'นิวัติไชย' ชี้ภูเก็ต เป็นพื้นที่ทองคำ แต่ปัญาเพียบ คดีร้องเรียนเรื่องทรัพยากรเยอะ แก้ยาก เหตุเขตที่ดินไม่ชัดเจน และเอื้อประโยชน์ต่างชาติครอบครองที่ดิน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้จัดโครงการสื่อมวลชนสัมพันธ์ สำนักงาน ป.ป.ช. ครั้งที่ 1 ประจำปี 2567 ที่ จ.ภูเก็ต โดยในช่วงเช้ามีการเปิดเผยสถิติและเรื่องร้องเรียนของสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 8 และสถิติคดีทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ จ.ภูเก็ต และอภิปรายในประเด็นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเข้าหาดสาธารณะ
นายนิวัตไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช กล่าวว่า จ.ภูเก็ตเหมือนพื้นที่ทองคำ ทุกคนต่างแย่งชิงครอบครอง ทำให้ที่ผ่านมามีการกล่าวหา ร้องเรียนจำนวนมาก สะสมมานานกว่า 20-30 ปี จึงไม่ใช่เรื่องง่าย และมีนักท่องเที่ยวพยายามที่จะเข้ามาจับจอง ครอบครองที่ดิน ก่อปัญหาให้คนในพื้นที่ ต้องมีการพิสูจน์สิทธิของประชาชนที่มีการครอบครองอยู่เดิมก่อน ว่าครอบครองอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ หากเป็นพื้นที่แนวเขตอุทยานแนวเขตป่าไม้ หรือพื้นที่ ส.ป.ก. หรือแม้เเต่ที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ยังไม่มีขอบเขตที่ชัดเจน ก็ก่อให้เกิดปัญหาในการนำที่ดินไปใช้ประโยชน์ มีการออกเอกสารสิทธิอันเป็นเท็จ นำไปสร้างมูลค่าเพิ่ม ดังนั้น ป.ป.ช.จึงหวังว่าคนในพื้นที่ร่วมกันทำงานอย่างเข้มแข็ง โดยเน้นในเรื่องของการป้องกันก่อนเกิดเหตุ ก่อนที่จะเกิดความเสียหายเพราะเราไม่อยากไปไล่จับคน โดยสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดผลสำเร็จก็คือ 1. ตัวเราเองจะต้องไม่กระทำการทุจริตเสียก่อน 2. ไม่ทนไม่เพิกเฉย ไม่เกรงกลัวต่อเรื่องทุจริต
นายนิวัติไชย กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีกลุ่มทุนต่างชาติครอบครองที่ดินในไทยนั้น ส่วนใหญ่กลุ่มทุนต่างชาติจะมีนอมินีที่เป็นคนไทย และรู้เห็นกัน เพราะผู้ที่ไปดำเนินการขอเอกสารสิทธิ์ มักจะพบว่ามีส่วนร่วมในฝ่ายสนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐในการกระทำความผิด
ต่อมา นายสุชาติ กรวยกิตานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 8 เปิดเผย สถิติผลการดำนเนินงานคดีของสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 8 และสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดในพื้นที่ภาค 8 ( 8 จังหวัดภาคใต้) ในปีงบประมาณ 2567 มีเรื่องตรวจสอบเบี้องต้น 258 เรื่อง รวมจำนวนทั้งหมด 697 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ 195 เรื่อง คงเหลือ 502 เรื่อง ทั้งนี้ จังหวัดที่มีสถิติเรื่องร้องเรียนสูงสุดในพื้นที่ภาค 8 คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช รับใหม่ 45 เรื่อง รวมทั้งหมด 143 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ 46 เรื่องคงเหลือ 97 เรื่อง
ด้าน นายมงคล ศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักไต่สวนคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า สำหรับคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศที่อยู่ระหว่างดำเนินการปี 2567 ทั่วประเทศมี 1,513 เรื่อง แบ่งเป็นเรื่องไต่สวนข้อเท็จจริง 471 เรื่อง โดยเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในจังหวัดภูเก็ต 30 เรื่อง และอยู่ระหว่างตรวจสอบเบื้องต้น 142 เรื่อง โดยคดีเกิดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต 28 เรื่อง
สถิติเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต มีจำนวน 15 เรื่อง แบ่งออกเป็น การบุกรุกพื้นที่สาธารณะ 14 เรื่อง และกรณีเก็บค่าผ่านทางเข้าสถานที่สาธารณะอีก 1 เรื่อง
นายมงคล กล่าวอีกว่า นายมงคล กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะที่คดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ได้รับความสนใจในปี 2567 สำหรับคดีที่อยู่ จ.ภูเก็ตส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องร้องเรียนผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนใหญ่เป็นกรณีการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ เช่นเรื่องร้องเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตกับพวกรวม 18 คนออกโฉนดที่ดินทับในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขากมลา ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ตโดยไม่ชอบ หรือ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตกับพวกรวม 17 คนออกโฉนดที่ดินจำนวน 1 แปลงในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติเทือกเขากมลา เป็นต้น
สุดท้าย นายสุวัฒน์ เสาวรัญ อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ภูเก็ต กล่าวว่า ทาง ป.ป.ช. ภูเก็ตได้มีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจ.ภูเก็ต จำนวน 12 หน่วยงาน วางแผนการลงพื้นที่ และตรวจสอบการบุกรุกที่สาธารณะประโยชน์ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต โดยผลจากการลงพื้นที่แบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในส่วนของพื้นที่ที่มีประเด็น มีดังนี้
1. หาดยามู ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ในประเด็นเรื่อง เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ และการบุกรุกที่สาธารณะ รวมถึงประเด็นในเรื่องของ เอกสาร น.ส.3 ก บริเวณแหลมยามู ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต
2. แหลมหงา ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต ในประเด็นเรื่อง การปิดทางลงหาดของเอกชน ส่งผลให้มีการประท้วงจากประชาชนให้มีการเปิดพื้นที่หาด ซึ่งในปัจจุบันเอกชนได้ดำเนินการเปิดทางลงหาดแล้ว
3. แหลมกา ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต การปิดทางลงชายหาดของเอกชน โดยเอกชนอ้างว่า เป็นพื้นที่ของตนเอง ให้ไปใช้อีกเส้นทางหนึ่ง ซึ่งอีกเส้นทางเป็นเส้นทางที่มีระยะทางไกลกว่ามาก
4. หาดพาราไดซ์ ต.ป่าตอง อ.กะทู้จังหวัดภูเก็ต ในประเด็นเรื่อง ทางลงหาดมีการเก็บค่าผ่านทาง ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ถึงจะสามารถลงหาดได้ ซึ่งระยะทางลงหาดเป็นระยะทางไม่ไกล ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นประเด็นที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของ สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดภูเก็ต
5. แหลมสิงห์ ต.กมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต ในประเด็นเรื่อง จากศูนย์ CDC และที่เป็นข่าวในสื่อออนไลน์ ที่ได้รับความสนใจจากประชาชน ทางลงหาดถูกปิดทางเข้าออกโดยสังกะสีปิดกั้นเป็นทางยาว ส่วนทางที่สามารถเข้าได้เข้าออกได้ยาก และมีการก่อสร้างร้านอาหารบนโขดหิน
6. หาดนุ้ย ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต ในประเด็นเรื่อง เอกชนบุกรุกพื้นที่ป่า ซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินคดีในชั้นศาล และมีการเก็บค่าธรรมเนียมในการลงสู่หาดด้วย
7. หาดเลพัง ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ในประเด็นเรื่อง บุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์หาดเลพัง สร้างสิ่งปลูกสร้าง
สำหรับ ในช่วงบ่ายสำนักงาน ป.ป.ช. ได้พาคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่หาดนุ้ย และหาดพาราไดซ์ ซึ่งได้มีการก่อสร้างรุกล้ำชายหาด และอ้างเอกสารสิทธิ์ ส.ค. 1 ในการก่อสร้าง