‘เศรษฐา’ ดำริกลางครม. 2 เม.ย. 67 ย้ายท่าเรือกรุงเทพฯ หลังเผชิญฝุ่นพิษและความแออัด ด้าน ‘มนพร’ แจง ‘อิศรา’ แค่ย้ายบางส่วน เผยได้คุย ผอ.กทท.แล้ว เตรียมตั้งคณะทำงานร่วมศึกษาแนวทางต่อไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 8 เมษายน 2567 รายงานข่าวระบุว่า เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2567 นายธวัชชัย จันทร์ไพศาลสิน ที่ปรึกษาประจำสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีหนังสือที่ นร.0505/ว(ล) 7421 ลงวันที่ 4 เม.ย. 2567 เรื่อง การพัฒนาพื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) โดยเป็นการทำหนังสือถึงกระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) มีเนื้อหาดังนี้
ในคราวการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2567 นายกรัฐมนตรีเสนอว่าเพื่อให้การพัฒนาพื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพฯ (คลองเตย) ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เป็นไปด้วยความเรียบร้อยเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าว รวมทั้งประชาชนชาวกรุงเทพฯในภาพรวม ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองที่กำหนดให้พิจารณาการย้ายท่าเรือกรุงเทพออกจากพื้นที่กรุงเทพฯ จึงขอมอบหมายการดำเนินการดังนี้
1.ให้กระทรวงคมนาคมร่วมกับ กทท. กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของการย้ายท่าเรือกรุงเทพฯออกจากพื้นที่ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยให้พิจารณาให้ครบวงจรครอบคลุมส่วนการย้ายคลังและโรงเก็บน้ำมันที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงด้วย แล้วให้รายงานผลต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป
2.กระทรวงคมนาคมร่วมกับกทท. กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพฯ ในส่วนปัจจุบันที่ยังเป็นพื้นที่ว่างหรือพื้นที่ที่สามารถนำมาปรับปรุงพัฒนาใหม่เพื่อใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดยจะเป็นการแก้ปัญหาต่างๆในพื้นที่ เช่น ปัญหาชุมชนแออัด ปัญหาจราจร และปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ทั้งนี้ให้การจัดทำแผนการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้ชัดเจนเหมาะสมและแล้วเสร็จโดยเร็วโดยควรใช้พื้นที่ในเพื่อประโยชน์สาธารณะของกรุงเทพเป็นสำคัญแล้วให้รายงานผลต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป
@’มนพร’ แจงไม่ได้ย้ายหมด จ่อตั้งคณะทำงานศึกษา
ด้านนางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะกำกับดูแลการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า ในวันที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์ที่แล้ว นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง มีการหารือในที่ประชุมครม.ถึงกรณีดังกล่าวจริง แต่ไม่ได้บอกว่า จะให้ย้ายท่าเรือกรุงเทพฯ ออกไปทั้งหมด
เพียงแต่ในที่ประชุมครม.เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2567 ที่ผ่านมา หลายหน่วยงานได้แสดงความเห็นถึงข้อกังวลกรณีที่บริเวณดังกล่าวมีโรงงานอุตสาหกรรมและโรงกลั่นน้ำมันอยู่บริเวณนั้นเป็นจำนวนมาก นายกฯพอได้ฟังแล้ว ก้เลยหารือว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีมาตรการแนวทางที่จะย้ายท่าเรือกรุงเทพฯออกไปบางส่วน ย้ำว่าบางส่วน ไม่ใช่ย้ายออกทั้งหมด แล้วนำพื้นที่บางส่วนที่ย้ายออกไปพัฒนาเป็นสวนสาธารณะให้คนกรุงเทพฯ และใช้พื้นที่ตรงนั้นให้เกิดประุโยชน์ เพราะปัจจุบันเต็มไปด้วยที่รกร้างบ้าง แหล่งเสื่อมโทรมบ้าง ชุมชนบุกรุกบ้าง จึงให้กระทรวงคมนาคมหาแนวทางในการลดความแออัดลง
“ตอนนี้เรามีแหลมฉบังแล้ว ซึ่งการท่าเรือน่าจะลองปรับปรุงให้เป็นท่าเรือท่องเที่ยวส่วนหนึ่งได้หรือไม่ หรือปรับปรุงเป็น Home Port (ท่าเรือหลัก) และอาจจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวเข้ามา อีกทั้งท่าเรือกรุงเทพฯก็มีข้อจำกัดเรื่องของการไม่ใช่ท่าเรือน้ำลึก ดังนั้นการโยกย้ายบางส่วนไปอยู่ที่แหลมฉบังน่าจะเวิร์คกว่า” รมช.คมนาคมกล่าว
นางมนพรกล่าวต่อว่า หลังจากที่นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการ ปัจจุบัน กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ เพราะเดิมทีทาง กทท. ก็มีผลการศึกษาเรื่องนี้รองรับไว้อยู่แล้ว ซึ่งได้หารือกับนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผอ.กทท.แล้ว ซึ่งทาง กทท.ก็แจ้งกลับมาว่า นอกจากแผนศึกษาแล้วยังต้องขอพิจารณาถึงสัญญาเช่า สัญญาจ้างที่เซ็นสัญญาไว้เหลือกี่ปี ซึ่งยังต้องดูอีกหลายอย่าง
มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะกำกับดูแลการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.)
ที่มาภาพปกท่าเรือกรุงเทพฯ : วิกิพีเดีย
อ่านประกอบ