‘คมนาคม’ ยังไม่มีแผนย้าย ‘ท่าเรือคลองเตย’ หลัง ‘ชัชชาติ’ ผุดไอเดียเสนอรัฐบาลหน้า ชี้ย้ายออกไปกระทบประเทศด้านเศรษฐกิจ รู้อยู่แล้วปัญหา ‘PM2.5-จราจรติดขัด’ทำให้คนกรุงกังวล ก่อนกาง 5 แผนงานลดปัญหา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 3 มีนาคม 2566 จากกรณีที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีแนวคิดคิดการย้ายท่าเรือคลองเตย และจะเสนอให้เอาแผนวาระแห่งชาติมาปรับหรือพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง โดยจะให้รัฐบาลมาช่วยพิจารณาด้วย เพราะอยู่นอกเหนืออำนาจกรุงเทพมหานครนั้น
@’คมนาคม’ ยันไม่ย้าย แต่มีแผนปรับปรุง
ล่าสุด แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า ทาง กทม.โดยผู้ว่าชัชชาติ ยังไม่ได้แจ้งหรือบอกกล่าวแนวคิดดังกล่าวให้ทางกระทรวงและการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ในฐานะหน่วยงานที่กำกับท่าเรือคลองเตยรับทราบอย่างเป็นทางการ แต่เบื้องต้นผู้บริหารได้รับรู้ถึงแนวคิดถึงดังกล่าวจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนแล้ว
และตอนนี้กระทรวงก็ยังไม่มีความคิดที่จะย้ายท่าเรือคลองเตยออกไปจากพื้นที่ปัจจุบัน เพราะยังมีสินค้าและผลิตภัณฑ์หลายๆชนิด ที่ต้องนำมาส่งออก/นำเข้า และคัดแยกสินค้าเพื่อกระจายต่อออกไปเป็นจำนวนมาก โดยปัจจุบันท่าเรือคลองเตยรองรับจำนวนตู้คอนเทนเนอร์เฉลี่ยปีละ 1.4 ล้านTEU/ปี หากย้ายออกไป อาจจะกระทบกับภวาะการส่งออกและนำเข้าของประเทศ ซึ่งจะกระทบกับสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศตามลำดับ
ส่วนที่นายชัชชาติกังวลเกี่ยวกับท่าเรือคลองเตย 2 ประเด็นคือ ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 และปัญหาจราจรแออัดจากการที่มีรถบรรทุกตู้เทนเนอร์เข้าออกเป็นจำนวนมากนั้น กระทรวงและกทท.ทราบดีถึงปัญหาดังกล่าว และมีแผนที่จะปรับปรุงท่าเรือคลองเตยใหม่ โดยเพิ่มความเป็นท่าเรือสีเขียวและในอนาคตจะยกระดับให้เป็นท่าเรือท่องเที่ยวต่อไปในอนาคต
@เปิด 3 แผนลดฝุ่น PM2.5
ซึ่งการจะทำให้ท่าเรือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และลดมลพิษ ส่วนหนึ่งจะต้องทำให้ท่าเรือควบคุมการขนส่งภายในด้วยระบบอัตโนมัติให้ได้มากที่สุด ภายในปีนี้จะดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือฝั่งตะวันตกเป็นท่าเรือกึ่งอัตโนมัติ (Semi-Automated Container Terminal) วงเงิน 84 ล้านบาท ความคืบหน้าสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ให้ความเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว และ กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างพิจารณา และคณะกรรมการ (บอร์ด) กทท. เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 ในคราวประชุมครั้งที่ 9/2565 ได้อนุมัติงบประมาณเพื่อออกแบบรายละเอียดฯ เป็นเงิน 66.00 ล้านบาท และค่าจ้าง ที่ปรึกษาจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EHIA) เป็นเงิน 25.00 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดซื้อจัดจ้าง
และได้ร่างแผนการพัฒนาระบบการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และ สิ่งแวดล้อมท่าเรือ (Port Safety, Health and Environmental Management System : PSHEMS) ของท่าเรือกรุงเทพไว้แล้ว
และเพื่อช่วยบรรเทาภาวะฝุ่นละออง PM2.5 ในกรุงเทพฯ ก็ได้เตรียมศึกษาการหาพื้นที่ท่าเรือเอกชนสำหรับดำเนินการนำสินค้าส่วนหนึ่งจากท่าเรือกรุงเทพขนย้ายไปไว้รอ ก่อนที่จะมีการนำไปกระจายต่อ ซึ่งเห็นว่าพื้นที่ที่เหมาะสมคือ จ.พระนครศรีอยุธยา เพราะอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯมาก และร่องน้ำลึกพอที่จะรองรับเรือสินค้าได้ เพียงแต่มีข้อกังวลเกี่ยวกับสะพานข้ามแม่น้ำบางแห่งที่เรือสินค้าอาจจะลอดไม่ได้เท่านั้น โดยคาดว่าในปลายปี 2566 นี้ ผลการศึกษาจะแล้วเสร็จ
@จับมือ กทพ. ผุดทางด่วน S1
ขณะที่ปัญหาจราจรแออัด ก็มีแผนงานเตรียมไว้ 2 โครงการคือ 1. โครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) ระยะทาง 2.25 กม. วงเงินประมาณ 2,400 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ปัจจุบันอยู่ระหว่างขออนุมัติรายงาน EIA และหารือร่วมกับกทพ.ถึงสัดส่วนการร่วมลงทุนในโครงการนี้ หากโครงการสามารถดำเนินการได้คาดว่ารับจราจรรถทุกชนิดได้ประมาณ 14,400 คัน/วัน และ 2. แผนขนส่งทางน้ำที่จะใช้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นขนส่งสายหลัก เพื่อแบ่งเบาการจราจรทางบกและไม่ต้องผ่านท่าเรือคลองเตยอีก กำลังวางแผนจะศึกษาอยู่
สำหรับท่าเรือคลองเตย หรือท่าเรือกรุงเทพ เปิดให้บริการมาตั้งแต่ พ.ศ.2490 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาประมาณ 76 ปี มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 2,353 ไร่ เป็นพื้นที่ภายในเขตรั้วศุลกากรที่ใช้สำหรับให้บริการในปัจจุบันประมาณ 856 ไร่
แนวเส้นทางทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1)
ภาพจาก: การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)
อ่านประกอบ
‘ชัชชาติ’ เสนอรัฐบาลใหม่ ย้ายท่าเรือคลองเตย ก่อนเร่งศึกษาหารายได้เข้า กทม.เพิ่ม