เผยแพร่มติ ป.ป.ช. เสียงเอกฉันท์ตีตกข้อกล่าวหา 'ธาริต เพ็งดิษฐ์' อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ-พวก ร่วมกันสอบสวนมีความเห็นทางคดีสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาความผิดอาญาฐานฆ่าเศรษฐินีชาวจีน ปี 2556 หลังพิจารณาสำนวนไต่สวนเบื้องต้นข้อเท็จจริงพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่ากระทำความผิด ไม่พบการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2567 เสียงเอกฉันท์ตีตกข้อกล่าวหา นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กับพวก รวม 9 ราย ร่วมกันสอบสวนและมีความเห็นทางคดีโดยสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในความผิดอาญาฐานฆ่าเศรษฐินีชาวจีน ปี 2556 ซึ่งขัดแย้งกับพยานหลักฐาน อันเป็นการช่วยเหลือผู้ต้องหา เพื่อมิให้ต้องรับผิดหรือมิให้ต้องรับโทษ
หลังพิจารณาสำนวนไต่สวนเบื้องต้น ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่ากระทำความผิดตามที่กล่าวหา ไม่พบการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในข้อสาระสำคัญในการรวบรวมพยานหลักฐาน ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
แต่ให้มีหนังสือแจ้งข้อสังเกตไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กรณีคำร้องขอของผู้ต้องหาไว้เป็นคดีพิเศษ ว่าเป็นการดำเนินการถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติหน้าที่และอำนาจความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษไว้หรือไม่
ธาริต เพ็งดิษฐ์
คดีนี้ มีผู้ถูกกล่าวหา ประกอบไปด้วย
1. นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
2. พันตำรวจโท พเยาว์ ทองเสน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ
3.พันตำรวจโท เสกสรร ศรีตุลาการ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ชำนาญการพิเศษ
4. นางสาวอาภากร ดาวเรือง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง เจ้าหน้าที่คดีพิเศษ ชำนาญการ
5. นายชวิศ สำเนากลาง หรือ นายสิริวุฒิ สำเนากลาง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง เจ้าหน้าที่คดีพิเศษ ชำนาญการ
6. นายศุภพงศ์ อินต๊ะจวง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง เจ้าหน้าที่คดีพิเศษ ชำนาญการ
7. พันตำรวจตรี ณัฐพงษ์ น้อยน้ำคำ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่คดีพิเศษ ชำนาญการ
8. นายศักดา พิพัฒน์ธรรมกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่คดีพิเศษ ชำนาญการ
9. นายรัฐธีร์ หิรัญอร่ามวัตร์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง เจ้าหน้าที่คดีพิเศษ ชำนาญการ
สำนักงาน ป.ป.ช.ระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำผิดโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2556 นางสาวลิน ลิน บุตรสาวของผู้กล่าวหา ได้เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยพร้อมกับนายลิน ยู หรือยู ลิน สามี ต่อมาในวันที่ 14 มกราคม 2556 ได้เดินทางไปพักผ่อนที่ อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยไปพักที่บ้านพักเรสิเดนซ์ 1 โรงแรมโฟร์ซีซั่น รีสอร์ท เกาะสมุย
หลังจากนั้น ในวันที่ 18 มกราคม 2556 พบว่านางสาวลิน ลิน ถูกฆาตกรรมจนถึงแก่ความตายภายในห้องพักของโรงแรมโฟร์ซีซัน หมู่ที่ 5 ตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ภายหลังเกิดเหตุพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นผู้รวบรวมพยานหลักฐานในฐานะพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในท้องที่เกิดเหตุ โดยมีนายลิน ยู หรือยู ลิน สามีของนางสาวลิน ลิน ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีดังกล่าว
ต่อมานายลิน ยู หรือยู ลิน ได้มีหนังสือลงวันที่ 24 มิถุนายน 2556 ถึง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อร้องขอความเป็นธรรมในกรณีตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาที่ 28/2556 ของสถานีตำรวจภูธรเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในข้อหาฆ่าผู้อื่น
หลังจากนั้น ในการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ครั้งที่ 4/2556 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 มีมติให้รับไว้เป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีคำสั่งที่ 1124/2556 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2556 เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานสอบสวนคดีพิเศษ โดยมีพันตรวจโท พเยาว์ ทองเสน ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ เป็นหัวหน้าคณะทำงานสอบสวน เมื่อการสอบสวนแล้วเสร็จ จึงได้จัดทำสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษที่ 137/2556 ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2556 พร้อมความเห็น เสนอต่อนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
โดยมีความเห็นทางคดีสั่งไม่ฟ้องนายลิน ยู หรือ ยู ลิน ผู้ต้องหา ในความผิดอาญาฐานฆ่าผู้อื่นตามเสนอ ไม่คำนึงถึงพยานหลักฐานที่สำคัญต่างๆ อาทิ ผลการตรวจสอบสารพันธุกรรม (DNA) ของผู้ตายที่ปรากฏอยู่ในเศษเล็บมือของผู้ต้องหา ผลการพิสูจน์รอยแผลที่ปรากฏที่แผ่นหลังของนายลินยู หรือยู ลิน ผู้ต้องหา ว่ามีเพียงพอที่จะทำความเห็นสั่งฟ้องนายลิน ยู หรือยู ลิน ผู้ต้องหาได้แล้ว
ต่อมาเมื่อได้รับแจ้งคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องแล้ว ผู้กล่าวหาในฐานะบิดาของนางสาวลิน ลิน ผู้ตาย จึงได้ยื่นฟ้องนายลิน ยู หรือยู ลิน ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนา ต่อศาลจังหวัดเกาะสมุย ซึ่งศาลจังหวัดเกาะสมุย ได้ดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งประทับฟ้องไว้พิจารณาต่อไป
ดังนั้น ความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีของคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษและอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษดังกล่าว จึงเป็นความเห็นที่ขัดแย้งกับพยานหลักฐาน และเป็นการช่วยเหลือนายลิน ยู หรือยู ลิน ผู้ต้องหา เพื่อมิให้ต้องรับผิดหรือมิให้ต้องรับโทษ
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า จากการไต่สวนปรากฏพยานหลักฐานว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับคดีนี้ไว้เป็นคดีพิเศษ ตามมติคณะกรรมการคดีพิเศษ ในการประชุมครั้งที่ 4/2556 วันพุธที่ 31 กรกฎาคม 2556 ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และแต่งตั้งคณะทำงานสอบสวนคดีพิเศษ ตามคำสั่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ 1124/2556 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2556 โดยไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าคณะทำงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้สอบสวนพยานบุคคลหรือกระทำโดยมิชอบโดยประการอื่นใด เพื่อบิดเบือนพยานบุคคลเพื่อให้การไม่ตรงตามความเป็นจริง หรือบิดเบือนพยานวัตถุในที่เกิดเหตุ และผลการชันสูตรพลิกศพของแพทย์เป็นเพียงความเห็น ซึ่งต้องรับฟังประกอบกับพยานหลักฐานอื่นๆ เพื่อชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน
เมื่อทางคดีไม่ปรากฏว่าคณะทำงานสอบสวนคดีพิเศษ แสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในข้อสาระสำคัญในการรวบรวมพยานหลักฐาน ดังนั้น ความเห็นในทางคดีในการสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาจึงเป็นการใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานโดยแท้ แม้จะมีความเห็นแตกต่างกันในแต่ละชั้นไปบ้างก็ไม่อาจรับฟังได้ว่าความเห็นที่ต่างกันเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่สุจริต
ประกอบกับความเห็นของพนักงานอัยการตามลำดับชั้นก็สอดคล้องไปในทางเดียวกันว่าคดีไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอพิสูจน์ได้ว่าผู้ต้องหาฆ่าผู้ตาย จึงเห็นควรสั่งไม่ฟ้องนาย ลิน ยู หรือ ยู ลิน ผู้ต้องหา ตามความเห็นของคณะทำงานสอบสวนคดีพิเศษดังกล่าว และไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดบ่งชี้ให้เห็นว่านายธาริต เพ็งดิษฐ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และคณะทำงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับค่าตอบแทนหรือผลประโยชน์อื่นใดจากการสั่งไม่ฟ้องคดีดังกล่าว และคำสั่งไม่ฟ้องคดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด เนื่องจากผู้กล่าวหาได้นำคดีไปฟ้องต่อศาลจังหวัดเกาะสมุย
แม้ศาลจังหวัดเกาะสมุยจะไต่สวนมูลฟ้องและประทับรับฟ้องไว้พิจารณาก็ตาม ก็มิได้หมายความว่าคำสั่งไม่ฟ้องคดีจะมิชอบด้วยกฎหมาย และเป็นเรื่องที่ศาลจังหวัดเกาะสมุยจะพิจารณาพิพากษาคดีได้ตามพยานหลักฐานในท้องสำนวนต่อไป
ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 5 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นว่า จากการไต่สวนเบื้องต้น ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่านายธาริต เพ็งดิษฐ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 พันตำรวจโท พเยาว์ ทองเสน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 พันตำรวจโท เสกสรร ศรีตุลาการ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 นางสาวอาภากร ดาวเรือง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 นายชวิศ สำเนากลาง หรือ นายสิริวุฒิ สำเนากลาง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 นายศุภพงศ์ อินต๊ะจวง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 พันตำรวจตรี ณัฐพงษ์ น้อยน้ำคำ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 นายศักดา พิพัฒน์ธรรมกุล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 8 และนายรัฐธีร์ หิรัญอร่ามวัตร์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 9 กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป ให้มีหนังสือแจ้งข้อสังเกตไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รับคดีฆ่าคนตาย (คดีนี้) ตามคำร้องขอของผู้ต้องหาไว้เป็นคดีพิเศษ ว่าเป็นการดำเนินการถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติหน้าที่และอำนาจความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษไว้หรือไม่
กล่าวสำหรับนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ หลังพ้นตำแหน่งถูกสอบสวนความผิดจากการทำหน้าที่หลายคดี รวมถึงคดีร่ำรวยผิดปกติ โดยเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2566 ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เป็นเวลา 2 ปีไม่รอลงอาญา ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเจตนากลั่นแกล้ง ให้ถูกดำเนินคดี กรณีแจ้งข้อหา อภิสิทธิ์ - สุเทพ สั่งสลายการชุมนุม ปี 2553 ให้คุมตัวเข้าเรือนจำทันที
อ่านประกอบ :