‘พิชัย’ หารือ ‘เศรษฐพุฒิ’ ขอช่วยผ่อนปรนเงื่อนไขให้ ‘รายย่อย-เอสเอ็มอี’ เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ยืนยันให้อิสระ 'แบงก์ชาติ' กำหนด 'ดอกเบี้ยนโยบาย' แต่มองควร 'ทบทวน' ให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจ
....................................
เมื่อวันที่ 16 พ.ค.ที่กระทรวงการคลัง นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.การคลัง ได้หารือกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง เพื่อดูแลเศรษฐกิจให้สอดคล้องกัน โดยการหารือใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง
นายพิชัย ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวภายหลังการหารือว่า การหารือกับผู้ว่าฯ ธปท. ครั้งนี้ เป็นการนัดหารืออย่างไม่เป็นทางการ เพื่อพูดคุยในสิ่งที่แต่ละฝ่ายเข้าใจ ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาก็ไม่ผิดความคาดหมาย เพราะทั้ง 2 ฝ่าย พูดคุยกันด้วยหลักการ และเชื่อว่าหลังจากหารือในครั้งนี้แล้ว การดำเนินนโยบายการเงินและการคลังจะสอดประสานกันมากที่สุด
“วันนี้คุยกันดี จริงๆ ผมเป็นคนพูดภาษาเดียวกันอยู่แล้ว เราไม่ได้มีปัญหาอะไรกัน บางเรื่องนายเศรษฐพุฒิพูดมา ผมแย้งไป บางเรื่องผมพูดไป นายเศรษฐพุฒิก็ชี้แจงมา สุดท้ายก็เป็นการพูดคุยกัน ที่ผมเข้าใจอย่างนั้น เพราะเคยนั่งเป็นกรรมการ ธปท. มาก่อน ผมเข้าใจในวิธีการทำงานเป็นอย่างดี ความเข้มงวดในการดำเนินนโยบายมีข้อดี คือ เมื่อเข้มงวดมาก สถาบันการเงินก็มีความเข้มแข็ง” นายพิชัย กล่าว
นายพิชัย กล่าวต่อว่า การหารือครั้งนี้มีประเด็นสำคัญ คือ ประเด็นแรก เรื่องการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเป็นหน้าที่ของ ธปท. และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะใช้วิจารณญาณ เครื่องมือและผลการวิเคราะห์ เพื่อกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ส่วนจะต้องมีการปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อหรือไม่นั้น แม้ว่า ธปท.จะมีวิธีคิดเป็นของตัวเอง แต่ก็อยากให้ ธปท.มองด้วยว่าอีก 6-9 เดือน เงินเฟ้อจะเข้ากรอบหรือไม่ และจะต้องมาหารือกันอีกครั้ง
ส่วนจะต้องทบทวนอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจหรือไม่นั้น นายพิชัย กล่าวว่า ธปท.ต้องทบทวน แต่คงต้องปล่อยให้อิสระและให้ดำเนินการตามวิถีทางของ ธปท.
“เรื่องอัตราดอกเบี้ยนั้น คลังจะไม่แตะ เพราะเป็นเรื่องที่ต้องดูหลายอย่าง หากลดลง คงเป็นผลในแง่ของการส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจบ้านเราจะดีขึ้นได้ไหม ภาวะเงินเฟ้อจะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่นักลงทุนที่จะเข้ามาใช้คาดการณ์ไปข้างหน้ามากกว่า” นายพิชัย กล่าว
นายพิชัย กล่าวว่า ประเด็นที่สอง เป็นเรื่องการเข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่กว่าเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายว่าจะสูงขึ้นหรือต่ำลง และในการหารือกันในครั้งนี้ ได้ขอให้ ธปท. ไปพิจารณาปรับปรุงแนวทางเพื่อให้กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รายย่อย และภาคครัวเรือน ผู้กู้รายเดิมที่ยังมีปัญหา หรือกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นตัวจากโควิด-19 สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น หรือมีความยืดหยุ่นในการเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น
ส่วน ธปท.จะต้องมีการปรับหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมหรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า เกณฑ์ที่ ธปท.ให้ความสำคัญและดำเนินการตามมาตรฐานระดับโลกนั้น ทำให้ภาคการเงินของไทยมีความเข้มเข็ง แต่อาจจะต้องเพิ่มความยืดหยุ่นในบ้างข้อ และดึงเงินสำรองบางส่วนมาปล่อยสินเชื่อให้รายย่อย ซึ่งมีจำนวนเล็กน้อยเมื่อเทียบกับพอร์ตสินเชื่อโดยรวมของแบงก์มีประมาณ 4 ล้านล้านบาท จึงไม่กระทบเรื่องการปล่อยสินเชื่อตามเกณฑ์ปกติ
“อยากให้มองว่า มีโอกาสที่จะปรับการเข้าถึงสินเชื่อให้กลุ่มที่กำลังโฟกัสให้มากขึ้นได้หรือไม่ เพราะหากมองพอร์ตสินเชื่อของสถาบันการเงินทั้งหมดแล้ว กลุ่มที่ต้องการจะช่วยเหลือไม่ได้ใหญ่ ดังนั้น การจะหยิบแต่ละกลุ่มที่มีปัญหาจากแต่ละสถาบันการเงินมาดำเนินการมันแค่นิดเดียว จึงมองว่าตรงนี้หากมีอะไรที่สามารถทำได้ และไม่ทำให้วินัยการปล่อยสินเชื่อผิดพลาด ก็เชื่อว่ายังมีช่องว่างให้ทำเยอะ” นายพิชัย กล่าว
นายพิชัย กล่าวด้วยว่า หลังจากนี้กระทรวงการคลังคงจะมีการหารือร่วมกับ ธปท. บ่อยมากขึ้น และต่างคนคงต้องกลับไปนั่งทำการบ้าน โดยเฉพาะเรื่องการทำให้กลุ่มที่มีปัญหาสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ส่วนประเด็นที่กระทรวงคลังและธปท.เห็นสอดคล้องกัน คือ ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างพื้นฐานหลายอย่าง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นสิ่งที่รัฐบาลเร่งทำอยู่
“เราคุยกันวันนี้นานเกือบ 2 ชั่วโมง ส่วนครั้งต่อไป ขอเวลาทำงานก่อน แต่ถ้ามีความคืบหน้าใกล้เคียง จะมีการนัดคุยกันอีกสักรอบเพื่อหาข้อยุติ สรุปแล้ว ทั้งคลังและ ธปท.ต้องกลับไปทำการบ้าน” นายพิชัยกล่าว
อ่านประกอบ :
‘รมว.คลัง’นัด‘ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ’เข้าพบ 16 พ.ค.นี้-'เศรษฐา'รับ'กฤษฎา'ยื่นลาออกมีผลทันที