'ผู้ว่าแบงก์ชาติ' ให้สัมภาษณ์ 'สื่อญี่ปุ่น' ย้ำไม่มีความจำเป็นต้องลดดอกเบี้ยตามคำขอ 'นายกฯ' ยืนยันเศรษฐกิจไทย 'ไม่วิกฤติ' ขณะสื่อญี่ปุ่นมอง 'เศรษฐา' ต้องการอ้างตัวเลขเศรษฐกิจไทยวิกฤติ หวังผลักดัน 'ดิจิทัลวอลเลต'
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ก.พ. สำนักข่าวนิกเกอิของประเทศญี่ปุ่น เผยแพร่บทสัมภาษณ์นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยสื่อญี่ปุ่นแห่งนี้ ระบุว่า ธปท.ได้คัดค้านข้อเรียกร้องให้มีการจัดประชุมฉุกเฉินเพื่อปรับลดอัตราดอกเบี้ย ในขณะที่นายเศรษฐพุฒิ บอกว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างและวัฎจักรที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย จะไม่ได้รับการแก้ไขด้วยการพลิกกลับของนโยบายทางการเงิน
ทั้งนี้ นายเศรษฐพุฒิ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวนิกเกอิ ว่า ธนาคารกลางจะ 'ไม่ดันทุรัง' ต่อสถานการณ์ดอกเบี้ยในขณะนี้ซึ่งอยู่ในระดับสูงในรอบทศวรรษ แต่ขอให้พิจารณาตัวเลขล่าสุดที่แสดงให้เห็นถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบ และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่เติบโตเพียง 1.9% ในปี 2566 ที่ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด ซึ่งเป็นผลจากอุปสรรคทางการเมืองที่ทำให้งบประมาณรัฐบาลปี 2567 ล่าช้า
“ถ้าเราลดอัตราดอกเบี้ยลง มันไม่ได้ทำให้นักท่องเที่ยวจีนใช้จ่ายมากขึ้น หรือทำให้บริษัทจีนนำเข้าปิโตรเคมีจากประเทศไทยมากขึ้นแต่อย่างใด แล้วมันก็ไม่ได้ทำให้รัฐบาลกระจายงบประมาณได้รวดเร็วขึ้นด้วย และนี่คือปัจจัยหลัก 3 ประการที่ทำให้การเติบโตเศรษฐกิจไทยค่อนข้างช้า” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
สื่อญี่ปุ่นรายงานว่า แรงกดดันทางการเมืองที่ส่งถึงธนาคารกลางกำลังมีมากขึ้น ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบต่อเนื่องถึง 4 เดือน ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการอุดหนุนด้านพลังงานของภาครัฐ ประกอบกับรายรับจากการท่องเที่ยวที่อ่อนแอและการหดตัวของการส่งออก แต่ในการประชุมเมื่อวันที่ 7 ก.พ. ธนาคารกลางยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ซึ่งเป็นการปฏิเสธข้อเรียกร้องของนายกฯเศรษฐา ทวีสิน ที่เรียกร้องให้ลดดอกเบี้ยนโยบายลง
นายเศรษฐาได้ย้ำถึงข้อเรียกร้องนี้อีกครั้งเมื่อวันที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา หลังจากมีการเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) ที่อ่อนแอลง และเรียกร้องให้ธนาคารกลางจัดการประชุมหารือเป็นการฉุกเฉินก่อนการประชุมทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 10 เม.ย.นี้
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวถึงความสัมพันธ์ของเขากับนายเศรษฐา ซึ่งควบตำแหน่ง รมว.คลัง โดยยืนยันว่า นายเศรษฐา มีความเป็นมืออาชีพและมีความจริงใจ 'แต่ปฏิเสธว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะวิกฤต' แม้ว่านายเศรษฐาได้พยายามชี้ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอมาตลอด เพื่ออ้างว่าเศรษฐกิจไทยวิกฤติ ซึ่งนี่จะส่งผลทำให้กระบวนการทางนิติบัญญัติ สามารถอนุมัติการเดินหน้านโยบาย 'ดิจิทัลวอลเลต' ได้ง่ายขึ้น
“การฟื้นตัวแม้จะมีความอ่อนแอ แต่มันก็มีความต่อเนื่อง” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าว
นิกเกอิรายงานต่อไปว่า ท่าทีของรัฐบาลที่มีต่อธนาคารกลาง ทําให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความเป็นอิสระของธนาคารกลาง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ขณะที่เศรษฐพุฒิไม่มีสิทธิ์ได้รับการต่ออายุ หลังจากหมดวาระในปี 2568 เนื่องจากเขาจะเกษียณอายุในวัย 60 ปี
“มีความตึงเครียดแต่ก็อยู่ในลักษณะที่สร้างสรรค์ระหว่างรัฐบาลและธนาคารกลางอยู่เสมอ เพราะเราสวมหมวกที่แตกต่างกัน ไม่มีเหตุผลใดที่ทั้งสองจะทํางานร่วมกันไม่ได้ คุณเพียงแค่ต้องเข้าใจว่า เรามีบทบาทที่แตกต่างกันตามกฎหมาย” นายเศรษฐพุฒิกล่าว
ผู้ว่าการธนาคารฯ กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางได้ฝ่าฟันกับเสียงเรียกร้องเพื่อให้เปลี่ยนแปลงนโยบาย หลังมีข้อวิจารณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยตามหลังแนวโน้มของทั่วโลกที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ปี 2565
“เราบอกว่าไม่ นั่นไม่เหมาะสมสำหรับเรา เพราะว่าการฟื้นตัวของเรานั้นช้ากว่าประเทศอื่นๆ” นายเศรษฐพุฒิระบุ
ในการประชุมเมื่อวันที่ 10 ก.พ. คณะกรรมการฯ (คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.) จำนวน 2 คนลงมติให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ซึ่งนายเศรษฐพุฒิ กล่าวกับนิกเกอิว่า เสียงส่วนน้อยมีความกังวลเกี่ยวกับอุปสรรคเชิงโครงสร้างที่มีความรุนแรงมาก ดังนั้น จึงอาจเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่จะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ใกล้เคียงกับสิ่งที่พวกเขาคิดว่าเป็น “ความเป็นกลางในรูปแบบใหม่”
นอกเหนือจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน อาทิ จำนวนประชากรและผลิตผลจากแรงงานที่ลดลงแล้ว คณะกรรมการฯยังเห็นถึงความกังวลที่ประเทศไทยพึ่งพาภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว ซึ่งมีแรงงานคิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 5 ของแรงงานไทยทั้งหมด และคิดเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันเมื่อเทียบกับในจีดีพี
“สิ่งที่เราเห็น คือ การทดแทนการนําเข้ามากขึ้นในประเทศจีน...ซึ่งนั่นไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของวัฏจักรในเศรษฐกิจจีน แตยังรวมถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่พวกเขา (จีน) ที่ผลิตด้วยตัวเองมากขึ้น และไม่ได้มีการนำเข้า” นายเศรษฐพุฒิกล่าว
ในขณะที่การเข้าพักที่สั้นลงและการใช้จ่ายที่ลดลงของนักท่องเที่ยว ก็ทำให้เกิดความกังวลเช่นกัน โดยนายเศรษฐพุฒิ ตั้งข้อสงสัยว่า ประเทศไทยอาจจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาถึง 40 ล้านคนต่อปี แต่ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่บันทึกไว้ในปี 2562 ก่อนโควิดระบาด
“สิ่งต่างๆ เปลี่ยนไปมากอันเป็นผลมาจากโควิด” ผู้ว่าการธนาคารฯกล่าว และระบุว่า “มันเป็นเรื่องเสี่ยงที่จะสรุปว่า ทุกอย่างจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมด้วยความล่าช้า คุณต้องทำอะไรสักอย่าง หากคุณต้องการได้ตัวเลขนั้น”
อนึ่ง นายกรัฐมนตรีเศรษฐา เคยกล่าวว่า เขาจะไม่แทรกแซงธนาคารกลางแต่จะพยายามโน้มน้าวให้ "เห็นใจคนที่กำลังทรมาน”
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวย้ำกับนิกเกอิว่า “พวกเขากำลังเผชิญกับความเจ็บปวด เพราะว่ารายได้ไม่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วตามที่เราต้องการ แต่เราก็รู้สึกถึงวิธีการที่ดีกว่าในการแก้ไขปัญหา คือ การออกมาตรการที่ตรงเป้าหมาย และมันไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสม ที่จะต้องมาแจกอุปกรณ์ช่วยชีวิตให้กับทุกๆคน”
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ กล่าวว่า เขารับรู้ถึงผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยที่สูงที่มีต่อผู้กู้ แต่กล่าวว่า การลดอัตราดอกเบี้ยก่อนเวลาอันควร จะเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงิน เนื่องจากหนี้ครัวเรือนยังคงอยู่ที่มากกว่า 90% ของจีดีพี
“ผมคิดว่าหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นนั้น ไม่ใช่ส่วนเล็กๆเลย เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยต่ำมากมาเป็นเวลา มันกระตุ้นให้คนกู้ยืม ดังนั้น การลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง ผมคิดว่าเป็นการส่งสัญญาณที่ผิด ในแง่ของการพยายามทําให้หนี้ครัวเรือนมีความยั่งยืนมากขึ้น” นายเศรษฐพุฒิกล่าว
เรียบเรียงจาก:https://asia.nikkei.com/Editor-s-Picks/Interview/Bank-of-Thailand-chief-denies-economy-in-crisis-as-PM-urges-rate-cut