‘บิ๊กแจ๊ส’ ร่วมพ่อเมืองปทุมธานี คิกออฟศึกษาใหม่โปรเจ็กต์รถไฟฟ้าจังหวัด ส่อง 5 สายทางเริ่มแรก ที่ปรึกษาเผยยังไม่สรุปรูปแบบที่เหมาะสม แต่ได้มาแล้ว 4 แบบรอเปรียบเทียบ ‘LRT, TRAMS, ART และ BRT’ คาดศึกษาเสร็จปลายปี 2567 นี้ แย้มดันสาย A รังสิต-สวนสัตว์คลอง 6 ปักเป้าปี 72 เริ่มสร้าง เสร็จปี 75
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 21 เมษายน 2567 องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)ปทุมธานี ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล่าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกันจัดประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 โครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ระบบขนส่งมวลชนจังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2567 ณ ห้องประชุมนครรังสิต 2-3 โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต
@จ้าง 4 มหาวิทยาลัย ทำรถไฟฟ้าปทุมฯ
พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี กล่าวว่า ปัจจุบันระบบขนส่งสาธารณะในจังหวัดปทุมธานี เพื่อเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนหลัก ยังขาดประสิทธิภาพและขาดสิ่งอำนวยความสะดวก ซึ่ง อบจ.ปทุมธานี เล็งเห็นความสำคัญเพื่อตอบสนองในการพัฒนาโครงการให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาของประเทศและแผนของจังหวัด โดยมอบหมาย 4 สถาบันการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล่าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกันศึกษาและพัฒนาแผนงานดังกล่าว
โดยการศึกษาเพื่อเชื่อมต่อรถไฟฟ้า 2 สายหลักที่มีเส้นทางเข้ามาใน จ.ปทุมธานี ได้แก่ สายสีเขียวช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต และรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ - รังสิต ซึ่งทั้งสองสายทางเป็นระบบรถไฟฟ้าสายหลักที่จะมีส่วนต่อขยายในอนาคต โดยสายสีเขียวจะไปต่อถึงลำลูกกา ส่วนสายสีแดงจะไปต่อถึงม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และจ.พระนครศรีอยุธยาในอนาคต
พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี
@อีก 10 ปี ปทุมฯแน่นเหมือน กทม.
ด้านนายพงศธร กาญจนะจิตรา รองผู้ว่าฯปทุมธานี กล่าวว่า ปัจจุบัน จ.ปทุมธานี มีประชากรตามทะเบียนราษฎร 1.2 ล้านคน และประชากรแฝงอีกประมาณ 1.6 ล้านคน มีพื้นที่จำกัดและมีความหนาแน่นของประชาชนมากเป็นอันดับ 5 ของประเทศ ทำให้ปัญหาของการขนส่งและการจัดการจราจรทำได้ในระยะสั้น เพราะพื้นที่ในจังหวัด เป็นที่น่าสนใจของนักลงทุนและประชาชนที่จะย้ายเข้ามาอยู่อาศัย โดยเฉลี่ย 1 ปี มีโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ๆ ประเภทบ้านและคอนโดในพื้นที่ถึง 40-50 โครงการ ฉะนั้นใน 10 ปี ข้างต้น จ.ปทุมธานี ก็อาจจะเหมือนกรุงเทพฯ ที่พื้นที่ถนนต่างๆขยายไม่ได้แล้ว จึงต้องมีระบบขนส่งมวลชนทางเลือกอื่น
“สิ่งที่นายกฯ (พล.ต.ท.คำรณวิทย์) เสนอก็คิดมาหลายปีแล้วว่าเป็นทางเลือกหนึ่ง และเชื่อมต่อกรุงเทพฯ เพราะประชาชนส่วนใหญ่เข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ แล้วกลับมาพักอาศัยในเขตจังหวัดปริมณฑล ซึ่งปทุมธานี เป็นหนึ่งในนั้น มันก็ทำให้การจราจรปริมาณรถเพิ่มทุกวัน ก้เป็นโอกาสดี แต่โครงการนี้ไม่ได้ทำ 1-2 ปี ต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนด้วย ไม่งั้นอีก 10 ปี ก็ไม่เกิด วันนี้ต้องนับหนึ่ง เรากับอบจ.ก็พยายามผลักดันเต็มที่” รองผู้ว่าฯปทุมธานีกล่าว
@3 เหตุผลที่ต้องทำ - ทวนแผน M-MAPS 2
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะที่ปรึกษาได้นำเสนอศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ระบบขนส่งมวลชนจังหวัดปทุมธานี มีสาระสำคัญ ดังนี้
1.เหตุผลและความจำเป็น ประการแรก ปัญหาจราจรติดขัดตามถนนและแยกสำคัญต่างๆ ได้แก่ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 305 (รังสิต - นครนายก), ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3312 (ลำลูกกา), แยกบางพูน, ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 346 สายต่างระดับรังสิต–พนมทวน, ถนนเสมาฟ้าคราม และแยกเทคโนปทุมธานี
ประการที่สอง ปัญหาการเขื่อมต่อการเดินทาง บริเวณสถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียวคูคต, สถานีรถไฟชานเมืองสายสีแดงรังสิต และบริเวณท่ารถตู้ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต
และประการที่สาม ปัญหารถโดยสารประจำทางในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถเมล์สภาพเก่า ทรุดโทรม ไม่ปลอดภัย ส่วนหนึ่งมาจากการที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) มีปัญหาขาดทุนสะสมต่อเนื่อง และมีสายทางบริการไม่พอ จนต้องเปิดให้เอกชนมาเดินรถบางสายทาง ซึ่งก็มีปัญหาการทำรอบและแย่งผู้โดยสารกัน จนทำให้การใช้งานขนส่งสาธารณะไม่ปลอดภัย
นอกจากนี้ ทางจังหวัดได้นำแผนพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตรุงเทพมหานครและปริมณฑล(พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 หรือ M-MAPS 2 ของกรมการขนส่งทางราง (ขร.) มาทบทวนร่วมด้วย โดยพบว่าตาม M-MAPS 2 จะมีรถไฟฟ้าอย่างน้อย 3 โครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงคูคต - วงแหวนรอบนอก (ลำลูกกา), รถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงรังสิต - ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และรถไฟฟ้าสายสีเทาช่วงวัชรพล - ลำลูกกา
โดยในแผน M-MAPS 2 ได้กำหนดเส้นทางฟีดเดอร์เชื่อมต่อไว้ว่า 7 สายทางได้แก่ สาย C5 ช่วงคลอง 6 - องครักษ์, สาย C11 ช่วงบางซื่อ - ปทุมธานี, สาย C12 ช่วงเมืองทองธานี - ปทุมธานี, สาย C15 ช่วงม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต - นวนคร, สาย C19 ช่วงธัญบุรี - ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต, สาย C20 ช่วงคลองสาม - คูคต และสาย C26 ช่วงปทุมธานี - ธัญบุรี
@เปิด 5 เส้นทางที่เหมาะสม สาย A นำร่องเร่งดันสร้างปี 72
เมื่อทบทวนแผนแม่บท M-MAPS 2 และทบทวนแผนงานโครงการที่เคยมีในเขตจังหวัดปทุมธานี คณะที่ปรึกษาสรุปได้ 5 เส้นทางเหมาะสม ได้แก่ (ดูภาพประกอบด้านล่าง)
สาย A ช่วงสถานีรถไฟชานเมืองสายสีแดงรังสิต - สวนสัตว์ใหม่คลอง 6 ระยะทาง 16.6 กม. แบ่งออกเป็น 2 ช่วงได้ดังนี้ ช่วงที่ 1 จากสถานีรังสิต ตามแนวทางหลวงหมายเลข 346 จนถึงบริเวณทางยกระดับข้ามถนนวิภาวดีรังสิต ระยะทาง ประมาณ 1.50 กม. เขตทางประมาณ 50 เมตร เป็นถนน 10 ช่องจราจร และช่วงที่ 2 จากบริเวณถนนวิภาวดีรังสิตไปสิ้นสุดที่สวนสัตว์แห่ง ใหม่ (คลองหก) ระยะทางประมาณ 15.10 กม. ซึ่งเป็นถนน ขนาด 6-8 ช่องจราจรเขตทางประมาณ 35-40 เมตร
ซึ่งตามแผนที่ศึกษาไว้ เส้นทางนี้จะเป็นเส้นทางนำร่อง โดยกำหนดกรอบเวลาโครงการไว้ว่า จะศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ และศึกษา EIA ในปี 2567 จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการเสนอโครงการด้วยการขออนุมัติรายงาน EIA ขออนุมัติดำเนินโครงการ และขออนุมัติรายงานการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการนี้ (PPP) ช่วงปี 2568-2569 ก่อนที่ในช่วงปี 2570-2571 จะเป็นช่วงของการออก พ.ร.ฎ.เวนคืน และจะเริ่มก่อสร้างในปี 2572 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี จะแล้วเสร็จให้บริการในปี 2575
สาย ฺB ช่วงสถานีรถไฟชานเมืองสายสีแดงรังสิต - ปทุมธานี จุดเริ่มต้นบริเวณถนนรังสิต - ปทุมธานี วิ่งไปตามแนวทางหลวงหมายเลข 346 ผ่านแยกบางพูน มุ่งหน้าข้ามสะพานปทุมธานี 1 ไปสิ้นสุดที่แยกปทุมวิไล
สาย C ช่วงม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต - สวนสัตว์ใหม่คลอง 6 ระยะทางประมาณ 16.60 กม. แบ่งออกเป็น 3 ช่วงได้แก่ ช่วงที่ 1 ตามแนวถนนคลองหลวง จุดเริ่มต้นอยู่ตรงบริเวณสะพานข้ามทางรถไฟแถวม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ตรงไปตามแนวถนนคลองหลวง ผ่านตลาดไท วัดพระธรรมกาย หออัครศิลปิน จนถึงทางหลวง ปท.3010 เขตทาง 30 เมตร เป็นถนน 6 ช่องจราจร จากนั้นเข้าสู่ช่วงที่ 2 จากทางหลวง ปท.3010 ไปบรรจบถนนเลียบคลองหก ซึ่งบริเวณนี้จะมีการก่อสร้างถนนใหม่ และช่วงที่ 3 ตามแนวถนนเลียบคลอง 6 บรรจบทางหลวง หมายเลข 305 เขตทางประมาณ 14 เมตร เป็นถนน 2 ช่องจราจร
สาย D ช่วงสถานีคลองสี่ (สายสีเขียว)-ถนนรังสิต-นครนายก ระยะทางประมาณ 9.00 กม.
และสาย E ช่วงถนนรังสิต-นครนายก ถึง ถนนคลองหลวง ระยะทาง 8 กม.
@เปิด 4 รูปแบบที่เหมาะสม
ในส่วนของรูปแบบโครงการที่เหมาะสม เบื้องต้นประเมินไว้ว่า รูปแบบระบบขนส่งที่เหมาะสมมากที่สุดมี 4 ระบบ ได้แก่ รถโดยสารด่วนพิเศษ (Bus Rapid Transit, BRT), ระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit, LRT), Automated Guideway Transit System (AGT)หรือระบบรถไฟฟ้าแบบสายสีทองในปัจจุบัน และรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail)
ทั้งนี้ ยังไม่ได้มีการสรุปชัดเจนว่าจะกำหนดให้ใช้แบบใด จะต้องมีการศึกษาปัจจัยที่มีความสำคัญ สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ และวิเคราะห์ความต้องการของประชาชน ไปจนถึงปัจจัยด้านผลกระทบการจราจร ความจุการให้บริการ ความคุ้มค่าการลงทุน ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ผลกระทบด้านแรงสั่นสะเทือนและทัศนียภาพ
@ศึกษา 15 เดือน จบสิ้นปี 67 นี้
สำหรับการศึกษาเบื้องต้นของโครงการ ได้เริ่มไปเมื่อเดือน ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และออกแบบรายละเอียด การจัดทำเอกสารประกวดราคา รวมถึงการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยคาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค. 2567 นี้ต่อไป
ที่มาภาพปก: https://pixabay.com/th/photos/