ครม.รับทราบแนวทางยกเลิกสิทธิประโยชน์ทางภาษี ‘ร้านค้าปลอดอากรขาเข้า’ หวังกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวภายในประเทศ เผยปี 66 มียอดซื้อสินค้าผ่าน ‘ดิวตี้ฟรีขาเข้า’ กว่า 3 พันล้าน
.........................................
เมื่อวันที่ 2 ก.ค. นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร จ.นครราชสีมา มีมติรับทราบแนวทางการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ โดยรับทราบแนวทางการหยุดการดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรด้านคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้านค้าปลอดอากรขาเข้าของผู้ประกอบการ
และรับทราบผลประโยชน์และผลกระทบของการหยุดการดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรด้านคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้านค้าปลอดอากรขาเข้า ที่กระทรวงการคลังได้ศึกษาไว้ในเบื้องต้น
“ผู้ประกอบการ (ร้านค้าปลอดอากร) ชี้แจงมาแล้วว่า ยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับมาตรการนี้ ซึ่งในที่ประชุม ครม. มีการพูดเสริมว่า การยกเลิกดิวตี้ฟรีที่เป็นขาเข้า เป็นมาตรฐานที่ทางสากลเขาทำกัน หลายๆประเทศเขาก็ไม่ทำกันที่ว่า ให้นักท่องเที่ยวซื้อของที่สนามบินและใช้ในประเทศ เรื่องนี้จึงเป็นการดำเนินการตามมาตรฐานสากล และเป็นการส่งเสริมให้มีการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศเรา” นางรัดเกล้า กล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง รายงานว่า ปัจจุบันผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรผ่านทางท่าอากาศยานนานาชาติโดยทั่วไปสามารถซื้อสินค้าโดยได้รับสิทธิยกเว้นอากรตามหลักเกณฑ์ ดังนี้ (1) ของที่ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรซื้อเพื่อใช้เองเป็นการส่วนตัว หรือใช้ในวิชาชีพ ราคารวมกันไม่เกิน 2 หมื่นบาท (2) บุหรี่ปริมาณไม่เกิน 200 มวน หรือชิการ์หรือยาเส้น ปริมาณไม่เกินอย่างละ 250 กรัม หรือหลายชนิดรวมกันปริมาณไม่เกิน 250 กรัม แต่ทั้งนี้ บุหรี่ต้องมีปริมาณไม่เกิน 200 มวน และ (3) สุราปริมาณไม่เกิน 1 ลิตร
อย่างไรก็ดี เมื่อผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติและผู้เดินทางชาวไทย ได้ใช้สิทธิซื้อสินค้าต่างๆ ภายในร้านค้าปลอดอากรขาเข้าแล้วย่อมทำให้โอกาสในการจับจ่ายในการบริโภคและการซื้อสินค้าภายในประเทศมีน้อยลง
ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงมีแนวคิดที่จะศึกษาความเหมาะสมในการยกเลิกการอนุญาตให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้านค้าปลอดอากรขาเข้า รวมถึงการยกเว้นอากรของที่ซื้อจากร้านค้าปลอดอากรสำหรับผู้โดยสารขาเข้าเพื่อส่งเสริมการบริโภคและการใช้สินค้าภายในประเทศ โดยมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนแปลงวงเงินใช้จ่ายในร้านค้าปลอดอากรขาเข้าดังกล่าวมากระจายหมุนเวียนในประเทศ ให้เกิดประสิทธิภาพและเกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในภาพรวมได้มากยิ่งขึ้น
กระทรวงการคลังระบุด้วยว่า ปัจจุบันมีนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านค้าปลอดอากรในประเภทร้านค้าปลอดอากรขาเข้า จำนวน 3 ราย ดำเนินกิจการในท่าอากาศยานนานาชาติ 8 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ท่าอากาศยานสมุย และท่าอากาศยานกระบี่ โดยจากสถิติของกรมศุลกากรในปี 2566 มียอดจำหน่ายสินปลอดอากรในร้านค้าปลอดอากรขาเข้ารวมทั้งสิ้นเป็นจำนวน 3,021.75 ล้านบาท
ด้าน นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวว่า การยกเลิกการยกเว้นอากรของที่ซื้อจากร้านค้าปลอดอากรสำหรับผู้โดยสารขาเข้า จะสร้างความเท่าเทียมกันระหว่างร้านค้าปลอดอากรและผู้ค้าภายในประเทศ
“ตอนขาเข้าประเทศ ไปซื้อที่ไหน ก็ต้องเสีย Vat การที่คนซื้อของแล้ว เอาเข้าไปใช้ในประเทศ ปกติแล้วการจะยก Vat ให้ ก็ต่อเมื่อซื้อของแล้วออกนอกประเทศ ดังนั้น การซื้อของแล้ว เอาเข้าใช้ในประเทศ ควรต้องมีพื้นฐานที่เท่ากัน การยกเลิกอันนี้จะสร้างความชัดเจน เข้าใจว่าเจ้าของพื้นที่ก็เข้าใจและเห็นด้วยกับแนวคิด หลักการเดิมเป็นอย่างไร ผมไม่ค่อยแน่ใจ แต่อันนี้จะทำให้ผู้ค้าในประเทศเกิดความเท่าเทียม คนที่ได้พื้นที่เดิมก็เข้าใจ และสนับสนุนนโยบายนี้เต็มที่” นายพิชัย กล่าว
สำหรับแนวทางการหยุดการดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรด้านคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้านค้าปลอดอากรขาเข้าของผู้ประกอบการ ดังนี้
กระทรวงการคลังได้พิจารณาจากข้อกฎหมายแล้ว ประกาศกรมศุลกากร ที่ 44/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข เกี่ยวกับคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านค้าปลอดอากร (ประกาศกรมศุลกากรฯ) มีการบัญญัติเกี่ยวกับการระงับสิทธิการประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรตามข้อ 21 ที่ได้กำหนดเกี่ยวกับการพักใช้และการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการในเขตปลอดอากร ในกรณีที่ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาต ไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 กฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ คำสั่ง ข้อบังคับ หรือเงื่อนไขในการอนุญาต โดยมิได้บัญญัติเกี่ยวกับการสั่งระงับสิทธิในกรณีอื่นๆ ไว้
อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ภายหลังจากที่ ครม. ได้มีมติเกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย เมื่อวันที่ 28 พ.ย.2566 ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรทั้ง 3 ราย ได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมศุลกากร โดยยินดีที่จะหยุดการดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรด้านคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้านค้าปลอดอากรขาเข้าตามนโยบายของรัฐบาล จนกว่ารัฐบาลจะมีการยกเลิกนโยบายดังกล่าวข้างต้น
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว เห็นว่ากรณีผู้ประกอบการมีความยินดีในการหยุดดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรด้านคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้านค้าปลอดอากรขาเข้า เป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับหลักการที่กระทรวงการคลังมีแนวคิดจะแปลงวงเงินใช้จ่ายในร้านค้าปลอดอากรขาเข้า มาหมุนเวียนใช้จ่ายในประเทศได้ โดยไม่ต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อยกเลิกการอนุญาตจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้านค้าปลอดอากรขาเข้า
ส่วนผลการศึกษาเรื่องผลประโยชน์และผลกระทบของการหยุดการดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรด้านคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้านค้าปลอดอากรขาเข้าที่ มีดังนี้
-ผลต่อการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยในประเทศมากขึ้น และมีการกระจายการใช้จ่ายและการบริโภคสินค้าและบริการภายในประเทศอย่างกว้างขวาง โดยหากมีการหยุดการดำเนินการจำหน่ายสินค้าในร้านค้าปลอดอากรขาเข้า 1 ปี คาดว่าจะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวต่อคนต่อทริป เพิ่มขึ้นประมาณ 570 บาท
-ผลต่อการใช้จ่ายของผู้เดินทางชาวไทย
ผู้เดินทางชาวไทยอาจจะเลือกใช้จ่ายซื้อสินค้าปลอดอากรจากประเทศต้นทางเพื่อทดแทน หรือใช้จ่ายซื้อสินค้าประเภทเดียวกันในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยขึ้นกับปัจจัยในการตัดสินใจที่แตกต่างกัน
-ผลต่อผู้ประกอบการภายในประเทศ
ผู้ประกอบการคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านค้าปลอดอากร จะมีการสูญเสียรายได้อากรขาเข้าส่วนของการจำหน่ายสินค้าในร้านค้าปลอดอากรขาเข้า อย่างไรก็ดี ประเมินว่า หากมีการหยุดการดำเนินการจำหน่ายสินค้าในร้านค้าปลอดอากรขาเข้าเป็นระยะเวลา 1 ปี คาดว่าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการร้านค้าและผู้เกี่ยวข้องในภากการท่องเที่ยว ตลอดจนร้านค้าทั่วไป เสมือนได้รับเม็ดเงินหมุนเวียนใหม่เพิ่มเติมสูงสุด 3,460 ล้านบาทต่อปี เป็นการสร้างโอกาสและส่งผลเชิงบวกต่อการผลิต การลงทุน และการจ้างานได้ต่อไป
-ผลต่อรายได้ของกาครัฐ
เม็ดเงินหมุนเวียนมีการกระจายสู่ผู้ประกอบการร้านค้าในวงกว้างเพิ่มมากขึ้น และส่งผลให้เกิดการขยายฐานการชัดเก็บภาษีของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม
-ผลกระทรบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม
กรณีที่มีการหยุดดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรค้านคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้านค้าปลอดอากรขาเข้าเป็นระยะเวลา 1 ปี กระทรวงการคลังคาดว่าจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ขยายตัวได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.012 ต่อปี
อ่านประกอบ :
‘รมว.คลัง’ถอนวาระ‘ผลศึกษาฯ-แนวทาง’ยกเลิกสิทธิประโยชน์ทางภาษี‘ร้านค้าปลอดอากรขาเข้า’