ป.ป.ช.บังกลาเทศยื่นฟ้อง อดีต ผอ.แบงก์ชาติ-น้องชาย เหตุใช้บัญชีธนาคารในไทยฟอกเงิน 319 ล. เผยพฤติการณ์สมคบเจ้าหน้าที่แบงก์ชาติ อนุมัติใช้บัตรเครดิตเกินวงเงิน ไม่ต้องชำระหนี้ เผยมีกรณีโอนเงินหลายประเทศก่อนโอนกลับมาบัญชีที่ไทย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวการสืบสวนคดีฟอกเงินที่ประเทศบังกลาเทศ ซึ่งปรากฎข้อมูลการสืบสวนว่ามีการใช้บัญชีธนาคารที่ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของการฟอกเงิน
โดยสื่อในบังกลาเทศได้รายงานผลการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่บังกลาเทศหรือ ACC พบว่านายรอน ฮาเก้ ซิกเดอร์ (Ron Haque Sikder) อดีตผู้อำนวยการธนาคารแห่งชาติบังกลาเทศ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการ Sikder Group และนายริค ฮาเก้ ซิกเดอร์ ผู้เป็นน้องชายพบว่ามีพฤติกรรมการฟอกเงินคิดเป็นเงินไทยประมาณ 319 ล้านบาท
นายเบนจิร์ อาเหม็ด ผู้อำนวยการ ACC ได้ทำเรื่องยื่นฟ้องต่อนายรอนและนายริค อดีตผู้อำนวยการแบงก์ชาติบังกลาเทศ และยังยื่นฟ้องต่อเจ้าหน้าที่แบงก์ชาติฯอีกห้าคนที่ทำงานในสำนักงานกรุงธากาเมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา ด้วยข้อหาทุจริตและข้อหาการฟอกเงินตามกฎหมายการป้องกันการฟอกเงิน
ผลการสอบสวนของ ACC พบว่านายรอนและนายริคฟอกเงินไปทั้งสิ้น 8,714,724 ดอลลาร์สหรัฐฯ (319,481,781) ตามอัตราแลกเปลี่ยนปี 2560 ซึ่งเป็นช่วงที่มีพฤติกรมการฟอกเงินเกิดขึ้น โดยมีการใช้บัตรเครดิตจากต่างประเทศของพวกเขาดำเนินการฟอกเงินที่มาจากแบงก์ชาติฯ,มีการฝ่าฝืนแนวทางการทําธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและฝ่าฝืนแนวทางที่ต้องมีการดำเนินการอย่างรัดกุมเพื่อจัดหาเงินทุนให้กับผู้บริโภคในประเทศ
นายรอน ซิกเดอร์ได้ใช้จ่ายเงินกว่า 6,092,225 ดอลลาร์สหรัฐฯ (223,286,138 บาท) จากแบงก์ชาติฯ โดยเป็นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตระหว่างประเทศจำนวน 7 ใบในช่วง 5 ปีนับตั้งแต่ปี 2560-2564 แต่ว่ายอดจำกัดการใช้งานบัตรเครดิตจำนวนดังกล่าวนั้นจำกัดวงเงินการใช้จ่ายในช่วงระยะเวลานั้นว่าอยู่ที่ 60,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (2,200,200 บาท) เท่านั้น ส่วนนายริคก็ใช้จ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตไปจำนวน 2,622,499 ดอลลาร์สหรัฐฯ (96,195,885 บาท) ทั้งที่มีลิมิตการใช้จ่ายอยู่ที่ 60,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เช่นกัน
การสอบสวนระบุต่อไปว่านายมาห์ฟูซูร์ เราะห์มาน หัวหน้าแผนกบัตรเครดิตของแบงก์ชาติฯ เป็นผู้ที่อนุญาตให้มียอดวงเงินคงเหลือสำหรับการใช้งานบัตรเครดิตระหว่างประเทศของนายรอนและนายริค ซึ่งการกระทำนี้ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายเพราะเป็นการปกปิดข้อมูลจากบอร์ดบริหารงานแบงก์ชาติฯ
ผลการสอบสวนได้อ้างรายงานข้อมูลหน่วยข่าวกรองทางการเงินของบังกลาเทศที่ส่งไป ACC เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2564 ระบุว่าหน่วยงานต่อต้านการรับสินบนพบว่ามีบัญชีธนาคาร 20 บัญชีของนายรอนและนายริคและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยพวกเขาดำเนินการในประเทศไทย ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีการฟอกเงินจากแบงก์ชาติฯ
มีรายงานว่ามีการโอนเงินจากสหรัฐอเมริกา,สิงคโปร์,ไทย,สวิตเซอร์แลนด์,จีน,เวียดนาม,ออสเตรเลีย,สหราชอาณาจักร และรัสเซียส่งตรงไปถึงบัญชีที่ประเทศไทย
ACC รายงานว่าตามกฎการชำระหนี้บัตรเครดิต จะต้องมีการชำระกันในวันที่กำหนดในทุกเดือน แต่อดีตกรรมการแบงก์ชาติฯ 2 คนไม่ได้ชำระเงินกู้ พวกเขายังคงใช้บัตรเครดิตในแต่ละใบนานถึงหนึ่งปี โดยไม่ชำระเงินกู้ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจกรรมการในทางที่ผิด
สำหรับที่ไปที่มาของการสืบคดีนี้มาจากการกล่าวหาว่านายรอน ซึ่งในปี 2563 เขาเป็นผู้อำนวยการบริหารบริษัท Sikder Group ได้ร่วมมือกับน้องชายอีกคนชื่อว่าดีปู ซิกเดอร์ ทําร้ายเจ้าหน้าที่สองคนของธนาคารเพื่อการส่งออกและนําเข้าแห่งบังคลาเทศ หรือว่าเอ็กซิมแบงก์
ทางเอ็กซิมแบงก์ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2563 ระบุว่าเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2563 กรรมการผู้จัดการเอ็กซิมแบงก์ 2 คนได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบทรัพย์สินของ Sikder Group เพื่อจะนำมาใช้เป็นหลักประกันเงินกู้ แต่กับถูกนายรอนและนายดีปู กลักพาตัว ทรมาน และข่มขู่ ด้วยเหตุผลที่ว่ากรรมการจากเอ็กซิมแบงก์ปฏิเสธที่จะประเมินสินทรัพย์เพื่อนำเป็นหลักจำนองตามที่ Sikder Group ต้องการ ส่งผลทำให้หนึ่งในกรรมการเอ็กซิมแบงก์ถูกลอบยิงขณะลงพื้นที่ แต่เขามามารถหลบหนีมาได้โดยไม่ได้รับบาดเจ็บ
และหลังจากเหตุลอบยิงนายรอนและนายดีปูก็ได้หนีมาที่กรุงเทพด้วยเครื่องบินส่วนตัวในวันที่ 25 พ.ค.2563
ต่อมานายรอนถูกจับกุมที่สนามบิน เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2564 ขณะเขากลับเข้าประเทศบังกลาเทศจากนครดูไบ อย่างไรก็ตามหลายชั่วโมงหลังการจับกุมนายรอนก็ได้รับการประกันตัวในคดีนี้
โดยตำรวจได้เคลียร์ข้อกล่าวหาของนายรอนและนายดีปู ตามรายงานที่ยื่นต่อศาลเมื่อวันที่ 9 ส.ค.2565 และในวันที่ 13 ธ.ค. 2565 ศาลสูงบังกลาเทศได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสอบสวนข้อหาฟอกเงินที่เกี่ยวกับนายรอนและสมาชิกในครอบครัวของเขา
เรียบเรียงจาก:https://bdnews24.com/bangladesh/qx0yx0n4mz