โฆษก ปปง.แจงพร้อมสอบเหตุสื่อบังกลาเทศตีข่าว อดีต ผอ.แบงก์ชาติใช้บัญชีในไทยฟอกเงิน 319 ล. แจงขั้นตอนต้องตรวจสอบกับสถาบันการเงิน มีรายงานเข้ามาหลังมีข่าวหรือไม่-ต้องรอผลข้อมูลหลังประสานกับ ตปท.
สืบเนื่องจากที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอข่าวการสืบสวนคดีฟอกเงินที่ประเทศบังกลาเทศ ซึ่งปรากฎข้อมูลการสืบสวนว่ามีการใช้บัญชีธนาคารที่ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของการฟอกเงิน
โดยสื่อในบังกลาเทศได้รายงานผลการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่บังกลาเทศหรือ ACC พบว่านายรอน ฮาเก้ ซิกเดอร์ (Ron Haque Sikder) อดีตผู้อำนวยการธนาคารแห่งชาติบังกลาเทศ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการ Sikder Group และนายริค ฮาเก้ ซิกเดอร์ ผู้เป็นน้องชายพบว่ามีพฤติกรรมการฟอกเงินคิดเป็นเงินไทยประมาณ 319 ล้านบาท
จากกรณีดังกล่าวสำนักข่าวอิศราได้ติดต่อสอบถามไปยังนายวิทยา นีติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมายรองโฆษกประจำสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)โดยนายวิทยากล่าวว่าทาง ปปง.เห็นข่าวของทางสำนักข่าวอิศราแล้ว และกำลังติดตามตรวจสอบในเรื่องนี้อยู่
“ปปง.อยู่ระหว่างการเก็บข้อมูลเบื้องต้น โดยหลักถ้ามีการทำธุรกรรมที่ไทย การฟอกเงินนั้นต้องดูว่ามีการนำเอาทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานตามกฎหมาย ปปง. มันถึงจะเป็นการฟอกเงินตามกฎหมาย และต้องดูว่าธนาคารมีการรายงานธุรกรรมมาที่ ปปง.หรือไม่ ซึ่งธนาคารเขาก็อาจจะยังไม่รู้ข่าวในบังกลาเทศก็ได้ ถ้าไม่รู้ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าตอนนี้มันมีข่าว เขา(ธนาคาร)ก็อาจจะรายงานมาทีหลังก็ได้ เรามีกองกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน การปฏิบัติตามกฎหมาย ปปง.” นายวิทยากล่าว
โฆษก ปปง.กล่าวต่อไปว่าในบริบทของคดี ถ้าเป็นเรื่องระหว่างประเทศ เราก็มีกองข่าวกรองทางการเงินและความร่วมมือระหว่างประเทศทำหน้าที่ในกรณีดังกล่าว เพราะว่าความผิดตามกฎหมายมูลฐาน ปปง. แม้จะเกิดในต่างประเทศ มันก็ถือเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายฟอกเงินด้วย อาทิ มันเป็นเรื่องทุจริตหรือเรื่องฉ้อโกงหรือไม่ ซึ่งนี่ก็ต้องมีรายละเอียดในส่วนของการประสานข้อมูล
“ปปง.อยู่ในระหว่างการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นก่อนคือในส่วนของธนาคารว่าได้มีการรายงานข้อมูลมาหรือไม่ กับสองกรณีความผิดมูลฐานนั้นอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลว่ามีการประสานงานเข้ามาหรือไม่ เรามีหน่วยข่าวกรองทางการเงินระหว่างประเทศในการประสานข้อมูลกันอยู่ ก็เหมือนกับของเรา ถ้าหากเรามีคนที่ไปทำผิดกฎหมายต่างประเทศ เราก็ต้องมีการประสานข้อมูลไปด้วย ก็คงต้องขอเวลา ปปง.ในการทำงานนิดหนึ่ง ” นายวิทยากล่าวและกล่าวต่อไปว่าทาง ปปง.นั้นมีช่องทางในการประสานข้อมูลกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่บังกลาเทศ (ACC) และก็มีความสัมพันธ์ในการป้องกันการทุจริตอันดีกับทางบังกลาเทศอยู่แล้ว