บอร์ดรฟท.เห็นชอบปรับกรอบวงเงิน สายสีแดง Missing Link บางซื่อ-หัวหมาก/บางซื่อ - หัวลำโพง เพิ่มอีก 400 ล้านบาท เหตุมีการปรับแบบสถานีราชวิถี ยันไม่ใช่ทางแข่งขันกับไฮสปีด 3 สนามบิน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 27 พฤษภาคม 2567 นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2567 ได้มีการพิจารณาการปรับกรอบวงเงินโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (Missing Link) ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสีแดงเข้ม ช่วง บางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 25.9 กม. ขึ้นอีกประมาณ 400 ล้านบาท จากมติครม.เดิมเมื่อปี 2559 ที่เห็นชอบวงเงิน 44,157.76 ล้านบาท
เนื่องจากการปรับแบบสถานีราชวิถี และย้ายตำแหน่งสถานีใหม่ เพื่อให้ผู้โดยสารเดินเชื่อมเข้าสู่อาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีได้สะดวก แต่บอร์ดยังไม่อนุมัติ โดยให้กลับไปทบทวนรายละเอียดและกลับมาเสนอบอร์ดอีกครั้งในการประชุมครั้งต่อไปในเดือน มิ.ย. 2567 ก่อนเสนอครม.พิจารณาปรับกรอบวงเงินใหม่ต่อไป
โดยบอร์ดรฟท.มีข้อสังเกต เช่น กรณีการขยับตำแน่งสถานีราชวิถี เช่น วัตถุประสงค์เพื่ออะไร มีใครได้ประโยชน์บ้าง มีใครได้รับผลกระทบบ้าง รวมไปถึงผลกระทบต่อโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ที่มีเส้นทางในแนวเดียวกันบางช่วง ต้องมีการประสานเพื่อยืนยันให้เรียบร้อยตรงกัน เพราะพื้นที่บริเวณดังกล่าวมีจำกัด
@สายสีแดง ไม่ใช่ทางแข่งขัน ไฮสปีด
เมื่อถามว่า ประเด็นที่เส้นทางสายสีแดงอ่อนมีการทับซ้อนกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินในบางช่วง นั้น ทางบจ. เอเชีย เอรา วัน (ซี.พี.) ในฐานะผู้รับสัมปทานมีกังวลเรื่องดังกล่าวหรือไม่ โดยเฉพาะกรณีเกิดการแย่งผู้โดยสารกัน นายอนันต์กล่าวว่า รถไฟชานเมืองสายสีแดงเป็นคนละระบบกับรถไฟความเร็วสูง และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีสถานีจอดที่สถานีพญาไท จากนั้นวิ่งยาวไปสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ไม่มีจุดจอดที่ สถานีราชวิถี จึงไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน ในเรื่องการแย่งผู้โดยสาร แค่เป็นเส้นทางที่ขนานกัน เท่านั้น
ในส่วนของรฟท. ยืนยันว่า ยังคงเดินหน้าโครงการรถไฟสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก ตามแผนแม่บทเพื่อเกิดการเชื่อมต่อการเดินทาง เป็นเส้นทางหลัก แนวตะวันออก-ตะวันตก ทอดไปตามแนวทางรถไฟเดิม เข้าสู่ใจกลางเมืองตามแผน
ทั้งนี้ รถไฟสายสีแดงอ่อนฝั่งตะวันออก เส้นทาง บางซื่อ-หัวหมาก นั้น จะมี 5 สถานี ได้แก่
1. สถานีแยกราชวิถี (เชื่อมต่อกับสายสีแดงเข้ม)
2. สถานีพญาไท (เชื่อมต่อกับ BTS และ ARL)
3. สถานีมักกะสัน (เชื่อมต่อกับ MRT)
4. สถานีรามคำแหง (เชื่อมต่อกับ ARL)
5. สถานีหัวหมาก (เชื่อมต่อกับ BTS)
@โยธางอกเป็น 3.5 หมื่นล้านบาท จากปัจจัยค่าแรง ค่าวัสดุ เพิ่ม
รายงานข่าวแจ้งว่า จากการปรับย้ายตำแหน่งสถานีราชวิถี จากเดิม บริเวณด้านทิศเหนือของแยกอุภัยเจษฎทิศ มายังตำแหน่งใหม่ บริเวณด้านทิศใต้ขอแยกอุภัยเจษฎทิศ และมีการปรับชื่อ สถานีจากเดิม”สถานีราชวิถี” เป็น”สถานีรามาธิบดี” ขณะที่การปรับแบบก่อสร้างดังกล่าว ทำให้มูลค่าโครงการรวมเพิ่มขึ้น จากเดิมตามมติครม. เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2559 ที่ 44,157.79 ล้านบาท เป็น 44,573.85 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 416.09 ล้านบาท
แต่หากแยกเฉพาะ ค่างานโยธารวมในส่วนของสายสีแดงอ่อน (Missing Link) ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสีแดงเข้ม ช่วง บางซื่อ-หัวลำโพง เพิ่มจากเดิมตามมติครม. เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2559 ที่ 24,189.89 ล้านบาท เป็น 35,026.59 ล้านบาท หรือมีค่างานโยธาเพิ่มขึ้น 10,417.10 ล้านบาท เนื่องจากมีการปรับ ค่าวัสดุ ค่าแรง ค่า Factoe F ให้เป็นปัจจุบัน โดยจะใช้ระยะเวลาดำเนินการก่อสร้าง 6 ปี