ครม.ไฟเขียวดำเนินการโครงการ ‘โคแสนล้าน’ นำร่อง พร้อมชดเชยดอกเบี้ยแทนเกษตรกร 2 ปีแรก รวม 450 ล้านบาท ‘โฆษกรัฐบาล’ คาดเกษตรกรได้กำไร 1.9 แสนบาท/ครัวเรือน ใน 5 ปี
...................................
เมื่อวันที่ 18 เม.ย. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการโคแสนล้านนำร่อง กรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท ตามที่คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (กทบ.) เสนอ โดยให้ทดลองนำร่องในบางจัดหวัด และรายงานผลให้ ครม. ทราบ ก่อนจะขยายตัวไปยังจังหวัดอื่นๆต่อไป ส่วนเงื่อนไขในการดำเนินโครงการฯดังกล่าวนั้น ให้เป็นไปตามที่ รมช.คลัง เสนอ
“ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะเป็นผู้ให้กู้กับสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯโดยตรง และให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ เป็นผู้ซื้อแม่โคจากตลาดหรือฟาร์มในพื้นที่ ไม่ใช่รัฐซื้อแจก และตรงส่วนนี้ ได้มีข้อเสนอของทางรัฐมนตรีบางท่านเข้ามา โดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการฯ ได้รับทราบแล้ว และจะรวบรวมข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อนำไปปฏิบัติต่อไป” นายเศรษฐา กล่าว
ด้าน นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการดำเนินงานโครงการโคแสนล้านนำร่อง กรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของกองทุนหมู่บ้านฯ จำนวน 1 แสนครัวเรือน โดยการดำเนินโครงการฯดังกล่าว ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการให้กู้เงินของกระทรวงการคลัง และให้รับความเห็นของที่ประชุม ครม. ไปปรับใช้ในการดำเนินโครงการฯด้วย
“เนื่องจากมีพี่น้องเกษตรกรที่มีปัญหาเรื่องหนี้สินกว่า 13 ล้านราย และรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้เกิดอาชีพเสริม เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม และเพื่อจะได้สามารถไปใช้หนี้ได้ มีรายได้เหลือเก็บไว้ใช้ ดังนั้น รองนายกฯ สมศักดิ์ เทพสุทิน ฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ จึงนำเสนอโครงการโคแสนล้านนำร่อง ซึ่งมีสาระสำคัญว่า ทุกวันนี้พี่น้องประชาชนที่ประกอบอาชีพในภาคเกษตร มีเวลาว่างแฝงอยู่ ไม่ได้ทำอะไร
วันหนึ่ง 4-5 ชั่วโมง ไม่ได้ก่อให้เกิดผลผลิตหรือมูลค่าเพิ่มใดๆ และในที่หัวไร่ปลายนา มีหญ้า มีวัชพืชต่างๆที่วัวสามารถกินเป็นอาหารได้ ซึ่งแต่ละปี ถ้าไม่มีวัวไปกิน หญ้าก็แห้ง ก็ตายไป เป็นทรัพยากรที่สูญเปล่าโดยใช่เหตุ ท่านสมศักดิ์จึงคิดค้นโครงการโคแสนล้านขึ้นมา เพราะโคจะเป็นสื่อ ที่ทำให้พี่น้องภาคเกษตรใช้เวลาว่างที่มีอยู่แล้ว เอามาเลี้ยงโค และให้โคไปกินของฟรี โดยไม่มีต้นทุน จึงเกิดเป็นต้นทางของโคแสนล้าน” นายชัย กล่าว
นายชัย กล่าวด้วยว่า โครงการโคแสนล้านนำร่อง จะใช้วงเงินกู้จาก ธ.ก.ส. 5,000 ล้านบาท เพื่อนำไปปล่อยกู้ให้ครอบครัวเกษตรกร 5 หมื่นบาท/ครอบครัว จำนวน 1 แสนครอบครัว โดยแต่ละครอบครัวจะนำเงินกู้ 5 หมื่นบาท ไปซื้อแม่โค 2 ตัว หรือตัวละไม่เกิน 2.5 หมื่นบาท โดยในช่วง 2 ปีแรก รัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ 4.5% ต่อปี หรือเท่ากับว่ารัฐบาลจะต้องชดเชยดอกเบี้ยให้เกษตรกร 450 ล้านบาท ในช่วง 2 ปีแรก และให้เกษตรกรชำระคืนเงินต้นในปีที่ 4 และปีที่ 5
“ธ.ก.ส.จะคิดดอกเบี้ย 4.5% โดยรัฐบาลจ่ายดอกเบี้ยชดเชยให้ใน 2 ปีแรก ปีหนึ่ง 225 ล้านบาท ถ้า 2 ปี ก็เท่ากับว่ารัฐบาลลงเงินกับโครงการโคแสนล้าน 450 ล้านบาท จากนั้นในปีที่ 3-5 เกษตรกรจะต้องรับผิดชอบดอกเบี้ยเอง และในปีที่ 4-5 เกษตรกรจะต้องจ่ายเงินต้นคืนปีละ 50% คือ ปีละ 2.5 หมื่นบาท 2 ปี ก็ 5 หมื่นบาท แต่ถ้าหากครบกำหนดแล้ว เกษตรกรไม่สามารถชำระหนี้ได้ในปีที่ 4 และปีที่ 5 ดอกเบี้ยจะเพิ่มจาก 4.5% เป็นอัตราดอกเบี้ยปกติบวกค่าพรีเมียม 3%
แต่ถ้าพ้น 5 ปีแล้ว ยังชำระดอกเบี้ยไม่ได้ ดอกเบี้ยจะเพิ่มเป็นดอกเบี้ย MRR บวกด้วย Risk Premium และค่าความเสี่ยงอีก 3% แต่รองนายกฯสมศักดิ์ อธิบายว่า แม่โค 1 ตัว เมื่อซื้อมาแล้ว ภายใน 5 ปี จะให้ลูกให้หลาน 6 ตัว รวมตัวแม่ก็เป็น 7 ตัว ถ้าขายในปีที่ 5 ทั้งหมด วัว 7 ตัวนี้ จะทำรายได้ 1.2 แสนบาท ถ้าซื้อแม่วัว 2 ตัว ก็จะกลายเป็น 2.4 แสนบาท เมื่อคืนเงินต้นไป 5 หมื่นบาท ผู้เข้าร่วมโครงการฯจะเหลือเงิน 1.9 แสนบาท และเสียดอกเบี้ยเล็กน้อย” นายชัย ระบุ
นายชัย ย้ำว่า ที่ผ่านมามีข่าวว่า โครงการฯที่มีลักษณะใกล้เคียงกับโครงการโคแสนล้านนำร่อง แต่มีชื่อเรียกต่างกัน และปรากฏว่าโครงการฯเหล่านั้น ล้มเหลว คุณภาพแม่วัวไม่ได้ แต่โครงการโคแสนล้านในเที่ยวนี้ จะให้เกษตรกรเป็นคนเลือกซื้อเอง เป็นคนตัดสินใจเลือกแม่วัวเอง ไม่ให้หน่วยราชการเป็นคนจัดซื้อให้แล้ว และยืนยันว่าเกษตรกรที่เข้าโครงการโคแสนล้านฯ จะมีกำไร 1.9 แสนบาท/ครัวเรือน ในปีที่ 5 ของโครงการ
“ท่านอาจได้ข้อมูลจากแหล่งการเลี้ยงโคเชิงพาณิชย์ว่า ขณะนี้ราคาตลาดถูกมาก เลี้ยงแล้วขาดทุน แต่ทำไมโครงการนี้บอกว่าเลี้ยงแล้วกำไร ก็เพราะบริบทต่างกันสิ้นเชิง โครงการนี้ไม่จ้างใครเลย เกษตรกรเลี้ยงเอง เอาเวลาที่ว่างไปเลี้ยง อาหารไม่ต้องซื้อเลย กินของฟรีหัวไร่ปลายนา แต่โคเนื้อพาณิชย์ คนก็ต้องจ้าง อาหารต้องซื้อทั้งหมด ถ้าเลี้ยงแบบนั้น มีโอกาสความเสี่ยง ถ้าโครงการนำร่อง 1 แสนครัวเรือนนี้ สำเร็จ ก็จะขยายออกไป
ในที่ประชุมมี รมต.บางท่านบอกว่า ถ้าเลือกได้ ขอให้เลือกเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดด้วย จะดี 2 เด้ง เพราะซังข้าวโพดที่จะต้องเผาทำลาย ก็ตัดเอามาเลี้ยงวัวได้ และลดการเผาตอซังข้าวโพดได้ ขณะที่ รมช.คลัง บอกว่า ผู้ที่เข้าร่วมโครงการได้ ในอดีตกระทรวงคลังจะปล่อยเงินกู้ผ่านกองทุนหมู่บ้านฯ แต่เที่ยวนี้ขอปล่อยตรงไปที่ตัวเกษตรกร โดยจำกัดเฉพาะเกษตรกรที่มีประวัติดีในการชำระเงินกู้ และเป็นเกษตรกรที่สังกัดกองทุนหมู่บ้านฯ และต้องมีประวัติชำระเงินดีด้วย” นายชัยกล่าว
อ่านประกอบ :
ครม.ไฟเขียวหลักการ'โคแสนล้าน' 5 พันล.-มอบ'สทบ.-คลัง-ธ.ก.ส.'หารือชดเชยดอกเบี้ย
'สมศักดิ์'ขอถอนเอง! ครม.เลื่อนถก‘โคแสนล้าน’นำร่อง 5 พันล.-ให้'สทบ.'เร่งพีอาร์สมาชิกฯทราบ