ถึงคิว! คดีที่ 4 ป.ป.ช.เสียงเอกฉันท์ตีตกข้อกล่าวหา 'สุวิจักขณ์ นาควัชระชัยท์' อดีตเลขารัฐสภา-พวกรวม 8 ราย ส่อทุจริตจัดตั้งห้องประชุมยุทธศาสตร์เพื่อการตัดสินใจ เอื้อประโยชน์ผู้รับจ้าง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. เสียงเอกฉันท์ ตีตกข้อกล่าวหา นายวัชระชัยย์ นาควัชระชัยท์ หรือสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และพวก มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตในการดำเนินการจัดจ้างโครงการจัดตั้งห้องประชุมยุทธศาสตร์เพื่อการตัดสินใจของรัฐสภาของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับจ้าง
หลังพิจารณาสำนวนไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฎพยานหลักฐานที่ชัดเจนเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่ากระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
คดีนี้ มีผู้ถูกกล่าวหา 9 ราย ประกอบไปด้วย
- นายวัชระชัยย์ นาควัชระชัยท์ หรือสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ 1
- นายสมพงษ์ ปรีชาธนพจน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ 2
- นายทวีเกียรติ เชาวลิตถวิล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ 3
- นางสาวสุนทร รักเมือง ผู้อำนวยการสำนักการคลังและงบประมาณสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ 4
- นายพิสิฏฐ์ เกตุประเสริฐวงค์ ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานพัสดุสำนักการคลังและงบประมาณ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ 5
- ร้อยตำรวจเอก โยธิน จันทร ในฐานะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ ที่ 6
- นายยอดยิ่ง บัณฑิตทัศนานนท์ นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการสำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ 7
- นายชรัณ ภู่พานิชพงศ์ หรือนายสมคิด ศึกขันเงิน วิทยากรชำนาญการ สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ 8
- นายอนันทวัช จันต๊ะรังษี นิติกรปฏิบัติการสำนักกรรมาธิการ 3 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ 9
สำนักงาน ป.ป.ช. ระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำผิดโดยสรุป ว่า โครงการจัดตั้งห้องประชุมยุทธศาสตร์เพื่อการตัดสินใจของรัฐสภา วงเงินงบประมาณ 24,599,996 บาท นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ได้เชิญรองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (นายวัชระชัยย์ หรือสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย) และผู้อำนวยการสำนักรักษาความปลอดภัย รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมเพื่อเร่งรัดติดตามการใช้เงินงบประมาณที่ได้รับอนุมัติให้กันไว้เบิกเหลื่อมปี โดยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จ ทั้งนี้ในส่วนของค่าใช้จ่ายโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเหลือเงินงบประมาณที่ยังไม่ได้ดำเนินการอยู่ 142,000,000 บาท จึงมอบหมายให้สำนักรักษาความปลอดภัยไปดำเนินการรวบรวมรายละเอียดครุภัณฑ์ และโครงการต่างๆ และส่งให้สำนักการคลังและงบประมาณดำเนินการเปลี่ยนแปลงรายการเพื่อนำเงินงบประมาณที่เหลือดังกล่าวมาใช้ในการพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัย และอาคารสถานที่ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรต่อไป ซึ่งโครงการจัดตั้งห้องประชุมยุทธศาสตร์เพื่อการตัดสินใจของรัฐสภา เป็นหนึ่งในโครงการที่สำนักรักษาความปลอดภัยนำส่งรายละเอียดต่อรองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
ต่อมาสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดร่างขอบเขตของงาน (TOR) และร่างเอกสารประกวดราคาและคณะกรรมการกำหนดราคากลาง ต่อมากลุ่มงานพัสดุ สำนักการคลังและงบประมาณได้เสนอความเห็นเกี่ยวกับโครงการจัดตั้งห้องประชุมยุทธศาสตร์เพื่อการตัดสินใจของรัฐสภา ว่าเมื่อพิจารณาระยะเวลาการใช้ประโยชน์ของห้องประชุมยุทธศาสตร์ ซึ่งใช้งานจริงประมาณ 2 ปี โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ก็จะดำเนินการแล้วเสร็จจึงอาจไม่มีความคุ้มค่าเพียงพอ
แต่อย่างไรก็ตามหากสำนักงานเห็นว่าโครงการดังกล่าวมีความจำเป็นต้องดำเนินการต่อไป กลุ่มงานพัสดุจักได้ดำเนินการตามระเบียบต่อไป ต่อมางานพัสดุ สำนักการคลังและงบประมาณได้ขออนุมัติยกเลิกการดำเนินงานของคณะกรรมการกำหนดร่างขอบเขตของงานและร่างเอกสารการประกวดราคาและคณะกรรมการกำหนดราคากลางโครงการจัดตั้งห้องประชุมยุทธศาสตร์เพื่อการตัดสินใจของรัฐสภา และเห็นควรแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดรายละเอียดและคุณลักษณะเฉพาะของงานตามระเบียบรัฐสภาว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2555 ข้อ 13 ประกอบกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 15 ทวิ
ต่อมาเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2556 กลุ่มงานพัสดุ สำนักการคลังและงบประมาณได้ขออนุมัติจัดจ้างโครงการจัดตั้งห้องประชุมยุทธศาสตร์เพื่อการตัดสินใจของรัฐสภา โดยวิธีพิเศษตามระเบียบรัฐสภาว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2555 ข้อ 11 (3) เนื่องจากเป็นงานที่ต้องกระทำโดยเร่งด่วน หากล่าช้าอาจจะเสียหายแก่ราชการ เพราะหากไม่สามารถก่อหนี้ผูกพันได้ทันภายในเดือนมีนาคม 2556 ตามที่กระทรวงการคลังกำหนด อาจทำให้งบประมาณรายการดังกล่าวอาจมีอันพับไป ซึ่งถือว่าสำนักงานบริหารงบประมาณขาดประสิทธิภาพ ต่อมาสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษประกอบด้วยนายทวีเกียรติ เชาวลิตถวิล ร้อยตำรวจเอก โยธิน จันทร นายยอดยิ่ง บัณฑิตทัศนานนท์ นายสมคิด ศึกขันเงิน นายอนันทวัช จันตะรังสี ต่อมาเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2556 คณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษได้รายงานผลการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษว่า คณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษได้มีหนังสือลงวันที่ 5 มีนาคม 2556 เชิญผู้มีอาชีพรับจ้างงานโดยตรงให้มาเสนอราคา โดยกำหนดยื่นซองเสนอราคาในวันที่ 11 มีนาคม 2556 จำนวน 3 ราย ได้แก่ 1. บริษัท อินสแตนท์ เซอร์วิสเซส จำกัด 2. บริษัท ไดนามิค ซอร์ซ จำกัด 3. บริษัท สเปคเทค จำกัด
วันที่ 11 มีนาคม 2556 มีผู้ยื่นซองใบเสนอราคาโครงการจำนวน 3 ราย คือ บริษัท อินสแตนท์ เซอร์วิสเซส จำกัด บริษัท ไดนามิค ซอร์ซ จำกัด และบริษัท สเปคเทค จำกัด คณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษพิจารณาแล้วเห็นว่าบริษัท อินสแตนท์ เซอร์วิสเซส จำกัด เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด จึงมีมติเห็นควรว่าจ้างบริษัท อินสแตนท์ เซอร์วิสเซส จำกัด ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2556 กลุ่มงานพัสดุ สำนักการคลังและงบประมาณได้เสนอเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรอนุมัติให้จัดจ้างบริษัท อินสแตนท์ เซอร์วิสเซส จำกัด จัดทำโครงการจัดตั้งห้องประชุมยุทธศาสตร์ ตามมติคณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษและเห็นควรส่งร่างสัญญาให้สำนักกฎหมายตรวจสอบ ต่อมาเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2556 กลุ่มงานพัฒนากฎหมาย สำนักกฎหมายมีความเห็นเกี่ยวกับร่างสัญญาจ้างงานโครงการจัดตั้งห้องประชุมยุทธศาสตร์เพื่อการตัดสินใจของรัฐสภาว่าเข้าลักษณะเป็นการ "ดัดแปลง" อันถือเป็นงานก่อสร้าง ซึ่งจะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา "กำหนดราคากลาง" ด้วย สำนักกฎหมายเห็นว่า การจัดทำสัญญาดังกล่าวไม่เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง จึงเห็นควรคืนเรื่องให้สำนักการคลังและงบประมาณ
วันที่ 29 มีนาคม 2556 กลุ่มงานพัสดุสำนักการคลังและงบประมาณ ได้มีบันทึกชี้แจงผู้อำนวยการสำนักกฎหมายว่า กลุ่มงานอาคารสถานที่สำนักรักษาความปลอดภัยได้พิจารณารายละเอียดและคุณลักษณะของโครงการแล้ว มีความเห็นว่างานดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นการจ้างก่อสร้าง จึงขอยืนยันความถูกต้องของการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น และขอให้สำนักกฎหมายได้เร่งดำเนินการตรวจร่างสัญญาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 29 มีนาคม 2556 ด้วย ต่อมาเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2556 กลุ่มงานพัฒนากฎหมาย สำนักกฎหมายส่งร่างสัญญาจ้างงานโครงการจัดตั้งห้องประชุมยุทธศาสตร์เพื่อการตัดสินใจของรัฐสภาแก่สำนักการคลังและงบประมาณ โดยยังยืนยันความเห็นของสำนักกฎหมายที่ได้แจ้งข้อทักท้วงให้สำนักการคลังและงบประมาณ ต่อมานายวัชระชัยย์ หรือสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงนามในฐานะผู้ว่าจ้างในสัญญาจ้างโครงการจัดตั้งห้องประชุมยุทธศาสตร์เพื่อการตัดสินใจของรัฐสภา สัญญาเลขที่ 68/2556 ลงวันที่ 29 มีนาคม 2556
การที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการจัดจ้างโครงการห้องประชุมยุทธศาสตร์เพื่อการตัดสินใจของรัฐสภา ทั้งที่ไม่มีความเหมาะสมทั้งในด้านสถานที่และวงเงินงบประมาณในการจัดหา และอาจไม่มีความคุ้มค่าเพียงพอนั้น จึงมีพฤติการณ์เป็นการจัดตั้งโครงการเพื่อใช้งบประมาณของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้สำนักการคลังและงบประมาณได้มีบันทึกแสดงความเห็นแล้วว่าโครงการดังกล่าวอาจไม่มีความคุ้มค่าในการจัดสร้างห้องประชุม แต่นายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ก็มิได้สั่งระงับโครงการแต่อย่างใด และในการดำเนินการจัดจ้างโครงการดังกล่าวไม่ปรากฏรายละเอียดอันเป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับการคำนวณราคากลาง ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำคัญในการจัดทำสัญญาก่อสร้างทุกประเภท ทำให้ไม่สามารถทราบราคากลางที่แท้จริงของโครงการได้ ซึ่งเป็นช่องทางในการทุจริตงบประมาณของโครงการดังกล่าวได้ง่าย
อีกทั้งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรขออนุมัติจัดจ้างโครงการห้องประชุมยุทธศาสตร์เพื่อการตัดสินใจของรัฐสภา โดยดำเนินการจ้างโดยวิธีพิเศษตามระเบียบรัฐสภาว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2555 ข้อ 11 (3) โดยอ้างว่าเป็นงานที่ต้องกระทำโดยเร่งด่วน หากล่าช้าอาจจะเสียหายแก่ราชการ ซึ่งเหตุผลในการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษดังกล่าว พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่เข้าเหตุตามข้อ 11 (3) แห่งระเบียบรัฐสภาว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2555 กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าได้ใช้วิธีจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ เพื่อเอื้อต่อการเลือกผู้รับจ้างงานที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรประสงค์จะให้เข้ามาเสนอราคา เนื่องจากไม่ต้องดำเนินการประกาศเชิญชวนให้ผู้รับจ้างทั่วไปเสนอราคา โดยคณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ ได้เชิญผู้รับจ้างให้มาเสนอราคาสามราย โดยผู้เสนอราคาที่คณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษได้มีหนังสือเชิญให้มาเสนอราคานั้น มิได้เป็นผู้มีอาชีพรับจ้างงานโดยตรง
@ ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า คณะไต่สวนเบื้องต้นจึงเห็นว่า ทางไต่สวนเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โครงการจัดตั้งห้องประชุม ยุทธศาสตร์เพื่อการตัดสินใจของรัฐสภาของสํานักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เกิดขึ้นเนื่องจากมีเหตุการณ์ ชุมนุมทางการเมืองบริเวณหน้าอาคารรัฐสภา สํานักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจึงมีความจําเป็นต้องมีสถานที่ อุปกรณ์ และเทคโนโลยี เพื่อกําหนดแนวทางปฏิบัติและมาตรการรักษาความปลอดภัยให้กับที่ประชุมของรัฐสภา และบริเวณรัฐสภา เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการ และใช้สําหรับเป็นห้องปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารเหตุการณ์พิเศษ ซึ่งทําหน้าที่ดูแลเหตุการณ์ดังกล่าว โครงการดังกล่าวจึงมีเหตุผลและ ความจําเป็นที่จะต้องรีบดําเนินการเพื่อรักษาทรัพย์สินและความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในสํานักงาน เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
กรณีจึงเข้าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 สามารถอนุมัติให้ใช้วิธีการจัดซื้อ จัดจ้างโดยวิธีพิเศษ ตามระเบียบรัฐสภาว่าด้วยการพัสดุพ.ศ. 2555 ข้อ 11 (3) ที่กําหนดให้งานที่ต้องกระทํา โดยเร่งด่วน หากล่าช้าอาจจะเสียหายแก่ราชการ ประกอบกับจากการตรวจสอบรายละเอียดและเงื่อนไขที่ระบุไว้ ในสัญญาปรากฏว่า โครงการดังกล่าว มีลักษณะเนื้องานเป็นการซื้อครุภัณฑ์อุปกรณ์โสตทัศนูปกรณ์ ได้แก่ ไมโครโฟน กล้องถ่ายทอดสัญญาณ จอแสดงผล อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เครื่องขยายเสียง ลําโพง เครื่องเล่น และบันทึกภาพ อุปกรณ์ชุดควบคุมระบบ อุปกรณ์ประชุมทางไกลผ่านจอภาพ ชุดคอมพิวเตอร์และซอฟท์แวร์ กล้องโทรทัศน์วงจรปิด รวมเป็นเงินจํานวน จํานวน 22,757,500 บาท และมีเนื้องานในหมวดจ้างก่อสร้าง เพียงจํานวน 1,300,000 บาท และเมื่อพิจารณาประกอบความเห็นของกรมบัญชีกลาง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มี หน้าที่ควบคุมกํากับดูแลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างของหน่ายงานของรัฐ โดยตรง ได้ความว่าหากงานซื้อมากกว่างานจ้าง งานดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นงานซื้อตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าการพัสดุ พ.ศ. 2535
ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่า โครงการนี้จึงเป็นการงานซื้อตามความหมายของระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (งานซื้อมากกว่างานจ้าง) นอกจากนี้ เมื่อโครงการดังกล่าวเป็นงานซื้อ ไม่ใช่งานจ้าง ดังที่วินิจฉัยไว้แล้วข้างต้น กรณีการ ดําเนินกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง จึงไม่อยู่ในข่ายที่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการกําหนดราคากลางตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2550 เพื่อกําหนดราคากลางงานก่อสร้าง เนื่องจากการแต่งตั้งคณะกรรมการกําหนด ราคากลางตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว บังคับใช้เฉพาะงานจ้างที่มีลักษณะเป็นงานก่อสร้างเท่านั้น
แต่อย่างไรก็ตาม การสืบหาราคากลาง เพื่อกําหนดราคาของพัสดุที่ดําเนินการจัดซื้อโครงการดังกล่าว ก็จะต้องปฏิบัติตามระเบียบ รัฐสภาว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2555 ข้อ 13 ประกอบ ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 27 ที่กําหนดว่า "ก่อนดําเนินการซื้อหรือจ้างทุกวิธี นอกจากการซื้อที่ดินและสิ่งก่อสร้าง ตามข้อ 28 ให้เจ้าหน้าที่พัสดุจัดทํารายงานขอซื้อขอจ้าง เสนอหัวหน้าส่วนราชการตามรายการดังต่อไปนี้ (3) ราคามาตรฐานหรือราคากลางของทางราชการ หรือราคาที่เคยซื้อหรือจ้างครั้งหลังสุดภายในระยะเวลา 2 ปีงบประมาณ" ดังนั้น ในการจัดทํารายงานขอซื้อในโครงการนี้จึงต้องมีรายการราคามาตรฐาน กรณีที่เป็นครุภัณฑ์ ตามบัญชีราคามาตรฐานครุภัณฑ์ที่สํานักงบประมาณกําหนด โดยหากเป็นครุภัณฑ์ที่ไม่อยู่ในบัญชีราคามาตรฐาน ครุภัณฑ์ดังกล่าว สํานักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรอาจใช้ราคาที่เคยซื้อหรือเคยจ้างครั้งหลังสุดภายในระยะเวลา 2 ปีงบประมาณ หากไม่มีราคาทั้งสองกรณีดังกล่าว ให้สํานักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ใช้ราคาที่ได้จากการ สืบจากท้องตลาด โดยตามระเบียบรัฐสภาว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2555 ประกอบ ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มิได้กําหนดวิธีหรือหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการสืบราคาจากท้องตลาด ไว้แต่อย่างใด
โดยจากทางไต่สวนเพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าวปรากฏว่ารายการครุภัณฑ์ที่ได้ดําเนินจัดซื้อตามที่ระบุไว้ในสัญญาในโครงการนี้ไม่มีราคาตามบัญชีราคามาตรฐานครุภัณฑ์ที่สํานักงบประมาณกําหนด เพื่อให้สํานักงาน เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรนํามาใช้อ้างอิงเป็นราคากลางได้ ประกอบกับสํานักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ก็ไม่ได้มีรายการจัดซื้อครุภัณฑ์ดังกล่าวย้อนหลังไป 2 ปี แต่จากการไต่สวนเพิ่มเติมปรากฏว่า ก่อนที่จะมีการ ดําเนินการจัดซื้อในโครงการดังกล่าวตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของระเบียบรัฐสภา ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2555 กลุ่มงานพัสดุ สํานักการคลังและงบประมาณ ได้เคยมีการสืบหาราคากลางจากท้องตลาดไว้แล้ว โดยพบว่า มีการดําเนินการสืบจากบริษัท ไดนามิค ซอร์ซ จํากัด ทั้งนี้ ตามใบเสนอราคาที่ DMS 56-099 ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2556 เสนอราคาไว้เป็นเงินจํานวน 24,888,735.00 บาท (ราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่ม7%) โดยเมื่อพิจารณาราคาที่เสนอดังกล่าวเป็นยอดที่สูงกว่าบริษัทอินสแตนท์ เซอร์วิสเซล จํากัด ที่ยื่นเสนอราคาต่ำสุด ที่ราคา 24,489,518.00 บาท ประกอบทางไต่สวนเพิ่มเติมจากผู้ประกอบการที่จําหน่ายรายการครุภัณฑ์ดังกล่าว ปรากฏว่า ราคาครุภัณฑ์ที่ปรากฏในรายการจัดซื้อของโครงการนี้ มีราคาใกล้เคียงกับราคาที่มีการจําหน่าย ณ ปัจจุบัน กรณีจึงรับฟังได้ว่า ราคาที่จัดซื้อโครงการนี้ เป็นราคาไม่สูงกว่าความเป็นจริงตามท้องตลาดที่มีการจัดซื้อ ในขณะนั้น
ฉะนั้น คณะไต่สวนเบื้องต้นจึงเห็นว่าจากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนและไต่สวน เพิ่มเติม จึงไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่ชัดเจนเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่า พฤติการณ์และการกระทําของผู้ถูกกล่าวหา ที่ 1 ถึง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 9 ดังกล่าว มีมูลเป็นการกระทําความผิดตามข้อกล่าวหา จึงเห็นควรให้ข้อกล่าวหาตกไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 58
มติคณะกรรมการป้องกันเเละปราบปรามการทุจริตเเห่งชาติ ครั้งที่ 4.1.1 วันที่ 11 มิถุนายน 2567 ที่ประชุมพิจารณาเเล้วมีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะเเนนเสียง 6 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะไต่สวนเบื้องต้น ว่า จากการไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฎพยานหลักฐานที่ชัดเจนเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่า พฤติการณ์เเละการกระทำของนายวัชระชัยย์ นาควัชระชัยท์ หรือสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย ผู้ถูกกล่าวหา ที่ 1 นายสมพงษ์ ปรีชาธนพจน์ ผู้ถูกกล่าวหา ที่ 2 นายทวีเกียรติ เชาวลิตถวิล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 นางสาวสุนทร รักเมือง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 นายพิสิฏฐ์ เกตุประเสริฐวงค์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ร้อยตำรวจเอก โยธิน จันทร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 นายยอดยิ่ง บัณฑิตทัศนานนท์ ผู้ถูกกล่าวหา ที่ 7 นายชรัณ ภู่พานิชพงศ์ หรือนายสมคิด ศึกขันเงิน ผูู้ถูกกล่าวหาที่ 8 เเละนายอนันทวัชจันต๊ะรังษี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 9 ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา
ข้อกล่าวหาไม่มีมล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
สำหรับคดีความเกี่ยวกับ นายสุวิจักขณ์ หรือนายวัชระชัยย์ นาควัชระชัย หรือนาควัชระชัยท์ อดีตเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร นั้น สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้ว ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดคดีความทุจริตไปแล้วอย่างน้อย 2 คดี คือ
คดีที่ 1. กรณีจัดจ้างโครงการปรับปรุงระบบนาฬิกา (Clock system) สำหรับติดตั้งบริเวณภายในและโดยรอบอาคารรัฐสภา โดยมิชอบ
คดีที่ 2. ทุจริตโครงการเสริมสร้างและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ ในทางการเมืองการปกครอง (นายสุวิจักขณ์ ถูกชี้มูลร่วมกับ นายเจริญ จรรย์โกมล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง
ปัจจุบัน ศาลยังมิได้มีคำพิพากษาชี้ขาด นายสุวิจักขณ์ และผู้ถูกกล่าวหารายอื่น ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
ส่วนคดีที่ 3 กรณีกำหนดราคามูลดินที่ได้จากการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ต่ำกว่าความเป็นจริง และดำเนินการขายมูลดินโดยวิธีพิเศษ โดยมิชอบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติเห็นชอบตามเสียงส่วนใหญ่ว่า จากการไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่า นายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป