ปปง.อายัดเงิน ‘ยอร์จ ชอบเปอร์’ พวก 2 ครั้ง 17 รายการ 35.5 ล. ฉ้อโกงพฤติกรรมหลอกผู้เสียหายหลากรูปแบบทั้งร่วมซื้อที่ดินหลุดจํานองแบงก์ไทยพาณิชย์ให้ผลตอบแทน 30% ชักชวนร่วมโครงการขุดแร่หายากประเทศจีนอ้างเป็นที่ปรึกษา สนง.ทรัพย์สินฯ ถูกแจ้งความ ศาลสั่งจำคุก 2 คดี 3 ปี 19 เดือน 15 วัน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) มีคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมที่ ย.55/2567 ลงวันที่ 12 มี.ค.2567 เรื่อง อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว (เพิ่มเติม) รายนายยอร์จ ชอบเปอร์ กรณีมีพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ เป็นทรัพยสินประเภทสิทธิการเช่าและสิทธิที่จะได้ใช้บริการ และเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร 4 รายการ รวมทั้งสิ้น 21,873,598.46 บาท
โดยมีพฤติกรรมฉ้อโกงหลอกลวงให้ร่วมลงทุนในลักษณะต่างๆ ซึ่งอ้างว่าจะได้รับเงินผลตอบแทนในอัตราสูง และหลอกลวงให้ผู้เสียหายไปไปกู้ยืมเงินจากผู้อื่นมาให้นายยอร์จ ชอบเปอร์ อ้างว่าจะชดใช้คืนแต่ไม่ชดใช้คืน
การอายัดทรัพย์สินครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ก่อนหน้านี้คณะกรรมการธุรกรรมได้มีคำสั่ง ที่ ย. 239/2566 ลงวันที่ 7 ธันวาคม 2566 อายัดทรัพย์สินนายยอร์จ ชอบเปอร์ กับพวก จำนวน 13 รายการ ได้แก่ เงินในบัญชีเงินฝาก ในชื่อนายยอร์จ และ น.ส.ชลนิรศน์ ศรีเกษตรสรากุล รวม 13 บัญชี รวมทั้งสิ้น 13,716,053.11 บาท
รวม 2 ครั้ง 17 รายการ 35,589,651.57 บาท
เปิดพติการณ์อ้างเป็นที่ปรึกษา สนง.ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
คำสั่งอายัดทรัพย์ระบุที่มาและพฤติการณ์ของนายยอร์จ ชอบเปอร์ว่า สำนักงาน ปปง. ได้รับการร้องเรียน จากประชาชนผู้เสียหายระหว่างวันที่ 3 กันยายน 2563 ถึงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 แจ้งว่าได้ถูกนายยอร์จ ชอบเปอร์ ฉ้อโกงหลอกลวงให้ร่วมลงทุนในลักษณะต่างๆ ซึ่งอ้างว่าจะได้รับเงินผลตอบแทนในอัตราสูง และหลอกลวงให้ผู้เสียหายไปไปกู้ยืมเงินจากผู้อื่นมาให้นายยอร์จ ชอบเปอร์ โดยอ้างว่าจะชดใช้คืนให้ ซึ่งเป็นกรณีมีพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ กล่าวคือ
ระหว่างวันที่ 17 ธันวาคม 2558 ถึงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 นายยอร์จ ชอบเปอร์ ได้ชักชวนให้ผู้เสียหายร่วมลงทุนซื้อที่ดินหลุดจํานองของธนาคารไทยพาณิชย์ จํากัด (มหาชน) โดยจะได้รับผลตอบแทนร้อยละ 30 ของเงินที่ลงทุนต่อเดือน ผู้เสียหายหลงเชื่อ จึงได้โอนเงินเข้า บัญชีเงินฝากธนาคารของนายยอร์จ ชอบเปอร์ หลายครั้ง และได้ชักชวนให้เข้าร่วมลงทุนโครงการลงทุน ขุดแร่หายาก (RARE EARTH) ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยจะได้รับผลตอบแทนเป็นจำนวน 5 เท่า ของเงินลงทุน ภายในระยะเวลา 3 เดือน นอกจากนี้ได้หลอกผู้เสียหายรายอื่นให้ไปกู้ยืมเงินจากบุคคลอื่นมาให้ โดยอ้างว่าจะใช้เงินคืนให้ภายใน 2 - 3 วัน แต่ไม่ได้ชดใช้เงินกู้ยืมให้ตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด และได้อ้างว่า ตนเองเป็นที่ปรึกษาของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีการหลอกผู้เสียหายว่าจะให้ออกแบบให้โดยให้ผลตอบแทนทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงมอบเงินให้นายยอร์จ ชอบเปอร์ ได้กระทำการฉ้อโกง ซ้ำ ๆ กันเป็นปกติธุระ ซึ่งผู้เสียหายบางส่วนได้มีการแจ้งความร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีอาญา
โดนจำคุก 2 คดี 3 ปี 19 เดือน 15 วัน คืนเงินนับสิบล.
ในคดีของผู้ร้องเรียนที่ 1 ศาลแขวงพระนครเหนือในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ. 2985/2563 หมายเลขแดงที่ อ. 3278/2563 ได้มีคําพิพากษาว่านายยอร์จ ชอบเปอร์ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 จําคุก 2 ปี 13 เดือน 15 วัน ให้คืนเงินแก่โจทก์ร่วมที่ 1 จำนวน 28,450,000 บาท และคืนเงินให้แก่โจทก์ร่วมที่ 2 จำนวน 5,585,000 บาท
ส่วนคดีของผู้ร้องเรียนที่ 3 ซึ่งได้รับความเสียหายจำนวน 20,565,030 บาท ศาลแขวงพระนครใต้ ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ. 2754/2561 หมายเลขแดงที่ อ. 1516/2562 ได้มีคําพิพากษาว่า นายยอร์จ ชอบเปอร์ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 คงจําคุก 1 ปี 6 เดือน นับโทษจําคุก ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.3278/2563 ของศาลแขวงพระนครเหนือ ซึ่งเป็นกรณีมีพฤติการณ์ แห่งการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ อันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐาน ตามมาตรา 3 (18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านายยอร์จ ชอบเปอร์ กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าว
ต่อมาคณะกรรมการธุรกรรมได้มีคำสั่ง ที่ ย. 239/2566 ลงวันที่ 7 ธันวาคม 2566 เรื่อง อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว รายนายยอร์จ ชอบเปอร์ กับพวก จำนวน 13 รายการ พร้อมดอกผล มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน (เก้าสิบวัน) นั้น
จากการตรวจสอบรายงานการทำธุรกรรมหรือข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมของบุคคล รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินในคดีดังกล่าว พบข้อมูลเพิ่มเติมว่า นางสาวชลธิรศน์ ศรีเกษตรสรากุล นายจิรวัฒน์ นันทัยเกื้อกูล และ นายมิติภพ บุญที เป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือมีสิทธิครอบครองในทรัพย์สินเพิ่มเติมอีก จำนวน 4 รายการ ประกอบด้วย สิทธิการเช่า และสิทธิที่จะได้ใช้บริการ และเงินในบัญชีเงินฝาก ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบแล้ว ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และเนื่องจากทรัพย์สินดังกล่าวเป็นสังหาริมทรัพย์ประเภท เงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร สิทธิการเช่าและสิทธิที่จะได้ใช้บริการ อันเป็นทรัพย์สินที่สามารถโอน ยักย้าย ปกปิดหรือซ่อนเร้นได้โดยง่าย หากมิได้มีการออกคำสั่งให้อายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราว เมื่อเจ้าของหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีสิทธิในทรัพย์สินในทรัพย์สินดำเนินการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าวไปเสีย และหากต่อมาศาลได้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินสำนักงาน ปปง. อาจไม่สามารถ ติดตามทรัพย์สินดังกล่าวกลับคืนมาได้ จึงเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านายยอร์จ ชอบเปอร์ กับพวกได้ไป ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดและอาจจะมีการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าว
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 34 (3) และมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มติคณะกรรมการธุรกรรมในการประชุม ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 และระเบียบคณะกรรมการธุรกรรมว่าด้วยการรับเรื่อง การตรวจสอบ การพิจารณาดำเนินการ และการควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2556 ข้อ 25 คณะกรรมการธุรกรรมจึงมีคำสั่งอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว (เพิ่มเติม) จำนวน 4 รายการ พร้อมดอกผล ได้แก่
-
สิทธิการเช่าและสิทธิที่จะได้ใช้บริการของนางสาวชลธิรศน์ ศรีเกษตรสรากุล ในห้องพัก เลขที่ 88/41 (603) ชั้น 6 ขนาด 98.05 ตารางเมตร โครงการเดอะ เรสซิเดนซ์ แอท สินธร เคมปินสกี้ โฮเทล แบงค็อก ซอยต้นสน ตำบลลุมพินี อำเภอปทุมวัน จังหวัดกรุงเทพมหานคร ตั้งบนเอกสารสิทธิเลขที่ 710 ตำบลลุมพินี อำเภอปทุมวัน จังหวัดกรุงเทพมหานคร ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ราคาประเมิน 21,500,000 บาท (ยี่สิบเอ็ดล้านห้าแสนบาทถ้วน) ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566
-
เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย จํากัด (มหาชน) สาขา สยามพารากอน เลขที่บัญชี 153-3-51585-8 ชื่อบัญชีนายจิรวัฒน์ นันทัยเกื้อกูล ยอดเงินคงเหลือ 15,656.56 บาท (หนึ่งหมื่นห้าพัน หกร้อยห้าสิบหกบาทห้าสิบหกสตางค์) ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567
-
เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย จํากัด (มหาชน) สาขา เซ็นทรัลปิ่นเกล้า เลขที่บัญชี 758-2-71100-8 ชื่อบัญชีนายมิติภพ บุญที ยอดเงินคงเหลือ 121,692.99 บาท (หนึ่งแสนสองหมื่นหนึ่งพันหกร้อยเก้าสิบสองบาทเก้าสิบเก้าสตางค์) ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567
-
เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จํากัด (มหาชน) สาขา สยามพารากอน เลขที่บัญชี 531-1-58234-8 ชื่อบัญชีนายจิรวัฒน์ นันทัยเกื้อกูล ยอดเงินคงเหลือ 236,248.91 บาท (สองแสนสามหมื่นหกพันสองร้อยสี่สิบแปดบาทเก้าสิบเอ็ดสตางค์) ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567
รวมราคาจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 21,873,598.46 บาท (ยี่สิบเอ็ดล้านแปดแสนเจ็ดหมื่นสามพันห้าร้อยเก้าสิบแปดบาทสี่สิบหกสตางค์) พร้อมดอกผล มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน (เก้าสิบวัน) นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ กล่าวคือ นับตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2567 ถึงวันที่ 9 มิถุนายน 2567
ทั้งนี้ให้รวมถึงเงินหรือทรัพย์สินที่มาจากการจำหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใดๆ ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวหรือสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์หรือดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวด้วย
รายละเอียดการอายัดทรัพย์สินที่นายยอร์จ ชอบเปอร์ กับพวก จำนวน 13 รายการ (ดูลิงก์ประกอบ) https://www.amlo.go.th/amlo-intranet/images/CommandHo_2566/239-2566.pdf