เผยมติ ป.ป.ช.เสียงเอกฉันท์ ตีตกคดี 3 อดีตผู้ว่าฯ กคช. 'รตยา จันทรเทียร- ชวนพิศ ฉายเหมือนวงศ์-สุชาติ ศิริโยธิพันธุ์ ' กรณีโอนสิทธิการใช้ประโยชน์บริหารอาคารให้สมาคมสโมสรการเคหะแห่งชาติโดยไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้คืน หลังพิจารณาสำนวนไต่สวนคดีเบื้องต้น ไม่ปรากฏว่ากระทำความผิด ไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2567 เสียงเอกฉันท์ตีตกข้อกล่าวหา 3 อดีตผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) คือ นางรตยา จันทรเทียร นางชวนพิศ ฉายเหมือนวงศ์ นายสุชาติ ศิริโยธิพันธุ์ กรณี กคช.โอนสิทธิการใช้ประโยชน์และการบริหารอาคารที่เป็นทรัพย์สินของการเคหะแห่งชาติให้กับสมาคมสโมสรการเคหะแห่งชาติ (สคช.) โดยไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้คืนการเคหะแห่งชาติ
หลังพิจารณาสำนวนไต่สวนคดีเบื้องต้น ไม่ปรากฏว่ากระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
สำนักงาน ป.ป.ช.ระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำผิดโดยสรุป ว่า การเคหะแห่งชาติได้ทำบันทึกข้อตกลงกับสมาคมสโมสรการเคหะแห่งชาติมอบทรัพย์สินให้กับสมาคมสโมสรการเคหะแห่งชาติเพื่อไปดำเนินการและนำรายได้เข้าสมาคมสโมสรการเคหะแห่งชาติ ดังนี้
บันทึกข้อตกลงฉบับที่ 1
บันทึกข้อตกลงโอนการดำเนินการกิจการในโรงอาหาร ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2534 นางรตยา จันทรเทียร ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ได้ลงนามโอน ในนามของการเคหะแห่งชาติ และ ลงนามเป็นผู้รับโอน ในฐานะนายกสมาคมสโมสรการเคหะแห่งชาติ ในบันทึกข้อตกลงการโอนการดำเนินการกิจการในโรงอาหาร ซึ่งในข้อ 1 ระบุว่าโดยที่สมาคมสโมสรการเคหะแห่งชาติมีความประสงค์จะขอรับโอนกิจการโรงอาหารของการเคหะแห่งชาติไปดำเนินการเอง การเคหะแห่งชาติจึงตกลงโอนการดำเนินกิจการโรงอาหารของการเคหะแห่งชาติให้แก่สมาคมสโมสรการเคหะแห่งชาติไปดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2534 เป็นต้นไป ข้อ 3 การโอนการดำเนินกิจการโรงอาหารตามข้อ 1 และการส่งมอบทรัพย์สินตามข้อ 2 การเคหะแห่งชาติไม่คิดค่าตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น ข้อ 4 การโอนการดำเนินกิจการโรงอาหารตามข้อ 1 การเคหะแห่งชาติและสมาคมสโมสรการเคหะแห่งชาติตกลงโอนและรับโอนเฉพาะการบริหารกิจการโรงอาหาร เท่านั้น ไม่รวมถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคาร โรงอาหารและทรัพย์สินติดตรึงตราอาคารโรงอาหาร และข้อ 6 ระบุว่ารายได้หรือรายจ่ายในการดำเนินกิจการโรงอาหาร เป็นของสมาคมสโมสรการเคหะแห่งชาติแต่ฝ่ายเดียว
บันทึกข้อตกลงฉบับที่ 2
บันทึกข้อตกลงให้สิทธิบริหารจัดการศูนย์กีฬา ศูนย์กีฬาคลองจั่น การเคหะแห่งชาติ และศูนย์กีฬาร่มเกล้า การเคหะแห่งชาติ ฉบับลงวันที่ 25 มกราคม 2548 ระหว่างการเคหะแห่งชาติ โดยนางชวนพิศ ฉายเหมือนวงศ์ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ในขณะนั้น กับ นายประสิทธิ์ เผือกขาวผ่อง นายกสมาคมสโมสร การเคหะแห่งชาติ สาระสำคัญของข้อตกลงคือการเคหะแห่งชาติมอบให้สมาคมสโมสรการเคหะแห่งชาติ เป็นผู้ดูแลบริหารจัดการศูนย์กีฬา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 เป็นต้นไป การดูแลบริหารจัดการศูนย์กีฬาสมาคมสโมสรการเคหะแห่งชาติ ตกลงดำเนินการโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายจากการเคหะแห่งชาติ รายได้ต่าง ๆ จากการดูแลและบริหารจัดการศูนย์กีฬา การเคหะแห่งชาติ ตกลงให้สมาคมสโมสรการเคหะแห่งชาติ นำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลและบริหารจัดการศูนย์กีฬา โดยสมาคมสโมสรการเคหะแห่งชาติ จะต้องทำรายงาน ให้การเคหะแห่งชาติ ทราบภายในเดือนมกราคมของทุกปี
บันทึกข้อตกลงฉบับที่ 3
บันทึกข้อตกลงการโอนการบริหารงานอาคารสันทนาการ ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2553 นายสุชาติ ศิริโยธิพันธุ์ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เป็นผู้ลงนามมอบโอนการดำเนินกิจการอาคารสันทนาการ ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 905 ถนนนวมินทร์ แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการการดำเนินงานของอาคารสันทนาการ และเพื่อประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติงานของการเคหะแห่งชาติ นับตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2553 เป็นต้นไป ให้แก่สมาคมสโมสรการเคหะแห่งชาติ โดยมีนางรัศมี ไชยนันทน์ รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ซึ่งเป็นนายกสมาคมสโมสรการเคหะแห่งชาติเป็นผู้ลงนาม ในฐานะผู้รับโอน โดยในข้อ 3 ระบุว่าการโอนการบริหารอาคารตามข้อ 1 และการส่งมอบทรัพย์สินเพื่อการบริหารอาคารตามข้อ 2 คู่สัญญาตกลงไม่คิดค่าตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น ข้อ 4 ระบุว่าการบริหารอาคาร ตามข้อ 1 เป็นเพียงการส่งมอบการบริหารงานเท่านั้นไม่รวมถึงการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดิน อาคาร และ ทรัพย์สินอื่นใดที่เป็นกรรมสิทธิ์ของการเคหะแห่งชาติ และในข้อ 6 ระบุว่ารายได้หรือค่าใช้จ่ายในการบริหารอาคารคู่สัญญาตกลงให้เป็นของสมาคมสโมสรการเคหะแห่งชาติ แต่เพียงฝ่ายเดียว
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า จากการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วคณะไต่สวนเบื้องต้นมีมติว่า นางรตยา จันทรเทียร ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2531 ถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2535 บันทึกข้อตกลงโอนสิทธิการใช้ประโยชน์และการบริหารกิจการโรงอาหารและอาคารสันทนาการ (โรงอาหาร) ฉบับลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2534 ให้กับสมาคมสโมสรการเคหะแห่งชาติ โดยไม่ได้รับประโยชน์จากการจัดทำบันทึกข้อตกลง การกระทำดังกล่าวจึงไม่ได้มีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือโดยทุจริต
อีกทั้งการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2534 ซึ่งความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความรับผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8 และมาตรา 11 มีกำหนดอายุความ 20 ปี และ 15 ปีตามลำดับ การกระทำดังกล่าวจึงขาดอายุความ 15 ปี เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2549 และขาดอายุความ 20 ปี เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2554 ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) บัญญัติว่าสิทธิ นำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป เมื่อคดีขาดอายุความ จึงเห็นควรยุติการไต่สวนนางชวนพิศ ฉายเหมือนวงศ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2545 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2549 ทำบันทึกข้อตกลงให้สิทธิบริหารจัดการศูนย์กีฬา (ศูนย์กีฬาคลองจั่นการเคหะแห่งชาติ และศูนย์กีฬาร่มเกล้าการเคหะแห่งชาติ) ฉบับลงวันที่ 25 มกราคม 2548 โดยไม่ได้รับประโยชน์จากการจัดทำบันทึกข้อตกลง การกระทำดังกล่าว จึงไม่ได้มีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือโดยทุจริต จึงฟังไม่ได้ว่ามีความผิดฐานเป็นพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่การเคหะแห่งชาติ และฟังไม่ได้ว่าเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 ข้อกล่าวหาไม่มีมูล เห็นควรให้ข้อกล่าวหาเป็นอันตกไป
ส่วนการไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบหรือข้อบังคับแม้จะเป็นความผิดทางวินัย แต่เนื่องจาก ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ได้พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติตามสัญญาจ้างแล้ว จึงไม่อาจดำเนินการลงโทษทางวินัยได้ จึงเห็นควรยุติการดำเนินการทางวินัย นายสุชาติ ศิริโยธิพันธุ์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2555 ทำบันทึกข้อตกลงโอนสิทธิการใช้ประโยชน์และการบริหารกิจการโรงอาหารและอาคารสันทนาการ (โรงอาหาร) ฉบับลง วันที่ 31 สิงหาคม 2553 โดยไม่ได้รับประโยชน์จากการจัดทำบันทึกข้อตกลงแต่อย่างใด การกระทำดังกล่าวจึงไม่ได้มีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือโดยทุจริต จึงฟังไม่ได้ว่ามีความผิดฐานเป็นพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่การเคหะแห่งชาติ และฟังไม่ได้ว่าเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 ข้อกล่าวหาไม่มีมูล เห็นควรให้ข้อกล่าวหาเป็นอันตกไปส่วนการไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบหรือข้อบังคับแม้จะเป็นความผิดทางวินัย
แต่เนื่องจาก ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ได้พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติตามสัญญาจ้างแล้ว จึงไม่อาจดำเนินการลงโทษทางวินัยได้ จึงเห็นควรยุติการดำเนินการทางวินัย
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 5 เสียงว่าจากการไต่สวนเบื้องต้นไม่ปรากฏว่า นางรตยา จันทรเทียร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นางชวนพิศ ฉายเหมือนวงศ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และนายสุชาติ ศิริโยธิพันธุ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา
ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
ภาพประกอบ รตยา จันทรเทียร จาก https://www.seub.or.th/