจราจร 2 ช่องทาง ตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 ต่อเนื่องถึงปัจจุบันเป็นเวลานานกว่า 5 เดือนเป็นเหตุให้อาจารย์ เจ้าหน้าที่และนักศึกษาได้รับความเดือดร้อนในการเข้าออกมหาวิทยาลัย กลุ่มผู้ชุมนุมยังปราศรัยเสียงดังรบกวน การเรียนการสอน ตั้งเต็นท์ปิดบังป้ายรถประจำทาง ที่ผ่านมากกว่า 10 ปี มีกลุ่มผู้ชุมนุมหลายกลุ่ม ทางมหาวิทยาลัยไม่มีปัญหา แต่ครั้งนี้นักศึกษาต้องขึ้นรถประจำทางกลางถนน ไม่ปลอดภัย มหาวิทยาลัยพยายามนัดเจรจา แต่กลุ่มผู้ชุมนุมหลีกเลี่ยงไม่มาพบ กลุ่มผู้ชุมนุมมีรถสุขาเคลื่อนที่ 2 คัน ส่งกลิ่นเหม็นเข้ามาภายในบริเวณมหาวิทยาลัยฯ
ต่อมามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครจึงมีหนังสือถึงผู้ร้อง ขอให้แก้ปัญหาจากการปักหลักชุมนุมตามหนังสือฉบับลงวันที่ 27 มิถุนายน 2567 บุคลากร นักศึกษาให้ข้อมูลผลกระทบจากการไม่มีป้ายรถประจำทางไม่มีที่หลบแดด หลบฝนและนักศึกษา 701คนรวมตัวกันลงลายมือชื่อเป็นผู้ได้รับเดือดร้อน เช่นนี้ถือได้ว่าเป็นการชุมนุมสาธารณะที่เป็นการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชนและนักศึกษาที่จะใช้ถนนสารารณะ ก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนและนักศึกษาที่จะใช้ที่สารารณะได้รับความเดือดร้อนเกินที่พึงคาดหมายได้ว่าเป็นไปตามเหตุอันควรตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสารารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 15 (2) และ 16 (1) ผู้ร้องในฐานะเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสารารณะได้แจ้งประกาศให้กลุ่มผู้ชุมนุมผู้ถูกร้องแก้ไขรวมถึง 4 ครั้งแต่เพิกเฉย ผู้ร้องชอบที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเลิกการชุมนุมได้ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสารารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 21 วรรคสอง
ตามพฤติการณ์ที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้ชุมนุมบนฟุตบาทและถนนสาธารณะมานานกว่า 5 เดือน นับว่าผู้ชุมนุมได้ใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นของตนอย่างเพียงพอแล้ว เมื่อการชุมนุมได้ส่งผลกระทบต่อการเรียน การสอนและความปลอดภัยในการเดินทางของนักศึกษา การชุมนุมนานไปกว่านี้ถือเป็นการเอาแต่ใช้สิทธิของกลุ่มตนเกินสมควรไปมาก โดยไม่คำนึงถึงความเดือนร้อนของประชาชนคนอื่น จึงเห็นควรมีคำสั่งให้กลุ่มผู้ชุมนุมตามคำร้องเลิกการชุมนุมสาธารณะตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสารารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 22 จึงมีคำสั่งให้กลุ่มผู้ชุมนุมตามคำร้องเลิกการชุมนุมสาธารณะภายในเวลา 7 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเป็นต้นไป