กรรมการสภา มรภ.สารคาม ทวงถามหลัง อว.ส่งหนังสือให้ตรวจสอบการสรรหา-เสนอชื่อโปรดเกล้าฯตั้งนายกสภาฯ ที่มีการร้องเรียนว่า ผลประโยชน์ทับซ้อน รักษาการนายกฯ อ้างส่งเรื่องให้มหาวิทยาลัยดำเนินการแล้ว
จากกรณีที่กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ปปป.) อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อร้องเรียนผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) มหาสารคามรายหนึ่ง ว่าเข้าข่ายกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จากการออกคำสั่งยุติเรื่องการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงอาจารย์รายหนึ่งที่เข้าไปเกี่ยวกับกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการของบุคลากรที่มีการดำเนินการไม่ถูกต้องระเบียบ ซึ่งปัจจุบันอาจารย์รายนี้ ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บริหารในมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม
นอกจากประเด็นดังกล่าวแล้ว มรภ.มหาสารคามยังมีประเด็นที่น่าจับตามองอีกเรื่อง คือ การสรรหานายกสภาฯ
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการเปิดเผยเอกสารร้องเรียน เรื่องกระบวนการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัยขัดกับแนวปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา และแนวปฏิบัติในการเสนอเรื่องที่ต้องนำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ โดยส่งถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี/รัฐมนตรีว่าการ/ปลัดกระทรวงการอุดศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เอกสารดังกล่าวร้องเรียนขอให้ตรวจสอบกระบวนการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม และคัดค้านการเสนอชื่อ รศ.สุวกิจ ศรีปัดถา ซึ่งขณะนี้ดำรงตำแหน่งอุปนายกสภาฯ ทำหน้าที่นายกสภาฯ โปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นนายกสภาฯ โดยอ้างเหตุผล 2 ประเด็น ดังนี้
-
รศ.สุวกิจ เป็นผู้มีส่วนได้เสียมีผลประโยชน์ทับซ้อนเนื่องจากเป็นผู้ร่วมพิจารณาคัดเลือกและแต่งตั้งคณะกรรมการารรหานายกสภาฯด้วย
-
รศ.สุวกิจ ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม มีส่วนเกี่ยวข้องกับการไม่ปฏิบัติตามมติสภามหาวิทยาลัยในการออกประกาศคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามที่ไม่เป็นไปตามข้อบังคับฯ จนทำให้กระบวนการสรรหาอธิการบดีต้องหยุดชะงัก ไม่สามารถได้มาซึ่งตำแหน่งอธิการบดีตัวจริงมาบริหารจัดการมหาวิทยาลัยตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค. 2565 จนถึงปัจจุบัน จนก่อให้เกิดความเสียหายต่อทางมหาวิทยาลัยเป็นอย่างยิ่ง และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จังหวัดมหาสารคามได้ดำเนินการตรวจสอบการร้องเรียนกระบวนการสรรหาอธิการบดีดังกล่าวและส่งสรุปสำนวนไปยัง ป.ป.ช.ภาค 4 ขอนแก่น เพื่อดำเนินการในขั้นตอนต่อไป
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ขณะที่ รศ.สุวกิจ ดำรงตำแหน่งอุปนายกสภาฯ ทำหน้าที่รักษานายกสภาฯ และเป็นประธานสรรหาอธิการบดี ได้มีการออกประกาศขัดกับข้อบังคับ จึงทำให้อาจารย์ที่มีส่วนเกี่ยวกับกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการฯ ที่มีคำสั่งถูกพักราชการในขณะนั้น สามารถสมัครเป็นอธิการบดีได้ ส่งผลให้ไม่สามารถสรรหาอธิการบดีได้จนถึงปัจจุบัน จึงต้องมีการรักษาอธิการบดีมาตั้งแต่ 8 ส.ค. 2565 เป็นต้นมา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามแนวการเสนอเสนอชื่อขึ้นโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกสภานั้น จะต้องมีมติที่ชัดเจน คือ เห็นชอบทุกคนในที่ประชุม โดยไม่มีใครคัดค้าน
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ครั้งที่ 12/2566 เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2566 โดยมี รศ.สุวกิจ เป็นประธาน ในส่วนเรื่องการพิจารณาเสนอเรื่องเพื่อโปรดเกล้าณ แต่งตั้ง รศ.สุวกิจ เป็นนายกสภาฯ นั้น
ผลการลงมติ แบ่งเป็น เห็นชอบให้เสนอชื่อโปรดเกล้าฯ 13 ราย ไม่เห็นชอบ 2 ราย งดออกเสียง 4 ราย โดยมีการระบุถึงเหตุผล เนื่องจาก รศ.สุวกิจ เป็นประธานการชุมแทนชั่วคราว และเห็นควรตรวจสอบประวัติไปยัง ป.ป.ช.อีกครั้งเสียก่อน
รศ.สุวกิจ ศรีปัดถา
ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2567 รศ. ดร.สุทธิพงศ์ หกสุวรรณ กรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้มีบันทึกข้อความถึง นายกสภาฯและกรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม เรื่อง ขอให้พิจารณานำหนังสือลับจาก อว. กรณีการขอเสนอเรื่องเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัยบรรจุวาระเพื่อพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัย หลังจากที่ไม่มีการบรรจุเรื่องที่ อว.ส่งหนังสือมาทวงถามในที่ประชุม
โดย รศ.สุวกิจ ได้ตอบกลับว่าไม่ทราบเรื่องไม่เคยเห็นหนังสือฯดังกล่าว แต่ ผศ.กนกวรรณ ศรีวาปี ในฐานะเลขานุการสภามหาวิทยาลัยได้ตอบคำถามในที่ประชุมสภาฯว่ามีหนังสือลับจาก อว.ส่งถึงนายกสภาฯจริงและเป็นหนังสือเกี่ยวกับการขอเสนอเรื่องเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกสภาฯ ส่งมาถึงเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2567 และได้มอบให้ทางมหาวิทยาลัยดำเนินการแล้ว
ทั้งนี้ รศ. ดร.สุทธิพงศ์ ในฐานะกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ เห็นว่า หนังสือดังกล่าวเป็นการขอเสนอเรื่องเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งนายกสภาฯ มิใช่อำนาจหน้าที่ของทางมหาวิทยาลัย
จึงขอให้ รศ.สุวกิจ ในฐานะอุปนายกสภามหาวิทยาลัยทำหน้าที่แทนนายกสภาฯ และ ผศ.กนกวรรณเลขานุการสภามหาวิทยาลัย นำหนังสือ (ลับ) จาก อว. เรื่องเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งนายกสภาฯ บรรจุวาระในการประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 6/2567 ตามอำนาจหน้าที่ เพื่อให้สภามหาวิทยาลัยพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 18 (8) "พิจารณาเสนอเรื่องเพื่อทรงพระกรุณโปรดเกล้าฯแต่งตั้งและถอดถอนนายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ...." แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547
รศ. ดร.สุทธิพงศ์ หกสุวรรณ
ต่อมาเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2567 รศ.สุวกิจ ได้มีหนังสือตอบกลับถึง รศ.ดร.สุทธิพงศ์ ถึงกรณีที่ไม่ได้นำหนังสือจาก อว.เข้าที่ประชุม ว่า อว.ได้มีหนังสือถึงนายกสภาฯ โดยขอให้มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบข้อร้องเรียนให้เป็นที่ยุติทุกประเด็น และแจ้งผลให้สำนักงานปลัด อว.ทราบ รวมทั้งแนบเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องด้วย เพื่อให้การดำเนินการตรวจสอบข้อร้องเรียนเป็นไปตามหนังสือสั่งการของ อว. จึงได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยพิจารณาดำเนินการ และขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ หากดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว จะแจ้งผลให้สำนักงานปลัด อว. ทราบต่อไป
อ่านประกอบ:
- ปปป.ลุยสอบปมบิ๊กมรภ.สารคาม สั่งยุติสอบวินัยร้ายแรงเอื้อ อ.เอี่ยวคดีขอตำแหน่งวิชาการ
- ขมวด 3 คำสั่ง! 'สอบวินัย-พักราชการ-ยุติเรื่อง' เอื้อ ปย.บิ๊ก มรภ.สารคาม?-ก่อน ปปป.ลุยสอบ
- ทำตามกรอบอำนาจกม.! อดีตรษก.อธิการ มรภ.สารคาม แจงปมสั่งยุติสอบวินัยฯ-ปปป.จ่อทวงถามรอบ 2
- ขีดเส้น 2 สัปดาห์! ปปป.ให้เวลามรภ.สารคาม แจงปมยุติสอบวินัยร้ายแรง อ.คดีตำแหน่งวิชาการ
ประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง: