‘คงกระพัน’ วาง 5 กลยุทธ์ ผลักดัน ‘ปตท.’ เติบโตยั่งยืน-ลดปล่อย ‘คาร์บอน’ เดินหน้ายกขีดความสามารถการแข่งขัน 6 ธุรกิจเดิม รุก ‘ธุรกิจใหม่’ สร้าง ‘New s-Curve’
................................................
เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แถลงวิสัยทัศน์ ‘ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน’ หรือ ‘TOGETHER FOR SUSTAINABLE THAILAND, SUSTAINABLE WORLD’ โดยระบุว่า ภายใต้วิสัยทัศน์ดังกล่าว ปตท. จะมุ่งเน้นการบริหารจัดการใน 4 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.การบริหารธุรกิจแบบยั่งยืนในทุกมิติ
2.การลงทุนต้องเกิดประโยชน์ทั้งกับองค์กรและประเทศ 3.การสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วน และ 4.การสร้างความร่วมมือ โดยเฉพาะการสร้าง Synergy และใช้พลังในกลุ่ม ปตท. สร้าง Leverage ทางธุรกิจ
“เรื่องที่สำคัญมากๆ คือ ปตท. มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Hydrocarbon ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และปิโตรเคมีต่างๆ ซึ่งเราใช้เป็นเชื้อเพลิงมาตลอดหลายสิบปี นี่เป็นธุรกิจหลักอันหนึ่ง และก็มีธุรกิจที่เป็น Clean Energy ซึ่งกำลังสร้างความเจริญเติบโตอยู่ และค่อยๆสร้างขึ้นมา เพื่อมาทดแทนและมาเสริม แต่เราก็ต้องอยู่ในธุรกิจนี้อีกพอสมควร เพราะเป็นธุรกิจที่สร้างความมั่นคงพลังงานให้กับเรา ดังนั้น การเติบโตจึงต้องควบคู่กับการลดก๊าซเรือนกระจก
อย่างบริษัทใหญ่ๆในโลก เขาก็เลือกทิศทางนี้ หลายๆคนก็ยังทำสิ่งที่เขาถนัด ทำธุรกิจ Hydrocarbon แต่เขาก็ต้องหาวิธีลด Co2 ลดก๊าซเรือนกระจก เราจึงต้องซีเรียสกับเรื่อง Net Zero Emissions การทำธุรกิจของเราจะต้องสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ผู้ถือหุ้น และมีกำไรต้องเหมาะสม ยั่งยืน เราจะไม่มองอะไรที่เป็นกำไรระยะสั้น รวมทั้งมีประโยชน์ต่อประเทศด้วย เช่น สร้างงาน สร้างจีดีพี สร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ ช่วยเอสเอ็มอีด้วย” นายคงกระพัน กล่าว
@ยกขีดแข่งขัน 6 ธุรกิจเดิม-มุ่ง‘Synergy-ลดก๊าซเรือนกระจก’
สำหรับทิศทางและแผนกลยุทธ์ของกลุ่ม ปตท. (PTT Group Direction and Strategy) นั้น จะเน้นการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน สร้างการเติบโตทางธุรกิจ ควบคู่กับการบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างสมดุล เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี พ.ศ.2593 ประกอบด้วย 5 แนวทาง ได้แก่
แนวทางที่ 1 ยกระดับความสามารถทางการแข่งขันให้กับธุรกิจที่มีอยู่เดิม (Competitiveness Enhancement : Existing Business) ทำธุรกิจให้แข็งแรง ปรับ Portfolio โดยหาพันธมิตรทางธุรกิจที่มีศักยภาพ พร้อมต่อยอดสร้างการเติบโตในเรื่องที่ถนัดแบ่งเป็น 2 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่
กลุ่มธุรกิจ Hydrocarbon and Power ประกอบด้วย
-ธุรกิจสำรวจและผลิต : สร้างความต่อเนื่อง มั่นคงทางวัตถุดิบ จัดหา source ใหม่ที่มีต้นทุนต่ำ สร้างผลตอบแทนที่ดี และต้องสร้างการเติบโต Hydrocarbon ควบคู่กับการทำ Decarbonization
-ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ : สร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจเดิม ซึ่งต้องมีความ Competitive และ Lean แสวงหา Alternative Source ทั้ง Pipe gas และ LNG และมีต้นทุนที่แข่งขันได้ และต้อง Alignment การทำงานร่วมกับภาครัฐ
-ธุรกิจไฟฟ้า : ภารกิจหลัก คือ การสร้างความมั่นคง และรักษา Reliability ให้กับกลุ่ม ปตท. พร้อมกับการจัดหาพลังงานสะอาดเพื่อช่วย Decarbonization & Net Zero ของกลุ่ม ปตท. และแสวงหาโอกาสสร้างการเติบโตทั้งในและต่างประเทศ
-ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น : สร้างความแข็งแรง เติบโตร่วมกับ Strategic Partner รวมทั้ง Competitivenessด้าน Cost & Feedstock Flexibility ต้องมีการ Synergy Enhancement and Optimization ทั้งกลุ่ม ปตท. รวมถึงการมุ่งเน้นสร้างการเติบโตใน High Value & Low Carbon Business
-ธุรกิจค้าปลีก : มุ่งเน้นการลงทุนที่มี Substance มีความสำคัญต่อผลประกอบการและเป็นประโยชน์ต่อสังคมแต่ Asset light
-ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ : ต้องสร้าง synergy ภายในกลุ่ม ปตท. ยกระดับขยายผลทั้งในและต่างประเทศ
“อย่างการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เราก็เน้นต่อเนื่อง วันนี้ ปตท.สผ. อยู่ในตำแหน่งที่ดี มีต้นทุนการผลิตต่อหน่วยค่อนข้างต่ำ แข็งแรง สิ่งที่ต้องไปต่อ คือ สร้างความต่อเนื่อง มีความมั่นคง และมีแหล่งใหม่ๆ Hydrocarbon เรายังโตได้ควบคู่กับการทำ Decarbonization (ลดคาร์บอน) ส่วนธุรกิจก๊าซ เราจะทำตัวให้ Lean มากขึ้น ลดต้นทุน เอาเทคโนโลยีดิจิทัล AI มาใช้ในการผลิตก๊าซโรงแยกฯ หรือแม้แต่การสำรวจ เพื่อลดต้นทุน และทำงานกับภาครัฐเพื่อประโยชน์ประเทศ
ธุรกิจพลังงาน เรามี GPSC (บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่) ซึ่ง GPSC นั้น มี mandate ที่สำคัญ คือ การผลิตไฟฟ้าให้กลุ่ม ปตท. การสร้าง Reliability (ความเชื่อถือ) ให้กับกลุ่มจึงต้องมาก่อน และการที่ลูกๆของ ปตท. คือ GC ไทยออยล์ และ IRPC จะลดคาร์บอนได้นั้น จะไม่มีทางทำได้ดี หาก GPSC ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าที่เป็น Low carbon ได้ เราจึงจะทำให้ GPSC ผลิตไฟฟ้ามาใช้ในกลุ่มเป็นหลัก ส่วนจะขายข้างนอกด้วย ก็ไม่มีประเด็น
โรงไฟฟ้า GPSC จะต้องค่อยๆทยอยลด (คาร์บอน) อยู่ๆจะไปทำ renewable energy หรือ Clean Energy ทั้งหมด คงไม่ได้ เพราะมีข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ และต้นทุนหลายๆยังแพงอยู่ แต่ต้องค่อยๆไป และต่อไป ลูกๆ ที่เป็นผู้ผลิตปิโตรเคมี น้ำมัน และอะไรต่างๆ จะใช้พลังงานที่ GPSC ทำ ซึ่งจะเป็นโรงไฟฟ้าที่สะอาดขึ้นเรื่อยๆ เป็นการสร้าง Synergy ในกลุ่ม ไม่ต้องลงทุนซ้ำซ้อน
กลุ่มโรงกลั่นและปิโตรเคมี โรงกลั่น ก็ยังพอใช้ได้ แต่ปิโตรเคมีเป็นขาลง เพราะล้น จีนก็ผลิตเยอะ ซึ่งก็เป็นในช่วง 2-3 ปีนี้ ฉะนั้น เราต้องสร้างความแข็งแรงจากข้างใน ลดต้นทุน นำดิจิทัลมาใช้ ทำให้ประสิทธิภาพดีขึ้น ลดการใช้พลังงาน รวมถึงการมีพันธมิตรที่แข็งแรง มีวัตถุดิบและตลาดที่ดี ในขณะที่การ synergy ภายในกลุ่ม ปตท. จะเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งนี้ ปตท. มีโรงกลั่นฯหลายโรง มีโรงปิโตรเคมีหลายบริษัท หลายโรง และเรื่อง synergy นี้ เราก็ทำมาตลอด
ธุรกิจค้าปลีก OR (บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก) ก็เป็นตัวหลัก OR มีความใกล้ชิดกับผู้บริโภค ทำอย่างไร ที่เราจะสร้างกลยุทธ์ให้ OR ใช้ประโยชน์จาก ecosystem ได้ OR เข้าใจตลาด มีฐานลูกค้ามากมาย เราควรจะทบทวน ซึ่ง OR ก็มีการทบทวนและทำมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ต้องไปทำอะไรที่มีเนื้อมีหนัง ลงทุนเยอะๆมันก็เหนื่อย ต้องลงทุนที่มี impact เช่น ถ้า OR ลงทุน 10 โปรเจกต์ได้กำไรเท่านี้ ก็ต้องไปดูว่า มีอะไรที่มีเนื้อมีหนัง และเป็นประโยชน์กับสังคม
แล้ว OR ก็ต้อง Asset light เพราะแวลูของ OR คือ soft size และการกระจาย แล้วก็ต้องไปลงทุนที่มี impact ด้วย จะได้ไม่ต้องไปลงทุนอะไรมากมาย ในขณะที่ธุรกิจ trading (การค้าระหว่างประเทศ) นั้น เป็นธุรกิจที่ทำให้เราเข้าใจโลก สร้างโอกาส ลดความเสี่ยง” นายคงกระพัน กล่าว
@เดินหน้าธุรกิจ‘Non-Hydrocarbon’สร้าง‘New s-Curve’
กลุ่มธุรกิจ Non-Hydrocarbon Business ที่เป็น New s-Curve หรือธุรกิจใหม่ มีหลักในการดำเนินธุรกิจ ดังนี้
-กลยุทธ์ที่ทำเรื่อง EV / Life Science & Healthcare / Digital มีความสอดคล้องกับ Global Megatrends แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว องค์กรจึงต้องปรับตัวเร็ว และต้อง Revisit
-Revisit value chain ว่า area ใด น่าสนใจ มีอนาคต เป็นประโยชน์ต่อ ปตท. และประเทศ หรือ area ใดที่ ปตท. มีจุดแข็งสามารถ Synergy ในกลุ่ม ปตท. เพื่อสร้างความแตกต่าง ประกอบด้วย (1) ธุรกิจ EV และ Logistics ต้องเข้าใจ value chain เลือกเล่นใน space ที่เหมาะสม (2) ธุรกิจ Life Science ร่วมมือกับพันธมิตรสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ และ (3) ธุรกิจ Industrial AI ต้องยกระดับ ขยายผลทั้งกลุ่ม ปตท. เพื่อช่วยให้ธุรกิจเดิมเข้มแข็ง ต่อยอดเป็นธุรกิจใหม่
“ธุรกิจใหม่ที่เป็น New s-Curve เราก็ทำ อย่างธุรกิจที่เป็น Megatrends ก็ถูกต้องอยู่แล้ว แต่อย่าลืมว่า โลกเปลี่ยนเร็ว อะไรที่เรามองว่าเป็นของใหม่ แต่ซักพัก ก็ไม่ใหม่แล้ว เพราะผู้เล่นในโลกมีเยอะแยะ มีสปีด เราก็ต้องมาทบทวน ต้องดูเป็นระบบ ดูทั้ง value chain เช่น EV เราต้องดูตั้งแต่เหมืองที่ผลิตสารเพื่อเอามาทำแบตเตอรี่ ต้องดูรถยนต์เช่าไปจนตลอดสาย เพื่อนำมาวิเคราะห์ value chain ทั้งหมดว่า อะไรมันดี มีกำไร เพราะ 2-3 ปีที่แล้วอาจดี แต่ตอนนี้มันเปลี่ยนแล้ว
ขอสรุปว่า ธุรกิจที่ไม่ใช่ไฮโดรคาร์บอน (Non-Hydrocarbon Business) ทิศทางก็ถูกต้องแล้ว เราก็ยังไปทางนี้ แต่เราต้องวิเคราะห์ว่าใน value chain ทั้งหมด ตรงไหนน่าเล่น เป็นประโยชน์ต่อประเทศไหม และเรามีความแข็งแรงที่จะไปเล่นมากน้อยแค่ไหน อันนี้ก็จะทำให้เราปรับพอร์ตโฟลิโอของเราได้ อะไรที่ดี เราก็ลุยต่อและต้องเร็วด้วย แต่อันไหนที่ไม่เหมาะ เราก็หาวิธี เช่น หาพันธมิตรหรืออาจจะออกข้างนอก
เช่นกันในเรื่อง Logistics เราจะดูว่าตรงไหนน่าเล่น และเราแข็งแรงไหม มี Synergy ในกลุ่มไหม เพราะกลุ่ม ปตท. เอง ก็เป็นผู้ใช้ Logistics เยอะ เราจะไปอยู่ตรงไหนที่ 1.เป็นประโยชน์กับเรา 2.ช่วยประเทศ และ 3.เป็นสิ่งที่ทำให้เรามี Growth ด้วย ส่วนเรื่องดิจิทัล AI ซึ่งมีการนำไปใช้ในการปรับปรุงธุรกิจมากมาย กลุ่ม ปตท. ก็ต้องร่วมกันทำ ต่อยอดตรงนี้ สร้างความแข็งแรง เอามาใช้ในกลุ่มให้มากขึ้น” นายคงกระพัน กล่าว
@เดินหน้าเทคโนโลยี‘ดักจับคาร์บอน’-รุกพลังงาน‘ไฮโดรเจน’
แนวทางที่ 2 สร้างการเติบโต หาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ (Growth : New Business & Opportunity) ต่อยอดสร้างการเติบโตในธุรกิจ โดยเฉพาะด้านความยั่งยืน คือ ธุรกิจไฮโดรเจนและคาร์บอน (Hydrogen and Carbon Business Integration) สร้างการเติบโตต่อยอดจากเป้าหมาย Decarbonization มุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แบบบูรณาการทั้งกลุ่ม ปตท. โดยกำหนดบทบาทหน้าที่ชัดเจนและมีเป้าหมาย ร่วมกันใช้จุดแข็งของทุกบริษัทในกลุ่ม
โดยมี ปตท. เป็นผู้กำกับดูแลในภาพรวม และร่วมผลักดันและขับเคลื่อนให้สำเร็จเป็นโอกาส Transform ธุรกิจเดิมของกลุ่ม ปตท. ให้มี Advantage สามารถพัฒนาเป็นธุรกิจใหม่
แนวทางที่ 3 สร้างความชัดเจนในแนวทางความยั่งยืน (Sustainability) ทุกมิติ ด้วยการบูรณาการเข้าไปในธุรกิจ ผสานการบริหารจัดการ Portfolio และ Net Zero เข้าด้วยกันทั้งกลุ่ม ปตท. มุ่งสู่การเป็น Net Zero Company ควบคู่กับการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว และสร้างคุณค่าสู่สังคม ผ่านแนวทาง ปรับ Portfolio การลงทุนและปรับโครงสร้างธุรกิจให้มีความยืดหยุ่น สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ลดการใช้พลังงาน เพิ่มการใช้พลังงานสะอาด และชดเชยคาร์บอนด้วยเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) และโครงการปลูกป่า
“มี 2 เรื่องที่คู่กัน คือ เราจะลดคาร์บอนได้ ก็ต้องเอาคาร์บอนมาเก็บ เพราะเราเป็นอุตสาหกรรม จะลดคาร์บอนอย่างไร ก็ยังมีการปล่อยคาร์บอนอยู่บ้าง จะลดหมดเลยก็ได้วันนี้ แต่คงไม่ได้ เนื่องจากเทคโนโลยีแพงมาก เราต้องทำ 2 อย่าง คือ เอาคาร์บอน์มาเก็บ ซึ่งเก็บได้ 2 แบบ คือ ปลูกป่า ซึ่งทำได้ประมาณหนึ่ง และทำ Carbon Capture คือ เอาคาร์บอนมาเก็บ แต่คู่แข่ง คือ เชื้อเพลิงที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้ มันเป็นไฮโครคาร์บอน ไม่ว่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติที่แยกมาแล้ว
เราจึงต้องค่อยๆเอาไฮโดรเจน (H2) มาใช้ เพราะไฮโดรเจน ไม่มีคาร์บอน แต่เอามาใช้ทั้งหมดเลย คงไม่ได้ เนื่องจากต้นทุนยังสูงอยู่ ก็ต้องค่อยๆทยอย โดย ปตท. ก็เข้ามาต้องมีบทบาท คือ เก็บคาร์บอนจากกระบวนการผลิตต่างๆ แล้วทำให้เป็นของเหลว เก็บไว้ในถัง และปั๊มลงไปใต้ทะเลหรือบริเวณต่างๆที่เคยมีก๊าซธรรมชาติ แต่เรื่องนี้ต้องเป็นข้อบังคับและมีการให้แรงจูงใจ
ทั้งนี้ เราเองได้แบ่งบทบาท คือ ลูกๆที่ปล่อยคาร์บอน ก็มีหน้าที่เก็บ ทุกวันนี้มีเทคโนโลยีอยู่แล้ว และตอนที่ทำ เราไม่ได้ทำ Scale เฉพาะในกลุ่ม ต้องดูความคุ้มทุน และทำเผื่อให้กับผู้ผลิตอื่นในประเทศด้วย ส่วนเรื่องโฮโดรเจนก็คล้ายๆกัน ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ เราน้ำมาแยกเป็นโฮโดรเจนด้วยไฟฟ้าที่ไม่ renewable ก็ไม่มีประโยชน์ ซึ่งตอนนี้ประเทศในตะวันออกลาง อเมริกา ออสเตรเลีย ที่สามารถทำไฮโดรเจนที่เริ่มมีความคุ้มค่า” นายคงกระพัน กล่าว
นายคงกระพัน กล่าวด้วยว่า “เราจะทยอยนำไฮโดรเจนมาใช้ โดยเป็นไฮโดรเจนที่ใช้ในโรงงาน โดยลดการใช้ก๊าซธรรมชาติในโรงงานแล้วนำไฮโดรเจนมาใช้มากขึ้น ส่วนไฮโดรเจนในรถยนต์เป็นผลพลอยได้” พร้อมทั้งระบุ “ตอนนี้ ปตท. ได้รับนโยบายจากกระทรวงพลังงานให้นำไฮโดรเจนมาผสมในเชื้อเพลิงปัจจุบัน ซึ่งเราต้องมาดูความคุ้มทุนว่าไฮโดรเจน และต้องช่วยผลักดัน”
นายคงกระพัน ยังระบุว่า ปัจจุบัน ปตท.มีการลงทุนในธุรกิจผลิตไฮโดรเจนที่ออสเตรเลีย โดยนำแอมโมเนียมาแยกเป็นโฮโดรเจน
แนวทางที่ 4 สร้างปัจจัยที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม (Enablers for Transformation) ได้แก่ การสร้างประสิทธิภาพการดำเนินงานที่เป็นเลิศ (Operational Excellence) เพื่อพัฒนาขีดความสามารถ เนื่องจากมีปัจจัยภายนอกต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อธุรกิจ จึงควรมุ่งเน้นทำสิ่งที่ควบคุมได้อย่างเข้มข้น ต้องสร้างความแข็งแกร่งจากภายใน (Build core resilience) ลดต้นทุน
โดยการยกระดับ Operation & Efficiency ด้วยการนำเทคโนโลยี ดิจิทัล และ AI มาประยุกต์ใช้ โดยมีแผนงานและเป้าหมายที่ชัดเจน และขยายผลทั่วทั้งกลุ่ม ปตท. อีกทั้งต้องทำ Lean Organization ร่วมกับ Transformation ซึ่งต้องเริ่มในวันที่องค์กรยังแข็งแรง จัดลำดับความสำคัญ เริ่มทำโครงการที่เห็นผลลัพธ์เร็ว เพื่อให้เกิดการยอมรับในทุกระดับ และต้องสร้างความเข้มแข็งด้าน Culture สร้างความตระหนัก ปลูกฝังให้พนักงานกล้าที่จะปรับและพร้อมที่จะเปลี่ยนเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
แนวทางที่ 5 รักษาพื้นฐานสำคัญ มุ่งเน้นธรรมาภิบาลและการกำกับกิจการที่ดี บริหารองค์กรด้วยความโปร่งใส มีธรรมาภิบาล ยึดถือ Way of Conduct อย่างเคร่งครัด รวมถึงการบริหารบุคลากร ด้วยความยุติธรรม โปร่งใส สร้าง Ecosystem ส่งเสริมคนดี และคนเก่งให้เติบโตอย่างเหมาะสม รวมถึงการมีความเป็นเลิศทางด้านการเงิน (Financial Excellence) ซึ่งถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการดำเนินธุรกิจ
นายคงกระพัน กล่าวว่า ขณะนี้ ปตท.อยู่ระหว่างทบทวนแผนการลงทุนของ ปตท. ให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ใหม่ของบริษัทฯ และคาดว่าจะประกาศแผนใหม่ได้ในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้
อ่านประกอบ :
ให้มีผล 13 พ.ค.นี้! ‘บอร์ดฯ’เคาะตั้ง‘คงกระพัน อินทรแจ้ง’นั่งเก้าอี้‘ซีอีโอ ปตท.’คนใหม่
เศรษฐา'หนุน'ปตท.'ลงทุน'ใน-ต่างประเทศ' เดินหน้า'พลังงานบริสุทธิ์'-ร่วมปั้นเจ้าสัวน้อย
ปตท.ตั้ง‘ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ’นั่ง‘ปธ.บอร์ด’คนใหม่-‘ทศพร ศิริสัมพันธ์’ยังเป็นกก.อิสระ
เขย่าเก้าอี้บอร์ด 2 รสก.ใหญ่! กดดัน‘ทศพร’ลาออกประธาน‘ปตท.’-‘ทอท.’แจ้ง 5 กรรมการไขก๊อก