ปปง.ยึดทรัพย์บุคคลสัญชาติอินเดียนำเงินสกุลต่างชาติ เข้าไทยช่องสนามบินสุวรรณภูมิ อีกราย 60,000 เหรียญสหรัฐ ราว 2.1 ล้านบาท ซุกในกระเป๋าเดินทาง หลังจนท.ศุลากรตรวจเจอ ก่อนหน้านี้จับ 6 ราย 14 ล้านบาท
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) มีคำสั่งยึดทรัพย์ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว บุคคลสัญชาติอินเดีย ขนเงินสดเข้าประเทศ ผ่านสนามบินสุวรรณภูมิ มีมูลค่าสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเข้ามาทางช่องไม่มีสิ่งของต้องสำแดง (ช่องเขียว) โดยไม่แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ เชื่อว่ามีเจตนาจะลักลอบนำพันธบัตรกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านพิธีการศุลกากร จำนวน 6 คดี คิดเป็นเงินไทยประมาณ 14 ล้านบาท
ล่าสุดบุคคลชาวอินเดียถูกยึดเงินสดรายที่ 7 หลังเดินทางจากเมืองมุมไบ สาธารณรัฐอินเดีย ปลายทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2567 สำนักงาน ปปง. มีคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ที่ย. 84 /2567 เรื่อง ยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราวราย MR. PARTH RANCHHODBHAI DESAI ซึ่งเป็นกรณีมีพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร หลัง ปปง.ได้รับรายงานจากสำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตามหนังสือที่ กค 0505(ส)/620 ลงวันที่ 15 กันยายน 2566
คำสั่งยึดทรัพย์ของ ปปง.ระบุว่า
เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2566 เจ้าหน้าที่ศุลกากรฝ่ายสืบสวนและปราบปราม ส่วนควบคุมทางศุลกากร จับกุม MR. PARTH RANCHHODBHAIDESAI สัญชาติอินเดีย หนังสือเดินทางสาธารณรัฐอินเดีย เลขที่ U4o61691 ผู้โดยสารของสายการบินวิสทารา (Vistara) เที่ยวบินที่ UK123 เดินทางมาจากเมืองมุมไบ สาธารณรัฐอินเดีย ในวันที่ 15 กันยายน 2565 ถึงปลายทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ราชอาณาจักรไทย โดยตรวจค้นที่ภายในช่องตรวจศุลกากรไม่มีสิ่งของต้องสำแดง (ช่องเขียว) ทางออก C ห้องโถงผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ อาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เนื่องจากสงสัยว่าจะมีของที่ยังมิได้ชำระค่าภาษีอากร ของต้องห้ามต้องกำกัดหรือของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักรเก็บหรือซุกซ่อนอยู่ ผลการตรวจค้นพบธนบัตรสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ฉบับละ 100 ดอลลาร์ 600 ฉบับ รวมเป็นเงิน 60,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยธนบัตรทั้งหมดถูกเก็บซุกซ่อนปะปนกับเสื้อผ้าในกระเป๋าเดินทางทรงแข็ง มีล้อลาก ขนาด 60x40 เซนติเมตร ของ MR. PARTH RANCHHODBHAI DESAI โดยไม่มีหลักฐานการสำแดงเงินตราโดยถูกต้องมาแสดง
การนำเงินตราต่างประเทศจำนวนดังกล่าวซึ่งมีมูลค่าสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเข้ามาทางช่องไม่มีสิ่งของต้องสำแดง (ช่องเขียว) โดยไม่แจ้งและไม่สำแดงต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากร น่าเชื่อว่ามีเจตนาจะลักลอบนำธนบัตรสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ 60,000 ดอลลาร์สหรัฐ เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านพิธีการศุลกากร MR. PARTH RANCHHODBHAI DESAI จึงกระทำความผิดฐานส่งหรือนำเงินตรา เงินตราต่างประเทศ หรือตราสารเปลี่ยนมือออกไปนอกหรือนำเข้ามาในประเทศ โดยไม่แจ้งรายการเกี่ยวกับเงินตรา เงินตราต่างประเทศ หรือตราสารเปลี่ยนมือนั้นต่อพนักงานศุลกากร อันเป็นการฝ่าฝืนหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560
กรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า MR. PARTH RANCHHODBHAI DESAI กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 34 (3) และมาตรา 49 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มติคณะกรรมการธุรกรรมในการประชุมครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 และระเบียบคณะกรรมการธุรกรรม ว่าด้วยการรับเรื่องการตรวจสอบ การพิจารณาดำเนินการ และการควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2556 ข้อ 25 คณะกรรมการธุรกรรมจึงมีคำสั่งยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว จำนวน 1 รายการ พร้อมดอกผล คือ ธนบัตรสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ฉบับละ 100 ดอลลาร์สหรัฐ จำนวน 600 ฉบับ รวมเป็นเงิน 60,000 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินสกุลบาทไทย 2,117,670 บาท (สองล้านหนึ่งแสนหนึ่งหมื่นเจ็ดพันหกร้อยเจ็ดสิบบาทถ้วน) อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 15 กันยายน 2566 ของ MR. PARTH RANCHHODBHAI DESAI มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน (เก้าสิบวัน) นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ กล่าวคือ นับตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2567 ถึงวันที่ 8 มิถุนายน 2567
ทั้งนี้ ให้รวมถึงเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวหรือสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์หรือดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าว
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ก่อนหน้านี้ ปปง.ยึดเงินสดชาวอินเดีย 6 รายลักลอบนำเงินสดเข้ามาในประเทศไทย
1. ราย MR. PRADEEP ATHIYARATH RAMAN บุคคลสัญชาติอินเดีย เดินทางจากเมืองกวางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน เข้ามาในราชอาณาจักรไทย ณ ทำอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้นำธนบัตรสกุลตอลลาร์สหรัฐฉบับละ 100 ตอลลาร์สหรัฐ 30 ฉบับ รวมเป็นเงิน 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินสกุลบาทไทย 1,048,269 บาท (คำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมที่ ย. 8/ 2567 ลงวันที่ 9 ม.ค.2567)
2. ราย MR.SYED SALMAN อายุ 25 ปี สัญชาติอินเดีย ของกลาง ธนบัตรทุกสกุลเงินต่างๆ จำนวน 7 รายการ คิดเป็นเงินสกุลบาทไทย 2,241,835.76 บาท (คำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมที่ ย. 9/ 2567 ลงวันที่ 9 ม.ค.2567)
3. ราย MR. PARVEEN KUMAR อายุ 37 ปี สัญชาติอินเดีย ธนบัตรสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฉบับละ 100 ตอลสาร์สหรัฐ 1,244 ฉบับ รวมเป็นเงิน 124,400 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินสกุลบาทไทย 4,277,481.56 บาท (คำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย. 39 /2567 วันที่ 13 ก.พ.2567)
4. ราย MR. SATHAM HUSSAIN AKBAR อายุ 33 ปี สัญชาติอินเดีย ของกลางธนบัตรสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ฉบับละ 100 ตอลลาร์สหรัฐ จำนวน 800 ฉบับ รวมเป็นเงิน 80,000 ดอลลาร์สหรัฐคิดเป็นสกุลเงินบาท 2,750,792 บาท (คำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย. 40 /2567 วันที่ 13 ก.พ.2567)
5. ราย MR. AJAY KUMAR CHAURSIA สัญชาติอินเดีย ธนบัตรสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ฉบับละ 100 ตอลสาร์สหรัฐ 480 ฉบับ รวมเป็นเงิน 48,000 คอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสกุลเงินบาท 1,694,136 บาท (คำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย. 41 /2567 วันที่ 13 ก.พ.2567)
6. ราย MR. MD WASIM สัญชาติอินเดีย เดินทางมาจากเมืองมุมไบ สาธารณรัฐอินเดียเข้ามายังประเทศไทย ณ ท่อากาศยานสุวรรณภูมิ ธนบัตรสกุลเงินตอลลาร์สหรัฐ ฉบับละ 100 ดอลลาร์ 660 ฉบับ รวมเป็นเงิน 66,000 ดอลลาร์ คิดเป็นสกุลเงินบาท 2,284,141.20 บาท (คำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมที่ ย. 64 / 2567 วันที่ 12 มี.ค.2567
ล่าสุดรายของ MR. MD WASIM นั้น เมื่อวันที่ 17 พ.ค.2567 นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการคณะกรรมการ ปปง. มอบหมายให้คณะพนักงานเจ้าหน้าที่กองคดี 3 สำนักงาน ปปง. ส่งมอบสำนวนคดีให้พนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 1 รายการ (ธนบัตรสกุลต่างประเทศ) มูลค่าประมาณ 2 ล้านบาท พร้อมดอกผล