‘ก้าวไกล’ อภิปราย ‘กระทรวงทรัพย์ฯ’ ขอปรับลดงบ 10% ยกงบเบี้ยประชุมแพงเกินจริง 2,500-1หมื่นบาท/วัน ส่วนการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ไม้มีค่า งบก่อสร้างสูงเกิน แนะเฟส 2 ควรตัดงบออกไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 21 มีนาคม 2567 ที่ประชุสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 วาระที่ 2 และ 3 ในวันที่สอง ในส่วนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาตรา 17 วงเงินงบประมาณ 15,025,964,400 บาท
นายกฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี สส.นครสวรรค์ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ในฐานะอนุกรรมาธิการ มีข้อสงสัยหน่วยงานในกระทรวงทรัพยากรฯ 2 หน่วยงาน คือ สำนักนโยบายแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งได้รับงบประมาณ 1,002.5 ล้านบาท เป็นงบดำเนินการ 152 ล้านบาท งบลงทุน 45 ล้านบาท งบอุดหนุน 760 ล้านบาท โดยตั้งข้อสังเกตงบประมาณ 24.61 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบเบี้ยประชุม กรรมการ อนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม คณะกรรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เป็นต้น
เนื่องจากในรายงานไม่มีรายละเอียดจำนวนครั้งในการประชุมจึงเข้าไปดูในรายงานประจำปีของหน่วยงานนี้ในปี 2565 พบว่ามีการประชุมเพื่อพิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) จำนวน 725 ครั้ง และมีการประชุมรวม 230 ครั้ง หมายความว่าใช้งบประมาณเฉลี่ยในการประชุมครั้งละ 1 แสนบาท/ครั้ง/วัน ตนถามผู้ที่มาชี้แจงได้ทราบว่ามีค่าเบี้ยประชุมสูงถึง 2,500- 1 หมื่นบาท/คน/วัน ซึ่งในอนุกรรมการฯ ขณะที่เราประชุมกันเบี้ยประชุมเพียง 800 บาท/คน/วัน คิดว่าน่าจะประหยัดงบประมาณนี้ได้ 50 เปอร์เซ็นต์หากใช้งบอย่างเหมาะสมในการประชุม ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณสูงสุดที่กำหนดไว้
@จี้ปรับลดงบ ‘พิพิธภัณฑ์ไม้มีค่า’
นายกฤษฐ์หิรัญ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ ได้รับงบประมาณ 1,682 ล้านบาท เป็นงบดำเนินงาน 133 ล้านบาท งบลงทุน 592 ล้านบาท มีการปรับลดชั้นกรรมาธิการฯ เพียง 1 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบระบบคอมพิวเตอร์ แต่มีโครงการหนึ่งซึ่งเป็นงบผูกพันปี 66-70 ใช้ชื่อแผนอย่างสวยหรูว่า แผนงานพื้นฐานด้านการจัดการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” คือ “โครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ความรู้เรื่องไม้มีค่าเพื่อประโยชน์ของแผ่นดินเฉลิมพระเกียรติอันเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ”
มีการแบ่งเป็น 2 โครงการเฟสแรก เป็นงานก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ 1,230 ล้านบาท และเป็นงานก่อสร้างเฉพาะอาคาร ค่าควบคุมงานก่อสร้าง 21 ล้านบาท ตนเห็นชื่อโครงการนี้จากข่าวเมื่อเดือน มิ.ย. 66 ว่ามีมูลค่าการก่อสร้าง 2,000 ล้านบาท ในพื้นที่ 2,550 ตร.ม.ตนประเมินเบื้องต้นอยู่ที่ ตร.ม. ละ 8.1 หมื่นบาท แพงแค่ไหนนั้นตนเปรียบเทียบกับโครงการที่ใกล้เคียงกัน เป็นอาคารห้างสรรพสินค้าที่มีค่าก่อสร้างตารางเมตรละ 2.1 หมื่นบาท ถือว่าแพงมากกว่าการก่อสร้างอาคารทั่วไปถึง 4 เท่า ซึ่งน่าจะปรับลดได้มากกว่านี้หากมีการจัดซื้อจัดจ้างที่เหมาะสม
นายกฤษฐ์หิรัญ อภิปรายต่อว่าโครงการนี้อนุมัติตั้งแต่ปี 2557 ตั้งแต่หลังการรัฐประหารแรกๆ รัฐบาล คสช. ได้อนุมัติโครงการนี้และมีมติ ครม. 4 ม.ค. 65 ให้กระทรวงทรัพยากรฯ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ จากนั้น ครม.อนุมัติงบ 4,055 ล้านบาท เพื่อดำเนินการก่อสร้าง เป็นงบผูกพันปี 66-70 ซึ่งตนมีความสงสัยว่าการประมูลก่อสร้างครั้งนี้โปร่งใสหรือไม่ เนื่องจากพบว่าบริษัทที่ได้รับงานก่อสร้างนี้ ยังได้รับงานจากหน่วยงานรัฐจำนวนมากกว่า 1,529 โครงการ หรือ 1,460 ล้านบาทใน 7 ปี
“แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาอาจจะเป็นเพราะความสามารถของผู้บริหารโครงการ แต่ข้อมูลที่เราได้รับเพิ่มเติม เฉพาะในกทม. มี 181 โครงการ จากทั้งหมด 888 โครงการ ที่บริษัทนี้ได้รับไป สังเกตว่ามีความผิดปกติกว่า 1 ใน 5 อีกทั้งพบว่าบริษัทนี้ไม่ได้ซื้อซองเข้าเสนองาน แต่ได้งานในช่วงปี 62-63 จำนวนมาก ” สส.ก้าวไกลระบุตอนหนึ่ง
ดังนั้น จึงขอให้ทบทวนปรับค่าก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์องค์ความรู้ไม้มีค่านี้ ที่จะมีในเฟซที่ 2 เพราะไม่สามารถปรับลดในเฟซแรกได้ เฟสที่สองในเรื่องของการตกแต่งภายในอยากให้ใช้งบประมาณที่เหมาะสมมากกว่านี้ สุดท้ายขอตัดงบ 10 % ของโครงการทั้งหมด
หลังจากสส.อภิปราย มาตรา 17 ครบถ้วนแล้ว ที่ประชุมลงมติเห็นชอบมาตราดังกล่าวตามกมธ.เสียงข้างมากด้วยคะแนน 284 ต่อ 153 งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนนเสียง 3