‘ศาลปกครองสูงสุด’ พิพากษากลับ ยกฟ้องคดีเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างฯ อาคาร‘มหาดเล็ก เรสซิเดนส์’ 41 ชั้น ชี้มีทางเข้า-ออกสู่ถนนสาธารณะ-‘รถดับเพลิง’เข้าออกสะดวกตลอดเวลา
............................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ อส. 60/2562 คดีหมายเลขแดง ที่ อส.13/2567 ระหว่าง สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ที่ 1 กับพวกรวม 49 คน (ผู้ฟ้องคดี) กับ ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน ที่ 1 ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ที่ 2 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ 3 (ผู้ถูกฟ้องคดี) กับ สำนักงานพระคลังข้างที่ ที่ 1 บริษัท ไทยพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) ที่ 2 โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ที่ 3 (ผู้ร้องสอด)
คดีนี้ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ที่ 1 กับพวกรวม 49 คน ฟ้องว่า ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน ที่ 1 กับพวกรวม 3 คน ออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร เลขที่ 20/2559 ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2559 ให้สำนักงานพระคลังข้างที่ ผู้ร้องสอดที่ 1 ก่อสร้างอาคารโครงการมหาดเล็กเรสซิเดนส์ สูง 41 ชั้น ชั้นใต้ดิน 1 ชั้น จำนวน 1 หลัง พื้นที่ 44,618 ตารางเมตร เพื่อใช้อยู่อาศัยรวม (ให้เช่า) 145 ห้อง มีสถานที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่ดินของสำนักงานพระคลังข้างที่ เนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 28 ตารางวา หรือ 2,912 ตารางเมตร ซึ่งเป็นที่ดินแปลงย่อยในโฉนดที่ดินเลขที่ 2220 ตำบลปทุมวัน อำเภอสำเพ็ง กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 67 ไร่ 67 ตารางวา
โดยให้สิทธิ บริษัท ไทยพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) ผู้ร้องสอด ที่ 2 ทำการก่อสร้างและให้เช่าใช้ประโยชน์มีกำหนด 30 ปี โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากอาคารตามโครงการดังกล่าวเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษและมีระยะด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินยาวไม่ถึง 12 เมตร และพื้นที่ของถนนที่มีความกว้างในซอยมหาดเล็กหลวง 2 ไม่ถึง 10 เมตร
จึงขัดหรือแย้งต่อกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และมีอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (FAR) และอัตราส่วนพื้นที่ว่าง (OSR) ไม่เป็นไปตามที่พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และตามที่พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 กำหนด
อีกทั้งไม่เป็นไปตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งกำหนดไว้ในหมวด 3 ที่ว่างภายนอกอาคารข้อ 33 (1) ว่า อาคารแต่ละหลังหรือหน่วยต้องมีที่ว่างตามที่กำหนดดังต่อไปนี้ อาคารอยู่อาศัยและอาคารอยู่อาศัยรวมต้องมีที่ว่างไม่น้อยกว่า 30 ใน 100 ส่วน ของพื้นที่ชั้นใดชั้นหนึ่งที่มากที่สุดของอาคาร แต่ปรากฏว่าพื้นที่โครงการมีพื้นที่ภายนอกอาคารไม่ถึง 30 ส่วน ใน 100 ส่วน ตามกฎกระทรวงดังกล่าว
จึงขอให้มีคำพิพากษาดังนี้ 1. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 หรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 หรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 เพิกถอนใบอนุญาตการก่อสร้างอาคารโครงการมหาดเล็กเรสซิเดนส์ 2.ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามหรือหัวหน้าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคารโครงการมหาดเล็กเรสซิเดนส์ ภายในระยะเวลาที่ศาลปกครองกำหนด
ศาลปกครองชั้นต้นวินิจฉัยว่า อาคารโครงการมหาดเล็กเรสซิเดนส์เป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษที่มีพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นมากกว่า 30,000 ตารางเมตร ที่ดินซึ่งใช้เป็นที่ตั้งของอาคารดังกล่าว จึงต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ตามข้อ 2 วรรคสองและวรรคสาม ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งคดีนี้ ผู้ร้องสอดที่ 1 ยื่นคำขอรับใบอนุญาตก่อสร้างอาคารโดยนำที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 2220 เลขที่ดิน 3 ทั้งแปลงมายื่นประกอบคำขอรับใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร
แต่เนื่องจากที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 2220 แบ่งเป็นแปลงย่อยทั้งสิ้น 28 แปลง ที่ดินที่ผู้ร้องสอดที่ 2 ก่อสร้างอาคาร ตามใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร เลขที่ 20/2559 ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2559 เป็นที่ดินแปลงย่อยที่ 24 ของโฉนดที่ดินเลขที่ 2220 ไม่ได้อยู่ติดกับถนนราชดำริ แต่มีทางเข้าออกถนนราชดำริโดยใช้ซอยมหาดเล็กหลวง 2 ที่มีเขตทางกว้าง 12 เมตรถึง 13.57 เมตร ซึ่งอยู่ภายในโฉนดที่ดินแปลงเดียวกันของผู้ร้องสอดที่ 1
ฉะนั้น แม้ถนนมหาดเล็กหลวง 2 จะมีลักษณะเป็นถนนที่เปิด หรือยินยอมให้ประชาชนเข้าไปหรือใช้เป็นทางสัญจรได้ อันเป็นถนนสาธารณะ ตามข้อ 1 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535)ฯ แต่มีเขตทางกว้างน้อยกว่า 18 เมตร จึงเป็นการฝ่าฝืนตามข้อ 2 วรรคสอง ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535)ฯ ประกอบกับที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 2220 อยู่ในเขตพื้นที่สีแดง หมายเลข พ. 5–2 (ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม) ตามกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556
จึงห้ามใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการการประกอบพาณิชยกรรมที่มีพื้นที่ประกอบการเกิน 10,000 ตารางเมตร เว้นแต่ที่ตั้งอยู่ริมถนนสาธารณะที่มีขนาดเขตทางไม่น้อยกว่า 16 เมตร หรือตั้งอยู่ภายในระยะ 500 เมตร จากบริเวณโดยรอบสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เมื่อที่ดินที่เป็นที่ตั้งของอาคารโครงการมหาดเล็กเรสซิเดนส์ มิได้ตั้งอยู่ริมถนนสาธารณะที่มีขนาดเขตทางไม่น้อยกว่า 16 เมตร กรณีจึงไม่ชอบด้วยกฎกระทรวงดังกล่าวด้วย
ดังนั้น ใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร เลขที่ 20/2559 ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2559 ที่อนุญาตให้ผู้ร้องสอดที่ 1 ทำการก่อสร้างอาคารโครงการมหาดเล็กเรสซิเดนส์ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนปัญหาว่า การอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารมีสัดส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (FAR) และสัดส่วนพื้นที่ว่างต่อพื้นที่อาคารรวม (OSR) เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ตลอดจนข้ออ้างอื่น นั้น ไม่จำต้องวินิจฉัย เนื่องจากไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
และเมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า ใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร เลขที่ 20/2559 ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2559 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นกรณีที่ศาลจะต้องมีคำบังคับให้เพิกถอนใบอนุญาตดังกล่าว ซึ่งจะมีผลให้ผู้ร้องสอดที่ 2 ไม่อาจเข้าไปทำการก่อสร้างอาคารพิพาทตามใบอนุญาตได้อีก
ศาลจึงไม่จำต้องกำหนดคำบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามปฏิบัติตามหน้าที่ในการติดตามตรวจสอบการก่อสร้างอาคารของผู้ร้องสอดที่ 2 อีก ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร เลขที่ 20/2559 ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2559 โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ออกใบอนุญาตดังกล่าว คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ผู้ร้องสอดที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นอุทธรณ์ว่า การที่ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร เลขที่ 20/2559 ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2559 ให้ก่อสร้างอาคารโครงการมหาดเล็กเรสซิเดนส์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยก่อนว่า พื้นดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคารตามข้อ 2 วรรคสอง ของกฎกระทรวงดังกล่าวหมายความรวมถึงที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 2220 ทั้งแปลงเนื้อที่ 67 ไร่ 67 ตารางวา หรือเฉพาะที่ดินแปลงแบ่งย่อยที่ 24 เนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 28 ตารางวา
เห็นว่า เมื่อข้อ 1 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 50 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ได้ให้ความหมายของ พื้นที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคาร หมายถึง พื้นที่ของแปลงที่ดินที่นำมาใช้ขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ไม่ว่าจะเป็นที่ดินตามหนังสือสำคัญแสดงสิทธิในที่ดินฉบับเดียวกันหรือหลายฉบับซึ่งเป็นที่ดินที่ติดกัน
เมื่อที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 2220 เนื้อที่ 67 ไร่ 67 ตารางวา ยังไม่ได้ดำเนินการแบ่งแยกที่ดินออกเป็นหลายแปลงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 79 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ดินแปลงย่อยทั้ง 28 แปลง รวมทั้งที่ดินแปลงย่อยที่ 24 ซึ่งเป็นที่ตั้งโครงการมหาดเล็กเรสซิเดนส์ จึงยังคงเป็นที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 2220 การขออนุญาตก่อสร้างอาคารมหาดเล็กเรสซิเดนส์ ตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ก็จะต้องใช้หนังสือสำคัญแสดงสิทธิในที่ดิน ซึ่งได้แก่โฉนดที่ดินเลขที่ 2220 ในการขออนุญาตก่อสร้าง
ดังนั้น พื้นที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคารในคดีนี้ จึงได้แก่พื้นที่ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 2220 เนื้อที่ 67 ไร่ 67 ตารางวา มิใช่เนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 28 ตารางวา เมื่อที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 2220 ของผู้ร้องสอดที่ 1 ซึ่งปัจจุบันโอนมาเป็นของผู้ร้องสอดที่ 3 มีแนวเขตติดถนนราชดำริ ภายในที่ดินได้มีการทำทางส่วนบุคคลเพื่อการจราจรภายในที่ดินแปลงย่อยรวมสามซอย คือ ถนนซอยมหาดเล็กหลวง 1 ถนนซอยมหาดเล็กหลวง 2 และถนนซอยมหาดเล็กหลวง 3 ทอดยาวไปติดกับถนนราชดำริซึ่งเป็นถนนสาธารณะ กว้าง 37 เมตร ที่ยาวต่อเนื่องไปเชื่อมต่อกับถนนพระรามที่ 1 และถนนพระรามที่ 4 ที่มีความกว้างของเขตทาง 24.5 ถึง 29 เมตร และ 30 เมตร ตามลำดับ ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 2220
จึงมีแนวเขตด้านทิศตะวันตกยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะ (ถนนราชดำริ) ที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่น (ถนนพระรามที่ 1 และถนนพระรามที่ 4) ที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร โดยที่ดินด้านที่ติดถนนสาธารณะดังกล่าว (ถนนราชดำริ) คือ ถนนซอยมหาดเล็กหลวง 2 มีความกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตร ยาวต่อเนื่องไปตลอดจนถึงบริเวณที่ตั้งอาคารโครงการมหาดเล็กเรสซิเดนส์ ซึ่งถนนซอยมหาดเล็กหลวง 2 ดังกล่าวเป็นที่ดินแปลงย่อยของโฉนดที่ดินเลขที่ 2220 ที่กำหนดไว้เป็นที่ว่างเพื่อให้โครงการพิพาทใช้เป็นทางเข้าออกไปสู่ถนนราชดำริ
ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งโครงการมหาดเล็กเรสซิเดนส์ จึงมีทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะและมีสภาพที่รถดับเพลิงสามารถเข้าออกได้สะดวกตลอดเวลา ตราบเท่าที่อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษตามโครงการมหาดเล็กเรสซิเดนส์ดำรงอยู่ ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคารของโครงการมหาดเล็กเรสซิเดนส์ จึงเป็นไปตามข้อ 2 วรรคสองและวรรคสาม ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535)ฯ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 50 (พ.ศ.2540)ฯ
และถือเป็นการประกอบพาณิชยกรรมที่มีที่ตั้งอยู่ริมถนนสาธารณะที่มีเขตทางไม่น้อยกว่า 16 เมตร ตามข้อ 22 วรรคสอง (9) ของกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2556 โดยชอบแล้ว นอกจากนั้น อาคารที่ก่อสร้างในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 2220 มีพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นของอาคารทุกหลังทั้งสิ้น 776,223.01 ตารางเมตร
ส่วนพื้นที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคารพื้นที่ 107,468 ตารางเมตร ค่าสูงสุดของอัตราพื้นที่อาคารทุกชั้นรวมทุกหลังต่อพื้นที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคารโครงการมหาดเล็กเรสซิเดนส์ (FAR) จึงเท่ากับ 7.22 ไม่เกิน 10 ต่อ 1 จึงชอบด้วยข้อ 5 วรรคสอง ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2533)ฯ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 50 (พ.ศ. 2540)ฯ ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 2220 มีพื้นที่ว่าง 50,585.08 ตารางเมตร และมีพื้นที่อาคารรวม 776,223.01 ตารางเมตร จึงมีอัตราส่วนของที่ว่างต่อพื้นที่อาคารรวม (OSR) ร้อยละ 6.52 ไม่น้อยกว่าร้อยละสาม
จึงเป็นไปตามข้อ 22 วรรคสาม (2) ของกฎกระทรวงดังกล่าวเช่นกัน การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร เลขที่ 20/2559 ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2559 ที่อนุญาตให้ ก่อสร้างอาคารโครงการมหาดเล็กเรสซิเดนส์ จึงชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ฟังขึ้น ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้ยกฟ้อง
อ่านประกอบ :
ศาล ปค.สูงสุด นัดตัดสินคดีเพิกถอนใบอนุญาตฯ ‘มหาดเล็กหลวง 2 เรสซิเดนส์’ 28 มี.ค.
ศาล ปค.สั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดหรู‘มหาดเล็กหลวง2เรสซิเดนส์’