‘สุริยะ’ พร้อมบิ๊กกรมทางหลวง-การทางพิเศษฯ เรียกผู้รับเหมาก่อสร้างทางด่วน-มอเตอร์เวย์บนถนนพระราม 2 หารือ ยืนยันรับเหมาจะทำให้เสร็จในปี 2568 พร้อมขอเยียวยาเพิ่มเวลาก่อสร้าง-จ่ายค่า K ด้านปลัดคมนาคม เตรียมเร่งโปรเจ็กต์มอเตอร์เวย์นครปฐม - ชะอำ หวังเป็นทางเลือกลงใต้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 4 มีนาคม 2567 ที่กระทรวงคมนาคม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมร่วมระหว่างกรมทางหลวง (ทล.), การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.), ผู้รับเหมาทุกรายที่มีสัญญาการก่อสร้างโครงการบนทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เบื้องต้น ผู้รับเหมาทุกรายยืนยันว่าจะแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย. 2568 แต่มีตอนที่ 4 และ 6 ที่จะมีการแก้ไขแบบก่อสร้าง ทำให้การก่อสร้างจะไปแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2568 อีกด้านหนึ่งก็สั่งการกรมทางหลวง กำชับว่าในแต่ละตอน ให้กำหนดตัวบุคคลติดตามงานที่ช้าให้สร้างได้ตรงต่อเวลา และทุกๆ 2 เดือน จะประชุมเร่งรัดในลักษณะนี้ โดยตนเองจะเป็นผู้นำประชุม เชื่อว่า หากมีการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด ผู้รับเหมาจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ รวมถึงประสานกรมบัญชี่กลางประเด็นการปรับชั้นผู้รับเหมา ซึ่งปกติมีแต่การปรับเลื่อนขึ้นไป ไม่มีการปรับตกชั้น ถ้าต่อไปนี้ผู้รับเหมารายใด ก่อสร้างไม่ตรงตามเวลาจะปรับลดจากชั้นพิเศษลงมาเป็นชั้นหนึ่ง เชื่อว่าผู้รับเหมาที่ถูกปรับลดชั้นจะกังวล เพราะหากไม่ใช้ชั้นพิเศษ จะไม่สามารถประมูลงานใหญ่ได้
อย่างไรก็ตาม ด้านหนึ่งก็พยายามทำความเข้าใจกับผู้รับเหมา เพื่อให้การทำงานเป็นไปด้วยดี แต่ถ้าร่วมมือกันแล้ว รับปากแล้วไม่ทำ ก็ต้องมีมาตรการเด็ดขาด
@เปิดใช้สะพานแขวนพระราม 9 กลางปี - ต่อเนื่องยกระดับพระราม 2 เสร็จปลายปี 67
ผู้สื่อข่าวถามย้ำอีกว่า โครงการบนถนนพระราม 2 ทั้งของกรมทางหลวงและการทางพิเศษแห่งประเทศไทย จะแล้วเสร็จในปี 2568 ใช่หรือไม่ และอยากทราบว่า ถ้ามีช่วงระยะทางใดที่ก่อสร้างเสร็จก่อนจะเปิดเส้นทางให้ประชาชนใช้งานได้หรือไม่ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคมตอบในประเด็นนี้ว่า ในส่วนของทางด่วนของกทพ. ตัวสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 เสร็จแล้ว แต่อีก 3 สัญญาที่กำลังก่อสร้าง ยังไม่เสร็จ จึงมีนโยบายที่จะทำทางขึ้น-ลงบริเวณเชื่อมต่อถนนสุขสวัสดิ์ก่อน คาดว่าจะเปิดได้กลางปี 2567 นี้ ส่วนสัญญาก่อสร้างที่เหลือ จะแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2568 ซึ่งจะไปพร้อมๆกับงานก่อสร้างของกรมทางหลวงพอดี ซึ่งทางยกระดับพระราม 2 จำนวน 3 สัญญาแรกจะแล้วเสร็จในเดือน พ.ย. 2567 นี้
ส่วนช่วงเอกชัย - บ้านแพ้ว จำนวน 10 สัญญา ตอนที่ 4 กับ 6 จะเสร็จปลายปี 2568 นอกนั้นจะเสร็จในเดือน มิ.ย. 2568 ที่สัญญา 4 กับ 6 เสร็จช้า เพราะมีการทำจุดขึ้นลงด้วย
@54 ปี พระราม 2 สร้างซ่อม 6 ครั้ง
นายสุริยะกล่าวต่อว่า ถัดมาอยากชี้แจงกรณีความเป็นถนน 7 ชั่วโคตรก่อน ในรายละเอียดที่มีการขยายระยะเวลาสัญญามาโดยตลอดนั้น ถนนพระราม 2 สร้างตั้งแต่ปี 2513 สมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ครั้งแรกสร้างเป็นถนนสองเลนสวนกัน
ครั้งที่ 2 ระหว่างปี 2532-2537 จึงได้ขยายเป็น 4 เลนไป-กลับ และก่อสร้างทางแยกต่างระดับอีก 4 แห่ง ได้แก่ บางขุนเทียน สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และวังมะนาว
ครั้งที่ 3 ระหว่างปี 2539 - 2543 ช่วงสามแยกบางปะแก้ว-แยกต่างระดับบางขุนเทียน ได้ขยายถนนเป็น 14 เลน เป็นทางหลัก 8 เลน และทางขนานข้างละ 3 เลน
ครั้งที่ 4 ระหว่างปี 2544-2546 มีการขยายช่องจราจรจาก 4 เลนเป็น 8 และ 10 เลนตามลำดับ ระหว่างทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน - นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร ระยะทาง 22 กม.เพื่อรองรับการจราจรที่เพิ่มขึ้นจากการขยายการก่อสร้างช่วงดาวคะนองและถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวัวตกจากบางบัวทอง - บางขุนเทียน
ครั้งที่ 5 ระหว่างปี 2549-2552 ก่อสร้างส่วนต่อขยายไปถึงแยกต่างระดับวังมะนาวจากเดิม 4 เลน ขยายเป็น 6-8 เลน
ครั้งที่ 6 ปี 2561-2563 โครงการขยายถนนพระราม 2 ระหว่างแยกต่างระดับบางขุนเทียน - แยกเอกชัย จาก 10 เลนเป็น 14 เลน
นอกจากนี้ยังมีโครงการคาบเกี่ยวอีกหลายโครงการ เช่น ทางยกระดับจากบางขุนเทียน - เอกชัย เริ่มสร้างเมื่อปี 2562-2565 ทางด่วนพระราม 3 - ดาวคะนอง เริ่มสร้างปี 2563-2566
“จะเห็นว่าโครงการมีการก่อสร้างเรื่อยๆ ซึ่งการก่อสร้างที่เป็นแบบนี้ ถ้าเป็นไปได้ อยากให้มองอนาคตว่า ต้องสร้างถนนดักหน้าไว้ก่อน ปัญหาการจราจรจะไม่ติดขัด เช่นอันนี้สามารถขยายได้ แต่ตอนขยายก็ขยายไว้ล่วงหน้าเลย นี่คือสิ่งที่จากนี้ไปกระทรวงคมนาคมจะต้องมีแนวคิดในเรื่องนี้ จะไม่ปล่อยให้รถติดแล้วค่อยสร้าง ถ้าท่านเห็นถนนพระราม 3 ตอนนี้ รถติดมากๆแล้วมาสร้าง ทีนี้พอรถมันติด ก็ต้องไม่ให้ผู้รับเหมาทำต่อ 24 ชม. ต้องจำกัดเวลาให้ทำแค่ตอนกลางคืน ซึ่งทำให้โครงการช้าไปใหญ่” นายสุริยะกล่าว
สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
นายสุริยะกล่าวต่อว่า ในปี 2546 ตนเคยจัดการโครงการ 7 ชั่วโคตรอย่างสะพานต่างระดับบางขุนเทียนมาแล้ว โดยการเลิกสัญญาผู้รับเหมารายเดิม และจัดหาคนประมูลใหม่ จนในที่สุดก็ดำเนินการแล้วเสร็จ มาตรการนี้จะเอามาใช้กับโครงการปัจจุบันด้วย
@เล็งเพิ่มเวลาก่อสร้างให้รับเหมา - ร้องจ่ายค่า K
เมื่อถามว่าทางผู้รับเหมาได้แจ้งปัญหาที่เกิดจากการก่อสร้างหรือไม่ และได้ขอให้รัฐช่วยเหลืออะไรบ้าง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมระบุว่า ผู้รับเหมากังวลเรื่องระยะเวลาก่อสร้าง เนื่องจากในสัญญามีการกำหนดไว้ให้ทำงาน 24 ชม. แต่เมื่อมีการเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง กรมทางหลวงจึงกำหนดเวลาก่อสร้างให้ทำเฉพาะตอนกลางคืน เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ประกอบกับหากเป็นช่วงวันหยุดให้หยุดก่อสร้าง เพื่อคืนพื้นผิวจราจรด้วยนั้น เมื่อเวลาน้อยลง การก่อสร้างจึงเดินหน้าได้ช้า จึงอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือ
ส่วนเรื่องความปลอดภัย นายสุริยะกล่าวว่า เป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ถัดมา ระยะเวลาจะเป็นเรื่องรอง แต่อย่างไรก็แล้วแต่ ก็ให้กรมทางหลวงและผู้รับเหมาไปดูว่าจะเพิ่มเวลาการก่อสร้างให้ได้หรือไม่ ถ้าเป็นวันธรรมดา ถ้าดูแล้วรถน้อย ก็เพิ่มเวลาก่อสร้างได้ นี่คือความร่วมมือ
“อีก 2 เดือนข้างหน้าจะเชิญผู้รับเหมามาคุยอีก ส่วนเรื่องสภาพคล่องของผู้รับเหมา ผมก็ถามผู้รับเหมา เขาบอกว่าไม่มีปัญหา แต่มีรายหนึ่งบอกว่า ผู้รับเหมาไม่พูดความจริง ผมบอกถ้ามีอะไรให้พูดมาได้ ที่นัดมาวันนี้ เพราะอยากทราบข้อเท็จจริง ทางผู้รับเหมาก็พูดถึงเรื่องค่า K (สูตรและวิธีการคำนวณที่ใช้กับสัญญาแบบปรับราคาได้ ) ซึ่งยังค้างอยู่ 2,519 ล้านบาทของกรมทางหลวงทั่วประเทศ ส่วนผู้รับเหมาในพระราม 2 จะลงรายละเอียดของผู้รับเหมาทั้ง 10 สัญญา โดยจะจัดเยียวยาเขาในเรื่องเวลาการก่อสร้างให้เขาด้วย อาจจะขอกับสำนักงบประมาณจัดงบกลางช่วยเรื่องค่า K ก่อนได้ไหม” นายสุริยะกล่าว
ขณะที่การพิจารณาปรับลดชั้นของผู้รับเหมา ยกเลิกสัญญาและการลงโทษนั้น นายสุริยะระบุว่า จากที่คุยกันและสัมภาษณ์ไปนั้น จะเป็นการเก็บข้อมูลก่อน จะลงข้อมูลในสมุดพกตัดคะแนน โดยจะทำให้เป็นรูปธรรมว่า เหตุการณ์แบบใด จะถูกตัดกี่คะแนน และเมื่อถูกตัดคะแนนไปถึงจำนวนหนึ่ง จะต้องมีการกีดกั้นไม่ให้เข้ามาประมูลหรือจะลดชั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่กำลังทำอยู่ คาดว่าไม่เกิน 1 เดือนจะมีความชัดเจน และจะต้องประสานกับกรมบัญชีกลางด้วย
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ภาคการท่องเที่ยวเสนอให้มีการจัดการเกี่ยวกับการกองของ การเบี่ยงทาง นายสุริยะตอบว่า สั่งการลงไปแล้ว เพื่อให้การจราจรลื่นไหล เรื่องการท่องเที่ยว นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญสูงสุดอยู่แล้ว เพราะการท่องเที่ยวจะทำให้รายได้ของประชาชนถูกกระจายไปในแต่ละพื้นที่ เพราะฉะนั้น ในส่วนต่างๆที่กระทรวงคมนาคมมีเส้นทางรองรับการท่องเที่ยว ไม่เฉพาะถนนพระราม 2 แต่ตามเมืองสำคัญๆ ให้ความสำคัญหมด ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปต่างประเทศ ก็บอกว่า ใน 2-3 เดือนนี้จะเดินทางลงไปในจ.ภูเก็ตอีก เพื่อดูเส้นทางต่างๆและเร่งรัดโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับนักท่องเที่ยวให้ได้
เมื่อถามอีกว่า ในอนาคตจะมีโครงการอะไรเกิดขึ้นบนถนนพระราม 2 หรือไม่ นายสุริยะตอบกลับทันทีว่า ไม่มีแล้ว
@เร่งมอเตอร์เวย์นครปฐม - ชะอำ หวังคู่ขนานพระราม 2
ด้านนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เสริมว่า เส้นทางที่จะลงภาคใต้ นอกจากถนนพระราม 2 แล้ว มีเส้นทางจากถนนกาญจนาภิเษกลงมาทางถนนบรมราชนนีไปชนถนนเพชรเกษม แต่ช่วงนี้มีการจราจรติดขัดที่บริเวณพุทธมณฑล, เส้นทางถนนเพชรเกษม ข้อเสียคือมีจุดตัดหลายจุด ทำให้การจราจรติดขัด, มอเตอร์เวย์บางใหญ่ - กาญจนบุรี ที่จะเปิดในปี 2568 ผ่านจ.นครปฐม ซึ่งจะมีมอเตอร์เวย์อีกเส้นทางหนึ่งตือ มอเตอร์เวย์นครปฐม - ชะอำ แต่ยังมีปัญหาการคัดค้านจากประชาชนบริเวณ จ.เพชรบุรี เพราะผ่านใกล้ชุมชน นโยบายของรัฐมนตรีในขณะนี้ คือการไปเร่งมอเตอร์เวย์สายนั้นขึ้นมาควบคู่เป็นทางเลือกจาก จ.นครปฐม - วังมะนาวหรือบริเวณปากท่อ
“เบื้องต้นการผลักดันมอเตอร์เวย์นครปฐม - ชะอำ จะแบ่งดำเนินการ 2 เฟส เฟสแรก นครปฐม-วังมะนาว (ปากท่อ) ให้เร่งดำเนินการได้เลย ขณะเดียวกันจากวังมะนาว - ชะอำ จะปรับแบบ ย้ายแนวเส้นทางไปอีกฝั่งที่ไม่มีปัญหากับพื้นที่ประชาชน เพราะฉะนั้น ในอนาคตสองส่วนนี้จะคู่กัน ถ้ามีการทำถนนแบบนี้ครบ ประชาชนที่จะเดินทางจากกรุงเทพฯ - หัวหนิ จะใช้เวลาไม่ถึง 1.30 ชม. เหมือนกับที่เคยทำมอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ - พัทยาที่ช่วยร่นเวลาลงมาได้” ปลัดกระทรวงคมนาคมกล่าว
เมื่อถามว่า ถ้ายกเลิกสัญญากับผู้รับเหมา จะทำให้การก่อสร้างช้าลงไปอีก กระทรวงคมนาคมมีมาตรการอะไรรองรับหรือไม่ นายสุริยะกล่าวว่า มีรองรับไว้แล้ว ทางกรมทางหลวงจะมีหน่วยงานก่อสร้างพิเศษเข้าไปทำงานนี้ได้เลย คือ ศูนย์สร้างสะพาน
เมื่อถามอีกว่า การยกเลิกสัญญาต้องทำตอนไหน จะต้องรอถึง มิ.ย. 2568 หรือไม่ หรือจะมีสัญญาณเตือนอะไรมาก่อน นายสุริยะตอบว่า หากดูแล้ว ผู้รับเหมาไม่เร่งงาน ทุกเดือนจะมีสัญญาณอยู่ว่าถ้าช้ากว่า 50% จากแผน จะยกเลิกสัญญาได้ แต่จากการพูดคุยกับผู้รับเหมายืนยันว่า จะแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย. 2568
ด้านนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า ความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 82 (M82) สายบางขุนเทียน - บ้านแพ้ว ช่วงบางขุนเทียน - เอกชัย มีความคืบหน้ารวม 88.973% ล่าช้า 11.027% จากแผนที่จะต้องแล้วเสร็จ 100% ส่วนช่วงเอกชัย - บ้านแพ้ว ทั้ง 10 สัญญา มีความคืบหน้ารวม 40.395% ล่าช้า 11.509% จากแผนงานที่ต้อคืบหน้า 51.904%
ขณะที่นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูนสุข ผู้ว่ากทพ. กล่าวว่า ความคืบหน้าทางด่วนพระราม 3 - ดาวคะนอง คืบหน้ารวม 74.58% เร็วกว่าแผนทั้งหมด คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. 2568
ส่วนกรณีสัญญาที่ 2 งานก่อสร้างทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ช่วงเซ็นทรัลพระราม 2-โรงพยาบาลบางปะกอก 9 ระยะทาง 5.3 กม. มีกลุ่มไชน่าฮาร์เบอร์ฯ-ทิพากร-บุรีรัมย์ธงชัยก่อสร้าง เป็นผู้ก่อสร้าง วงเงินโครงการ 6,440 ล้านบาท แล้วเสร็จพร่อมสัญญา 1 งานก่อสร้างทางยกระดับ ขนาด 6 ช่องจราจร จากแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เซ็นทรัลพระราม 2 ระยะทาง 6.4 กม. มี กิจการร่วมค้า ยูเอ็น-ซีซี (ประกอบด้วย บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น ร่วมกับ บมจ.ซีวิล เอนจีเนียริง) เป็นผู้ก่อสร้าง วงเงินโครงการ 7,350 ล้านบาท ทั้งๆที่ลงนามพร้อมสัญญาที่ 4 นั้น ผู้ว่ากทพ.อธิบายว่า เพราะเจอผลกระทบจากภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปี 2562-2563 พอดี จึงต้องมีการขยายเวลาก่อสร้างออกไป และการก่อสร้างมีการให้เวลาแก้แบบเพิ่มเติมด้วย จากการรื้อย้ายสาธารณูปโภค
ปัจจุบันการจราจรบนถนนพระราม 2 มีปริมาณรถยนต์ที่สูงสุดในประเทศไทย โดยช่วงดาวคะนอง - วงแหวนฯ ระยะทาง 11 กม.เมื่อปลายปี 2566 มีปริมาณรถยนต์ที่ 256,000 คัน/วัน, ช่วงถึงสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน ปริมาณจราจรลดลงมาที่ 130,000 คัน/วัน, จากข้ามแม่น้ำท่าจีน - จ.สมุทรสงคราม - แยกวังมะนาว ปริมาณจราจรจะลดลงเหลือ 80,000 คัน/วัน
อ่านประกอบ
ผ่า 3 โปรเจ็กต์ ถนนพระราม 2 สร้างถึงไหนแล้ว? เอฟเฟกต์ 'หัวหิน' คนเที่ยวน้อย