'ทักษิณ' ได้รับการพักโทษ กลับถึงบ้านจันทร์ส่องหล้าแล้ว ขบวนรถเดินทางออกจาก รพ.ตำรวจ เวลา 06.09 น. สวมใส่หน้ากากอนามัย-เฝือกทางการแพทย์ที่คอ "อุ๊งอิ๊ง" นั่งเคียงข้าง ก่อนหน้านี้พี่น้องชินวัตรขึงป้ายผ้ารอต้อนรับ ด้านเลขาป.ป.ช.รับเรื่องสอบอธิบดีกรมคุก-ผอ.รพ.ตำรวจ-ฝ่ายการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการให้ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลแล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในช่วงเวลา 06.09 น. วันที่ 18 ก.พ.2567 ที่ผ่านมา นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางออกจากโรงพยาบาลตำรวจ เพื่อมุ่งหน้ากลับบ้านพักจันทร์ส่องหล้าซอยจรัญสนิทวงศ์ 69 หลังได้รับการพักโทษเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากเข้าเกณฑ์เป็นผู้ต้องขังอาวุโสและเจ็บป่วยเรื้อรัง โดยครบกำหนด 180 วัน ในวันที่ 18 ก.พ.67 และจะเข้าสู่กระบวนการคุมประพฤติ เป็นเวลา 6 เดือน ก่อนที่จะพ้นโทษ ในช่วงเดือน ส.ค.67
โดยนายทักษิณ ได้เดินทางออกจากโรงพยาบาลตำรวจ สวมใส่หน้ากากอนามัยและเฝือกทางการแพทย์ที่คอ มีนางสาวพินทองทา ชินวัตร หรือ "อุ๊งอิ๊ง" หัวหน้าพรรคเพื่อไทย บุตรสาว นั่งเคียงข้าง ก่อนถึงบ้านจันทร์ส่องหล้าในเวลา 06.33 น. มีสื่อมวลชนจำนวนมากติดตามทำข่าวอย่างใกล้ชิด (ภาพปกจากhttps://www.thaipbs.or.th/)
@ทักษิณ ชินวัตร
ขณะที่ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 17 ก.พ.2567 บรรยากาศที่หน้าบ้านจันทร์ส่องหล้า 3 พี่น้องครอบครัวชินวัตร ได้แก่ นายพานทองแท้ ชินวัตร, นางสาวพินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ และนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นำป้ายผ้ามาติดหน้าบ้าน มีข้อความว่า Welcome Home We’re been waiting for this day for so so long. (ยินดีต้อนรับกลับบ้าน พวกเรารอคอยวันนี้มานานมาก)
ขณะที่นางสาวพินทองทา บุตรสาวคนกลางของนายทักษิณและคุณหญิงพจมาน โพสต์วิดีโอและข้อความผ่านอินสตาแกรม ‘@aimpintongta’ว่า บันทึกความรู้สึกส่วนหนึ่งของร้อยที่มีในใจตอนนี้
ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2549 ตัวเอมเอง ในวันนั้นก็ไม่คิดว่าทุกอย่างจะยาวนานมาถึงวันนี้…17ปี มีหลากหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นล้วน เป็นบททดสอบที่เข้มข้น และเป็นบทเรียนที่หลากหลาย ทำให้เราได้เติบโตและเข้มแข็ง และความรู้สึกท่วมท้นนี้ไม่สามารถบรรยายได้ครบจริงๆ
ตั้งแต่คิดตัดสินใจว่าจะแต่งงานดีมั๊ยเมื่อ 12 ปีที่แล้ว หรือจะรอพ่อกลับมาก่อนดี(เพราะเราเป็นลูกคนแรกที่แต่งงาน) สุดท้ายพ่อกับแม่บอกเราว่าให้เดินหน้าต่อไปอย่าหยุดชีวิต รอเรื่องพ่อเรียบร้อย อยากเห็นลูกมีความสุข สร้างครอบครัว
จนเรามีลูกแฝด เอมินานิหลานคู่แรกของตาตา ตาตาเฝ้าวีดีโอโทรหาเพราะไม่สามารถมาร่วมรอลุ้นหน้าห้องคลอดได้…ผ่านไปจน แต่งงานกันครบหมด โอ๊ค เอม อิ้งค์ และ หลานคลอดครบ7 คน คุณตาก็ไม่ได้อยู่ตรงนั้น…หลานจิ๋วทุกคนก็สู้พร้อมบินตั้งแต่ยัง4-5เดือนกันเสมอมา ด้วยหวังอยากให้หลานๆได้มีโอกาสใกล้ชิดกับคุณตา ซึ่งน่าแปลกใจหลานๆทุกคนสนิทสนมกับคุณตามากมายถ้าเทียบกับจำนวนวันที่ได้อยู่ด้วยกันจริงๆที่ต่างประเทศ มาวันนี้หลานทุกๆคนดีใจมากๆที่ได้มีโอกาสได้อยู่ร่วมกันครั้งแรกในชีวิต ที่เมืองไทย
สำหรับคุณพ่อที่เป็นที่รักของพวกเราทั้งครอบครัว พวกเราขอขอบคุณที่พ่อตัดสินใจกลับมาและอดทนกับทุกๆเรื่องไม่ว่าจะเจ็บป่วยหรือเครียด เหงา พ่อไม่เคยบ่นให้พวกเราเป็นห่วงหรือลำบากใจเลย อีกทั้งส่งพลังบวกให้พวกเราที่ไปเยี่ยมทุกๆครั้งจริงๆ! ทำได้ไง
สุดท้ายนี้เอมและครอบครัวขอขอบพระคุณทุกๆกำลังใจที่มีให้พวกเราทุกๆคนในครอบครัว รู้สึกซาบซึ้งใจมากๆ จากใจพวกเราทุกๆคนค่ะ
“We have been waiting for this day for so so long.” ประโยคที่เรียบง่ายจากใจที่บริสุทธิของเด็กน้อย ตอนลูกๆพูดว่าจะเขียนประโยคนี้บนป้ายให้คุณตาตา…แม่แทบจะร้องไห้ (หรือร้องแล้ว)
ที่มา: @aimpintongta
@รับเรื่องสอบอธิบดีราชทัณฑ์-ผอ.รพ.ตร.-ฝ่ายการเมือง ปม ‘ทักษิณ’ แล้ว
ด้านนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า ป.ป.ช.รับการร้องเรียนให้ตรวจสอบอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลตำรวจ และฝ่ายการเมืองผู้เกี่ยวข้องในกรณีพิจารณาอนุญาตให้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้ต้องขังเด็ดขาดไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลภายนอกเรือนจำ จนกระทั่งถึงวันพักโทษ ว่ามีพฤติการณ์เอื้อประโยชน์และกระทำการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม หรือไม่แล้ว
ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง และเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ข้อมูลทั้งกรมราชทัณฑ์และโรงพยาบาลตำรวจ เพราะตามขั้นตอน ต้องได้ข้อมูล ข้อเท็จจริงก่อน ระเบียบมีกฎหมายวิธีปฏิบัติอย่างไรในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร ซึ่งจะต้องตรวจว่าคนที่เกี่ยวข้องเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ มีตำแหน่งที่เกี่ยวข้องหรือไม่ และมีการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้องหรือไม่ ส่วนจะเป็นความผิดหรือไม่ต้องดูที่ข้อเท็จจริง หากพบว่ามีมูลความผิดจริง จะมีการตั้งไต่สวน แล้วเชิญพูดถูกกล่าวหามาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา แต่หากพบว่ากฎหมายเปิดช่องให้สามารถดำเนินการได้ เป็นการใช้ดุลยพินิจถูกต้องก็ไม่มีปัญหา ป.ป.ช.ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ หากฝ่าฝืนกฎหมาย ก็ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง จึงยังเร็วไปที่จะชี้ว่าใครถูกหรือผิด
@สอบดุลพินิจผู้เกี่ยวข้อง ต้องดูกฎหมาย-ระเบียบก่อน
ส่วนการตรวจสอบพฤติกรรมว่ามีการเอื้อประโยชน์จริงหรือไม่แม้จะมีกฎหมายรองรับ นายนิวัติไชย กล่าวว่า มีกฎหมายระเบียบรองรับและไม่ได้ทำผิดกฎหมายและกฎหมายเปิดช่องให้สามารถทำได้ ต้องมีการแยกกันกับเรื่องความเหมาะสม ป.ป.ช.ไม่สามารถตรวจสอบเรื่องความเหมาะสมหรือเจตนาได้ หากมีการทำตามกฎหมาย แต่ถ้าดำเนินการผิดกฎหมายจึงจะมีเจตนาในทางอาญา หากมีการดำเนินการตามกฎหมายว่าควรจะส่งบุคคลไหนไปรักษาตัวและกฎหมายเปิดช่องว่าให้เป็นดุลยพินิจเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็อาจจะใช้ดุลยพินิจซึ่งอาจจะมีการใช้ดุลยพินิจกับคนอื่นอีกก็ได้ ป.ป.ช. ไม่ทราบว่าการใช้ดุลยพินิจกับใครบ้าง
ส่วน ป.ป.ช.จะตรวจสอบไปถึงการใช้ดุลพินิจว่ามีความถูกต้องเหมาะสมหรือไม่และการใช้ดุลพินิจตามอำนาจที่มีอยู่ในกฎหมายไปในทางไม่ถูกต้องหรือไม่ นายนิวัติไชย กล่าวว่า จะต้องมีการตรวจสอบควบคู่กันไป แต่อย่างแรกต้องดูข้อกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติและมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้วางเส้นแล้วไม่ให้มีการฝ่าฝืน ส่วนหลังจากเมื่อมีกฎหมายแล้วทำเลยกฎหมาย ระเบียบและมติที่อนุญาตให้ทำได้ ก็ต้องมาดูแนวปฏิบัติว่ามีการเลือกปฏิบัติหรือไม่ ซึ่งถือเป็นเรื่องของการใช้ดุลพินิจ อย่างไรก็ตาม หากกฎหมายอนุญาตให้ทำได้ ก็ยอมรับว่า เรื่องของการตรวจสอบการใช้ดุลพินิจเป็นเรื่องลำบาก เหมือนกรณีศาลตัดสินคดีก็มีฝ่ายที่แพ้ฝ่ายชนะ ก็เป็นการใช้ดุลพินิจที่ทำได้โดยกฎหมาย ระเบียบวิธีปฏิบัติ แล้วจะชี้อย่างไร ซึ่งยังไม่รู้ข้อเท็จจริงเพียง จึงพูดโดยหลักการเท่านั้น
ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่ากรมราชทัณฑ์มีการออกระเบียบมารองรับไว้ก่อนแล้ว และหลังจากนั้น ก็ได้รับตำแหน่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์นั้น เลขาฯ ป.ป.ช.กล่าวว่า ต้องดูว่าสิ่งที่ทำ ทำคนเดียวหรืออย่างไร เรื่องนี้จะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงไม่สามารถไปวิจารณ์ก่อนหน้าว่าทำเพื่อเอื้อประโยชน์ ย้ำว่า ขอดูข้อเท็จจริงก่อน เพราะเป็นเพียงปัญหาตุ๊กตายังไม่รู้ว่าเกิดขึ้นจริงหรือไม่
@’ทักษิณ’ ได้รับพักโทษ เข้าเกณฑ์ตาม ม.62 พ.ร.บ.ราชทัณฑ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการพักโทษ ผู้ต้องขังครั้งนี้ มีคณะอนุกรรมการพักโทษพิจารณา จำนวน 945 คน โดยมีการอนุมัติจำนวน 930 คน ซึ่งการพักโทษอยู่ในพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ 2560 มาตรา 62 ซึ่งการที่จะพิจารณาบุคคลที่พักโทษ กล่าวคือต้องรับโทษมาแล้วอย่างน้อย 6 เดือน หรือรับโทษมา 1 ใน 3 โดยต้องมีโทษจำคุกเหลือไม่เกิน 10 ปี ซึ่งการดำเนินการเป็นไปตามกฎหมาย โดย นายทักษิณ มีรายชื่อเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับการพิจารณาพักโทษ
ในการพักโทษครั้งนี้ ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ แล้ว ผู้ที่ได้รับการพักโทษ เป็นกรณีพิเศษ จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขคุมประพฤติ และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข 8 ข้อ คือ 1.ผู้ได้รับการพักโทษ จะต้องพักอาศัยอยู่ตามที่อยู่ที่แจ้งไว้กับเรือนจำ, 2.ห้ามออกนอกเขตท้องที่ที่อาศัยโดยไม่ได้รับอนุญาต, 3.ห้ามประพฤติตนเสื่อมเสีย เช่น เล่นการพนัน ดื่มสุรา ยาเสพติด และกระทำผิดอาญา, 4.ต้องประกอบอาชีพโดยสุจริต,5.ปฏิบัติตามลัทธิศาสนา,6.ห้ามพกพาอาวุธ,7.ห้ามไปเยี่ยมบ้านหรือติดต่อกับนักโทษอื่นที่ไม่ใช่ญาติ,8.ต้องไปรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติเรือนจำ เจ้าพนักงานปกครอง หรือหัวหน้าสถานีตำรวจทุกเดือน