ครม.ไฟเขียววงเงินงบปี 67 เพิ่มเติม 1.22 แสนล้าน ตั้งเป็นงบกลางฯ ใช้จ่ายในโครงการ ‘ดิจิทัลวอลเลต’ ขณะที่ ‘โฆษกฯ’ มั่นใจใช้จ่ายงบฯได้ภายในปีงบ 67
.........................................
เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ความเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 122,000 ล้านบาท ตามที่สำนักงบประมาณ เสนอ โดยกำหนดเป็นงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ สำหรับใช้ในการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ของรัฐบาล
ทั้งนี้ วงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมฯ 1.22 แสนล้านบาท ดังกล่าว มีแหล่งเงินจาก 2 แหล่ง ได้แก่ การจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิม 10,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 1.12 แสนล้านบาท
นายชัย ระบุด้วยว่า การที่ ครม.อนุมัติวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปีงบ 2567 ในครั้งนี้ ส่งผลให้งบประมาณรายจ่ายฯ ปีงบ 2567 อยู่ที่ 3.602 ล้านล้านบาท เทียบกับงบประมาณรายจ่ายฯ ปีงบ 2566 ซึ่งมีจำนวน 3.48 ล้านล้านบาท ในขณะที่งบลงทุน ปีงบ 2567 จะอยู่ที่ 8.076 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 22.4% ของงบประมาณรายจ่าย เทียบกับปีงบ 2566 ที่งบลงทุน มีจำนวน 6.89 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 21.7% ของงบประมาณรายจ่าย
ขณะเดียวกัน รายจ่ายชำระคืนเงินต้นในปีงบ 2567 จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.18 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 3.3% ของงบประมาณรายจ่าย เทียบกับปีงบ 2566 ที่มีสัดส่วนรายจ่ายชำระคืนเงินต้นอยู่ที่ 3.1% ของงบประมาณรายจ่าย เป็นต้น
นายชัย กล่าวว่า หลังจาก ครม. มีมติเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปีงบ 2567 แล้ว สำนักงบประมาณจะจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบฯ 2567 ต่อไป ทั้งนี้ รัฐบาลมั่นใจว่างบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมฯดังกล่าว จะใช้จ่ายได้ภายในปีงบ 2567
ก่อนหน้านี้ ครม. มีมติเมื่อวันที่ 23 เม.ย.2567 เห็นชอบในหลักการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โดยใช้จ่ายจาก 3 แหล่งเงิน ได้แก่ 1.การบริหารงบประมาณปี 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท 2.การดำเนินการผ่านหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท และ 3.งบประมาณปี 68 จำนวน 152,700 ล้านบาท จากนั้น ครม.มติเมื่อวันที่ 28 พ.ค.2567 เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ พ.ศ.2568-71) ฉบับทบทวน ครั้งที่ 2
นอกจากนี้ เนื่องจากมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 กำหนดให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ให้กระทำได้เมื่อมีเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องใช้จ่ายเงินระหว่างปีงบประมาณ โดยไม่สามารถรองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไปได้ และให้ระบุที่มาของเงินที่จะใช้จ่ายตามงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม
ดังนั้น การดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จะต้องลงทะเบียนผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการให้ทันภายในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ได้ทันภายในวันที่ 30 ก.ย.2567 และสอดคล้องตามมาตราดังกล่าว
ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินโครงการดังกล่าวสามารถดำเนินการทันภายในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จึงอาจพิจารณาผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการที่เป็นประชาชนกลุ่มเปราะบางผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 14.98 ล้านคน ตามขั้นตอนในโอกาสแรกก่อน
รายงานข่าวแจ้งว่า ปฏิทินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ได้กำหนดกรอบเวลาในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปีงบ 2567 ได้แก่ วันที่ 18 มิ.ย.2567 สำนักงบประมาณจะเสนอให้ ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบรายละเอียดของงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปีงบ 2567 และมอบหมายให้สำนักงบประมาณนำรายละเอียดของงบประมาณฯไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็น
วันที่ 2 ก.ค.2567 สำนักงบประมาณจะเสนอให้ ครม. รับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นฯ และพิจารณาให้ความเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 และให้สำนักงบประมาณจัดพิมพ์ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมฯ และเอกสารประกอบงบประมาณ ,วันที่ 9 ก.ค. เสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 และเอกสารประกอบฯ ให้ ครม.พิจารณา และเสนอสภาผู้แทนราษฎร
วันที่ 17-18 ก.ค.2567 สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วาระที่ 1 , วันที่ 31 ก.ค.-1 ส.ค.2567 สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วาระที่ 2 และวาระที่ 3 , วันที่ 6 ส.ค.2567 วุฒิสภา พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567
และวันที่ 13 ส.ค.2567 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) นำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ขึ้นทูลเกล้าฯถวาย เพื่อประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป