ทางคู่เฟส 2 อนุมัติครบ! บอร์ดรถไฟอนุมัติ 3 เส้นทางสุดท้าย ‘ชุมพร-สุราษฎร์ / สุราษฎร์-สงขลา / เด่นชัย - เชียงใหม่’ วงเงิน 1.64 แสนล้านบ. คาดชงครม.ช่วงก.ค.-ต.ค. 67 ปักหมุด มิ.ย. 68 เริ่มสร้าง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 20 มิ.ย. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ที่มีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นประธาน วานนี้ (19 มิ.ย. 67) ที่ประชุมมีมติเห็นชอบหลักการ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ จำนวน 3 เส้นทาง ระยะทาง 678 กิโลเมตร (กม.) วงเงินรวมประมาณ 1.649 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 1. เส้นทางชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กม. วงเงิน 30,422 ล้านบาท 2. เส้นทางสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 กม. วงเงิน 66,270 ล้านบาท และ 3. เส้นทางเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กม. วงเงิน 68,222 ล้านบาท โดยหลังจากนี้จะเสนอกระทรวงคมนาคมก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ คาดว่าประมาณเดือน ก.ค.-ต.ค. 2567
ทั้งนี้ วงเงินโครงการทั้ง 3 โครงการมีการปรับเพิ่มจากเดิมประมาณ 26,407.61 ล้านบาท จากวงเงินรวมเดิม 1.385 แสนล้านบาท โดยเส้นทางชุมพร-สุราษฎร์ธานี ปรับเพิ่ม 6,128.17 ล้านบาท (วงเงินเดิม 24,294.36 ล้านบาท) เส้นทางสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา ปรับเพิ่ม 8,895.08 ล้านบาท (วงเงินเดิม 57,375.463 ล้านบาท) เส้นทางเด่นชัย-เชียงใหม่ ปรับเพิ่ม 11,384.36 ล้านบาท (วงเงินเดิม 56,837.78 ล้านบาท) เนื่องจากการคำนวณค่าใช้จ่ายที่เป็นปัจจุบันจากปัจจัยราคาค่าเวนคืนที่ดินเพิ่มขึ้น ค่าน้ำมัน และค่าแฟกเตอร์ F เช่น ค่าประกันภัย ค่าดอกเบี้ย ค่าภาษี
สำหรับแผนงานโครงการ ครม.อนุมัติเดือนก.ค. 2567-ต.ค. 2567, กฤษฎีกาออกพ.ร.ฎ.เวนคืน พ.ย. 2567-ส.ค. 2568, สำรวจและประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์ ก.ย. 2568-พ.ค. 2569, จัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน มิ.ย. 2569-พ.ค. 2570, จัดทำ TOR ราคากลางและประกวดราคา พ.ย. 2567-พ.ค. 2568 เริ่มก่อสร้าง มิ.ย. 2568
ดำเนินการประกวดราคาจ้างก่อสร้างด้วยวิธี e-bidding โดยสำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณรายปี หรือกระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้และค้ำประกันเงินกู้ภายในประเทศให้ตามความเหมาะสม
โดยเส้นทางช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา และช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ใช้เวลาก่อสร้าง 72 เดือน หรือประมาณ 6 ปี เส้นทางชุมพร-สุราษฎร์ธานี ใช้เวลาก่อสร้าง 60 เดือน หรือประมาณ 5 ปี
อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างดังกล่าว รัฐบาลจะรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการทั้งหมด โดยให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณรายปี และหารือกระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้ และค้ำประกันเงินกู้ภายในประเทศให้ตามความเหมาะสม ขณะเดียวกัน รฟท.จะเร่งดำเนินการขออนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน โดยจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ รถไฟทางคู่ระยะที่ 2 มีจำนวน 7 เส้นทาง ซึ่งก่อนหน้านี้บอร์ด รฟท.อนุมัติไปแล้ว 4 เส้นทาง ดังนั้นจึงเป็นการอนุมัติ 3 เส้นทางสุดท้ายตามแผนงาน