‘ครม.เศรษฐกิจ’ เคาะ 3 มาตรการ ขับเคลื่อนจีดีพีปี 67 โตอย่างน้อย 3% ตั้งเป้าเพิ่มนักท่องเที่ยวอีก 1 ล้านคน-เร่งรัดเบิกงบลงทุนไม่น้อยกว่า 70% จ่อหารือ ‘ธปท.’ แก้กติกาลดเวลาเก็บข้อมูล ‘เครดิตบูโร’ ช่วยลูกหนี้รหัส 21 กว่า 4 ล้านราย เข้าถึงสินเชื่อในปี 68 พร้อมชงตั้ง ‘คณะกรรมการระดับชาติ’ ดึงต่างชาติลงทุนอุตสาหกรรม ‘เซมิคอนดักเตอร์’
.......................................
เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ในปี 2567 รัฐบาลตั้งเป้าหมายจะผลักดันเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวอย่างน้อย 3% จากปัจจุบันที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดว่าเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัว 2.4% และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 2.5%
ทั้งนี้ ในการผลักดันให้เศรษฐกิจในปี 2567 ขยายตัวได้อย่างน้อย 3% จะมาจากการขับเคลื่อนใน 3 มาตรการ ได้แก่ 1.การเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศอีก 1 ล้านคนในปีนี้ หรือเพิ่มจาก 35.7 ล้านคน เป็น 36.7 ล้านคน ซึ่งจะเพิ่มจีดีพีได้ 0.12% 2.การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนปีงบ 2567 เป็นไม่น้อยกว่า 70% ของงบลงทุน 8.5 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้จีดีพีขยายตัว 0.24% และ 3.การเร่งรัดการลงทุนของเอกชนที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
“เราคงนั่งเฉยๆไม่ได้ ต้องทำอะไรบางอย่างสำหรับปีนี้ก่อน แต่ถ้าในระยะยาว ผมเห็นว่า ทางที่เราจะรอดได้ จีดีพีต้องขึ้นไปถึงระดับ 5% แต่เอาปีนี้ก่อน ส่วนตัวเลขอีก 3 ปีข้างหน้า เรากำลังดูว่าจะใช้มาตรการอะไร ในปีนี้ เราตั้งมาตรการเบื้องต้นไว้ก่อน แต่ยังไม่ได้ยอมเท่านั้น จาก (จีดีพี) 2.4% เราอยากจะเห็นว่า สิ้นปีนี้อย่างน้อยต้องเป็น 3% ก่อน ไล่จาก 2.4% เป็น 3% ด้วยมาตรการอะไรบ้าง วันนี้เราดู และเห็นว่ามาตรการที่มีความเป็นไปได้มีอยู่ 2-3 ประเด็น
ประเด็นที่ 1 เราคิดว่าเศรษฐกิจวันนี้ ขับเคลื่อนมาด้วยดีด้วยภาคท่องเที่ยว และภาคท่องเที่ยวก็เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดัน ซึ่งตัวเลข 2.4% นี้ ได้จากการตั้งค่าเป้าหมายไว้ที่ 35.7 ล้านคน เราก็มานั่งดูว่า ถ้านักท่องเที่ยวสามารถขึ้นมาได้อีก 1 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้ กลายเป็น 36.7 ล้านคน จะมีผลเท่าไหร่ ซึ่งทุกคนมีความเชื่อมั่นว่า น่าจะผลักดันขึ้นไปได้ อีกเรื่อง คือ ระยะเวลาของการอยู่ให้ยาวขึ้น ถ้าเป็นอย่างนั้น จะสามารถปรับขึ้นมาได้ 0.12% อันนี้เป็นเป้าเบื้องต้น
ประเด็นที่ 2 เรื่องการใช้งบประมาณ การเบิกจ่ายของภาครัฐ การลงทุนภาครัฐ เราเพิ่งได้อนุมัติงบประมาณ ซึ่งในส่วนงบประจำคงไม่มีปัญหาอะไร การใช้ยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ส่วนงบลงทุน ผมดูแล้วงบลงทุนปีงบ 2567 ก็ 8.5 แสนล้านบาท โดยปกติแล้วจะใช้อยู่ประมาณ 60% เราก็มาตั้งว่า ทำไมเราไม่พยายามขับเคลื่อนตรงนี้ให้เบิกจ่ายให้ได้ 70% แต่จริงๆ เป้าที่ตั้งไว้เราอยากเห็น 75% จากตัวเลขการเบิกจ่ายงบลงทุนวันนี้ 41% ถ้ารวมกับที่เซ็นสัญญาแล้วก็จะได้ 51%
โดยในวันพุธนี้ (12 มิ.ย.) จะมีการหารือกับหน่วยงานที่ใช้งบประมาณต่ำกว่าเป้าเยอะ เราจะมาดูว่าปัญหาคืออะไร เพื่อให้มีการขับเคลื่อนให้มีการใช้งบประมาณอย่างสมเหตุสมผล และถูกต้อง ถ้าผลัก (การเบิกจ่ายงบลงทุน) ไปได้ 70% เราจะเพิ่มจีดีพีได้ 0.24% รวม 2 มาตรการนี้ จะทำให้จีดีพีขยายตัว 3% แต่ไม่ใช่แค่ 2 มาตรการนี้ เรายังมีมาตรการที่ 3 คือ มาตรการการลงทุนของภาคเอกชน
จริงๆแล้วในส่วนของเฉพาะของบีโอไอ (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) นั้น วันนี้มีคนเซ็นเอาไว้แล้ว ตกลงแล้ว พร้อมที่จะเริ่มงาน จะปีนี้ ปีหน้า ปีมะรืน มีอยู่ทั้งหมด 8 แสนล้าน ถ้ามาลงในปีนี้ได้ 3-4 หมื่นล้าน ก็จะเพิ่มจีดีพีได้แล้ว ซึ่งตัวเลขนั้น ยังไม่นิ่ง แต่ผมกะว่าไม่เยอะนัก เราก็จะทำงานร่วมกับบีโอไอเพื่อสรุปว่า จะได้เร็วแค่ไหน เพื่อให้กลับมาลงทุนในเมืองไทยให้เร็วที่สุด ดังนั้น 3 ตัวนี้ เป้าเบื้องต้น คือ 3%” นายพิชัย กล่าว
@หารือ‘ธปท.’แก้กติกา‘เครดิตบูโร’ช่วยลูกหนี้รหัส 21
นายพิชัย กล่าวต่อว่า ครม.เศรษฐกิจยังหารือถึงแนวทางการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รหัส 21 ซึ่งเป็นลูกหนี้ NPLs ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้เร็วขึ้น โดยกระทรวงการคลังจะเข้าหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการลดระยะเวลาการเก็บประวัติข้อมูลเครดิตบูโรจากปัจจุบัน ‘5 บวก 3’ เป็น ‘3 บวก 3’ ซึ่งจะทำให้ลูกหนี้รหัส 21 บางส่วนเข้าถึงสินเชื่อได้ทันที และลูกหนี้รหัส 21 ทั้ง 4 ล้านราย จะเข้าถึงสินเชื่อได้ในปี 2568
“เรื่องเครดิตบูโร เราเดินตามต่างประเทศ คือ 5 บวก 3 คือ เก็บประวัติ NPLs ไว้ 5 ปี ปีที่ 6 เก็บไว้อีกปีหนึ่ง พอพ้นปีที่ 6 ก็จะหลุดไป อย่างลูกหนี้รหัส 21 ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ตั้งแต่ปี 2563 บางคนเริ่มฟื้นแล้ว แต่ถ้าเอา 5 บวก 3 บางคนกว่าจะหลุด (เครดิตบูโร) ก็ต้องปีหน้า แต่ถ้าเราเปลี่ยนกลุ่มนี้เป็น 3 บวก 3 ปี 2566 จะต้องหลุดบางส่วน ปี 2567 หลุดบางส่วน และปี 2568 หลุดหมดเลย แต่เรื่องต้องหารือกับ ธปท. ว่า กลุ่มนี้น่าจะใช้กติกา 3 บวก 3” นายพิชัย กล่าว
นายพิชัย กล่าวว่า ในส่วนการทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อนั้น ธนาคารออมสิน ซึ่งเป็นธนาคารที่มีวินัย มีความเข้มแข็งทางการเงิน และทำงานเพื่อสังคม ได้อาสาหาเงิน 1 แสนล้านบาท เพื่อนำมาปล่อยกู้ต่อให้กับธนาคารพาณิชย์ โดยคิดดอกเบี้ย 0.1% จากนั้นให้ธนาคารพาณิชย์นำเงินดังกล่าวไปปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการรายเล็ก ภายใต้กติกาที่กำหนดไว้
“เงิน 1 แสนล้านบาทตรงนี้ แบงก์พาณิชย์จะนำไปปล่อยสินเชื่อตามกติกาที่กำหนดไว้ เพื่อให้ลูกค้ารายใหม่เข้าถึงสินเชื่อ ซึ่งไม่ใช่รายกลาง แต่เราอยากเห็นเป็นรายเล็ก โดยดอกเบี้ยคร่าวๆจะอยู่ที่ 3.5% บวกลบ ส่วนในช่วงปีที่ 4-5 ดอกเบี้ยก็จะขึ้นเป็น 5-6% แต่ตรงนี้ยังไม่นิ่ง ทั้งนี้ ออมสินจะมีต้นทุนการกู้เงิน 1.7% เมื่อบวกกับค่าบริหารจัดการแล้ว จะอยู่ที่ 2% ซึ่งอาจมีผลต่อกำไรของออมสินประมาณ 1,000 ล้านบาท แต่อยู่ในวิสัยที่ออมสินจะทำได้” นายพิชัย กล่าว
นายพิชัย กล่าวด้วยว่า ในการประชุม ครม. วันพรุ่งนี้ (11 มิ.ย.) กระทรวงการคลังจะเสนอให้ ครม. พิจารณามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้ดีขึ้น โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (บสย.) จะเข้าไปค้ำประกันเงินกู้ให้กับ SMEs เป็นระยะเวลา 10 ปี ในวงเงินค้ำประกันฯรวม 5 หมื่นล้านบาท
@ตั้ง‘คณะกรรมการระดับชาติ’ดึงลงทุน‘เซมิคอนดักเตอร์’
นายพิชัย กล่าวต่อว่า ในการประชุม ครม.เศรษฐกิจ ครั้งนี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ได้รายงานสถานการณ์การปิดโรงงานและจำนวนแรงงานที่ได้รับผลกระทบให้ที่ประชุมรับทราบว่า การปิดโรงงานในช่วงที่ผ่านมา มีแรงงานตกงานประมาณ 3 แสนคน และสามารถกลับเข้าสู่ระบบได้ครึ่งหนึ่ง จึงเหลือแรงงานที่ยังตกงานอยู่ 1.7-1.8 แสนคน และเนื่องจากทุกปีจะมีแรงงานจบใหม่เข้าสู่ระบบอีก 5 แสนคน จึงเหลือแรงงานที่ต้องบริหารจัดการ 5-7 แสนคน
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูตารางในเว็บไซต์รับสมัครงาน พบว่ามีตำแหน่งงานว่างในทุกสายอาชีพที่ใกล้เคียงกัน ประมาณ 5 แสนตำแหน่ง จึงมีปัญหาแรงงานตกงานที่ต้องแก้เฉพาะหน้าประมาณ 1 แสนคน แต่ในจำนวนนี้มีส่วนหนึ่งที่ออกไปประกอบอาชีพส่วนตัวและอีกส่วนหนึ่งออกไปเป็นแรงงานในต่างประเทศ ดังนั้น จึงเหลือแรงงานตกงานที่ต้องเข้าไปดูแลอีกไม่มากนัก ซึ่งกระทรวงแรงงานจะเข้าไปดูแลในส่วนนี้
นายพิชัย ระบุว่า ในส่วนการพัฒนาทักษะแรงงานนั้น รัฐบาลจะเข้าไปสนับสนุนการพัฒนาทักษะแรงงานที่เป็นที่ต้องการของนักลงทุน โดยเฉพาะในเรื่องอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และการผลิตไฟฟ้าพลังงานสีเขียว เป็นต้น พร้อมทั้งจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อทำหน้าขับเคลื่อนการดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จากต่างประเทศ
“ตัวที่เราพลาดไม่ได้เลย ถึงแม้จะเริ่มหลังมาเลเซีย เริ่มหลังเวียดนาม แต่เราต้องจริงจัง เราจะตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมา เพื่อขับเคลื่อนเรื่องเซมิคอนดักเตอร์ ในการขับเคลื่อนนี้แน่นอนว่า เราจะดูความต้องการของเขาว่าต้องการอะไรบ้าง ใช้ทักษะประเภทไหนอย่างไร ซึ่งเราจะทำงานร่วมกับคนที่เข้ามาลงทุน ผู้ประกอบการต่างชาติ เพื่อดูว่าเราจะฝึกเด็กรุ่นใหม่อย่างไร การเรียนควรให้มหาวิทยาลัยไหนสอนเรื่องอะไร และต้องมีที่ฝึกงาน ซึ่งจะมีการติดต่อมหาวิทยาลัยและโรงงานที่ไต้หวัน ให้เด็กเราได้ไปฝึกงานได้ยาวๆนานๆ โดยเฉพาะเรื่องอิเล็กทรอนิกส์” นายพิชัยกล่าว
นายพิชัย กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ ได้มีการหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ราคาปาล์มน้ำมันที่ปัจจุบันราคาลดลงมาอยู่ที่กิโลกรัมละ 3.7-3.8% โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปดูแลเรื่องราคารับซื้อผลปาล์มจากเกษตรกร และมอบหมายให้กระทรวงพลังงานดำเนินการ ประกาศกำหนดราคาบี 100 ที่สอดคล้องกับราคาตลาด รวมทั้งหารือกับผู้ค้าตามมาตรา 7 เพื่อให้มีการซื้อขายบี 100 ในราคาที่ลงตัว
@‘พิชัย’เผยใกล้ได้ข้อสรุปตั้ง‘กองทุน LTF’
เมื่อถามว่า จะมีมาตรการเกี่ยวกับตลาดทุนหรือไม่ หลังดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และความชัดเจนเกี่ยวกับกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เป็นอย่างไร นายพิชัย กล่าวว่า โครงการนี้ (LTF) มาแน่ แต่ต้องถามว่าวัตถุประสงค์ คือ อะไร ซึ่งก็คือ 1.เราต้องการให้ประชาชนลงทุนในหุ้นที่ดี และ 2.หุ้นตัวที่ดีนี้ คนอยากลงทุน และเมื่อลงทุนแล้วต้องเป็นเงินออมของประชาชน ซึ่งขณะนี้ทางตลาดทุนอยู่ระหว่างหารือกับกรมสรรพากร และใกล้จบแล้ว
“โครงการนี้เราจะทำว่า เป็นอะไรดี ไม่ใช่หุ้นประเภทไหนก็ได้ ต้องเป็นหุ้นประเภทที่เรากำหนด แล้วดูดีกับผู้ลงทุน เพื่อให้เขาอยู่ได้ และเป็นเงินออมจริงๆ ส่วนระยะเวลาจะเท่าไหร่ วงเงินเท่าไหร่ มีอยู่แล้ว แต่ขอให้ทางตลาดทุนทำงานกับกรมสรรพากรก่อน เพราะจะมีผลต่อกรมสรรพากร ซึ่งตอนนี้ทำงานใกล้จบแล้ว เพื่อกำหนดว่าหน้าตาเป็นอย่างไร แล้วเรากำลังดูว่าจะตั้งกองทุนประเภทไหน เพื่อดึงเงินจากต่างประเทศ
และแม้ว่าดัชนีฯจะลงก็จริง แต่ถ้าไปดูรายเซ็กเตอร์ จะมีทั้งเซ็กเตอร์ที่ลง เซ็กเตอร์ที่ทรงๆ และเซ็กเตอร์ที่ขึ้น ถ้าเราจัดหมดหมู่ใหม่ อาจมีคนสนใจในเซ็กเตอร์ที่ขึ้น ตลาดทุนขอเวลาทำงานอีกนิดหนึ่ง เพราะมันจะมีเรื่องความเชื่อมั่น ถ้านักลงทุนหรือใครไม่เชื่อมั่นในตลาด ดังนั้น กลไกของตลาด คือ เราต้องสามารถจัดการกับคนที่มีพฤติการณ์หรือวิธีการลงทุนที่ไม่เหมาะสมได้ ถึงจะเรียกสิ่งเหล่านั้นกลับมา” นายพิชัย กล่าว
”