‘สุรพงษ์’ ดันต่อไฮสปีดไทยจีนช่วงโคราช-หนองคาย 3.4 แสนล้านบาท คาดชงบอร์ดรฟท.อีกรอบ ก.ย.นี้ หลังกรรมการหลายคนสงวนความเห็น ส่วนเฟส 1 กทม.-โคราช ยังติดค้าง 2 ปัญหา ‘มรดกโลกอยุธยา-ทับซ้อนไฮสปีด 3 สนามบิน’ ชี้สัญญา 4-5 ผ่านกรุงเก่าอาจประมูลใหม่ หลังเอกชนได้งานยืนราคานานแล้วไม่ได้สร้าง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 3 กรกฎาคม 2567 นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ภายในปีนี้ จะผลักดันโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย) ระยะทาง 357.12 กิโลเมตร (กม.) รวมมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 341,351.42 ล้านบาท
โดยจะเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเดินหน้าประกวดราคาก่อสร้างต่อไป คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2572-2573 โดยทราบว่าคณะกรรมการ(บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีการพิจารณาแล้วแต่ยังไม่ส่งเรื่องมาที่กระทรวงคมนาคม
ซึ่งโครงการถือว่ามีความพร้อมเนื่องจากมีการออกแบบงานโยธาเสร็จเรียบร้อย โดยอยู่ระหว่างจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2567 คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการโครงสร้างพื้นฐานทางบก และทางอากาศ (คชก.) ได้ให้ความเห็นชอบรายงาน EIA แล้ว รอรฟท.จัดทำเล่น EIA ฉบับสมบูรณ์ ภายในเดือนก.ค. 67 เพื่อเตรียมเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) อนุมัติต่อไป
“ไฮสปีดเฟส2 จะถอดบทเรียนจากเฟส 1 ในจุดที่มีปัญหามาปรับใช้เพื่อไม่ให้เกิดซ้ำ เพราะที่ผ่านมางานล่าช้าติดขัดมาก ดังนั้นเชื่อว่าเฟส2 จะก่อสร้างได้เร็วและเสร็จตามเป้าหมาย” รมช.คมนาคมระบุ
นายสุรพงษ์ กล่าวถึงวงเงินลงทุนสูงถึงกว่า 3 แสนล้านบาทนั้นจะกระทบต่อเพดานเงินกู้และทำให้โครงการต้องชะงักหรือไม่ว่า เรื่องนี้ครม.จะหาแนวทางหรือรูปแบบในการลงทุนที่เหมาะสม โดยพิจารณาร่วมกับสำนักงบประมาณ ซึ่งการบริหารโครงการขนาดใหญ่มีหลายรูปแบบ เป้าหมายเพื่อให้โครงการเสร็จตามกำหนดและได้ใช้ประโยชน์เกิดความคุ้มค่า สร้างผลตอบแทนในการลงทุนตามแผนงาน จึงไม่น่ากังวล
@สัญญาไทยจีนผ่านอยุธยา เสี่ยงประมูลใหม่
ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา ระยะทาง 250 กิโลเมตร นายสุรพงษ์กล่าวว่า ขณะนี้เหลือ 2 สัญญาที่ยังไม่ได้ก่อสร้างจากทั้งหมด 14 สัญญา คือ สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กม.นั้น ช่วงสถานีอยุธยามีประเด็นมรดกโลก ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จะจัดส่งรายงานการประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก หรือ Heritage Impact Assessment (HIA) ให้ยูเนสโกพิจารณา คาดว่าจะได้ข้อสรุปใน เร็วๆนี้
ส่วนผู้รับเหมาที่ได้รับการคัดเลือกและรอการลงนามสัญญาคือ บริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด สัญญาวงเงิน 10,325 ล้านบาท นั้นล่าสุดได้แจ้งยืนราคาต่ออีก1 เดือน ยอมรับว่าหากผู้รับเหมาไม่ยืนราคาก็ต้องเปิดประมูลสัญญานี้ใหม่
ส่วนสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.2 กม. ที่มีประเด็นโครงสร้างร่วมกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) นั้น ในส่วนของรถไฟไทย-จีน ตกลงที่ปรับสเปคลดความเร็วจาก 250 กม./ชม. เป็น 160 กม./ชม.ในช่วงดังกล่าว ส่วนการก่อสร้างตามสัญญาทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (ซี.พี.) เป็นผู้ก่อสร้างทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปเพื่อเดินหน้าเร็วๆนี้
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยืดเยื้อมานาน ดังนั้น หากสุดท้ายโครงการมีปัญหารถไฟก็จะเป็นผู้ก่อสร้างเองเพื่อไม่ให้กระทบต่อรถไฟไทย-จีน
@กรรมการ รฟท.สงวนความเห็นมาก ไทยจีนเฟส 2 ชงบอร์ดเข้ามาใหม่
แหล่งข่าวจากรฟท.เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ที่มีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นประธาน เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2567 ได้มีการพิจารณาโครงการ รถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย) แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาเป็นเพียงแต่การรับทราบโครงการแต่เนื่องจากบอร์ดมีความเห็นเพิ่มเติมในหลายประเด็นที่มีนัยสำคัญ ซึ่งรฟท.ต้องนำไปปรับปรุงข้อมูลเพิ่มเติมให้สอดคคล้องกับความเห็นของบอร์ด จึงต้องมีการเสนอบอร์ดพิจารณาอีกครั้งคาดว่าจะสามารถเสนอบอร์ดได้ประมาณเดือนก.ย. 2567 จากนั้นจึงจะเสนอกระทรวงคมนาคมได้
เช่น ขอให้ปรับปรุงเรื่องแบบและราคากลาง เพื่อให้เป็นไปตามสภาพพื้นที่ก่อสร้างที่มีการเปลี่ยนแปลงและไม่ต้องมีการมาแก้ไขแบบในภายหลัง รวมไปถึงไม่มีปัญหาในเรื่องการขยายเวลาทำงาน และเพิ่ม วงเงิน ค่างาน หลังเซ็นสัญญาไปแล้ว
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟส 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคายมีมูลค่าการลงทุน 341,351.42 ล้านบาท โดยแบ่งงานเป็น 2 ส่วน คือ 1. งานรถไฟความเร็วสูง วงเงินลงทุน 335,665.21 ล้านบาท ได้แก่ ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยทรัพย์สิน วงเงิน 10,310.10 ล้านบาท, ค่าก่อสร้างงานโยธา วงเงิน 235,129.40 ล้านบาท, ค่าลงทุนระบบราง วงเงิน 30,663.75 ล้านบาท, ค่าระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล วงเงิน 29,007.08 ล้านบาท, ค่าจัดหาขบวนรถไฟ วงเงิน 17,874.35 ล้านบาท, ค่าจัดหาขบวนรถซ่อมบำรุงทาง วงเงิน 2,620.43 ล้านบาท, ค่าที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างงานโยธา วงเงิน 6,466.06 ล้านบาท, ค่าที่ปรึกษาบริหารโครงการและที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างงานระบบรถไฟ วงเงิน 2,792.38 ล้านบาท และค่าที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ วงเงิน 801.66 ล้านบาท
โดยในส่วนของการก่อสร้างแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 357.12 กม. วงเงิน 235,129.40 ล้านบาท แบ่งงานโยธาเป็น 11 สัญญา เฉลี่ยมูลค่าสัญญาละประมาณ 20,000 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อให้ได้ผู้รับจ้างก่อสร้างที่มีคุณภาพ และการเข้าร่วมประมูลไม่มากราย หรือไม่น้อยรายจนเกินไป นอกจากนี้ ยังมีงานศูนย์ซ่อมบำรุงนาทา 1 สัญญา และศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย 1 สัญญา
สุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (ยืนกลาง)