ครม.สั่ง ‘คมนาคม’ กำกับ ‘รฟท.’ เร่งรัดจัดทำรายงานศึกษาฯ สรรหาผู้ประกอบการร่วมลงทุน ‘ไอซีดี’ ลาดกระบัง 4 หมื่นล้าน หลัง ‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ ชี้ 'คมนาคม-รฟท.-สคร.' ละเลยหน้าที่ ทำให้โครงการฯล่าช้า
...........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา ครม. มีมติให้กระทรวงคมนาคมกำกับให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เร่งรัดพิจารณาจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยให้ประสานกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อดำเนินการให้สอดคล้องกับกฎหมายร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 22 ม.ค.2564 ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของ รฟท. กระทรวงคมนาคม และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กรณีดำเนินโครงการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบังล่าช้า และได้ส่งคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะฯในเรื่องดังกล่าว ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อเสนอให้ ครม.พิจารณา ดังนี้
1.ให้กระทรวงคมนาคม เสนอผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการเพิ่มเติม ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ต่อ ครม.เพื่อทราบ และมีความเห็นให้แก้ไขหรือยกเว้นการปฏิบัติตามมติของ ครม.เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2562 ในส่วนของการศึกษาและวิเคราะห์โครงการเพิ่มเติมตามมาตรา 4 (9) แห่ง พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2548
2.ให้ รฟท. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และกระทรวงคมนาคม ดำเนินการดังนี้
(1) ให้ รฟท. เสนอร่างสัญญาร่วมลงทุนต่อคณะกรรมการคัดเลือกฯพิจารณาทบทวนให้เป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2562 และความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเสนอต่อ สคร. เพื่อดำเนินการต่อไป ตามมาตรา 40 (1) แห่ง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556
(2) ให้ สคร.เสนอความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อรัฐมนตรีเจ้าสังกัด และส่งร่างสัญญาให้อัยการสูงสุดพิจารณา ตามมาตรา 40 (1) และ (2) แห่ง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556
(3) ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาสนอความเห็นประกอบเรื่องทั้งหมดแล้วนำเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาตัดสินชี้ขาด ตามมาตรา 41 และ 42 แห่ง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556
ต่อมา เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2566 กระทรวงคมนาคมได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาเรื่องการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน เรื่อง การละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของ รฟท. กระทรวงคมนาคม และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กรณีดำเนินโครงการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบังล่าช้า โดยหน่วยงานต่างๆได้ให้ข้อคิดเห็นต่อแนวทางการดำเนินการ ดังนี้
กระทรวงคมนาคม มีความเห็นว่า
มติ ครม. เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2562 ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมรับไปพิจารณาจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการให้เป็นไปตามนัยกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โดยเมื่อ รฟท. จัดส่งรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการฯ มาเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี นั้น กระทรวงคมนาคม ได้พิจารณารายงานดังกล่าวและพบข้อเท็จจริงว่ารายงานการศึกษาดังกล่าว ไม่ครบถ้วนเพียงพอที่จะเสนอ รมว.คมนาคม พิจารณาให้ความเห็นชอบ ไม่ว่าจะเป็นไปตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนฯ พ.ศ.2556 หรือ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐฯ พ.ศ.2562
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้ รฟท. ดำเนินการปรับปรุงรายงานผลการศึกษาให้ครบถ้วนตามหัวข้อ/ประกาศ ของกฎหมายการร่วมลงทุนแล้ว
อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินได้รายงานข้อเสนอแนะเพื่อให้ ครม. พิจารณาสั่งการ และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำความเห็นต่อเรื่องดังกล่าว ในส่วนของกระทรวงคมนาคมมีความเห็นใน 3 ประเด็น ดังนี้
1.โครงการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง ยังต้องดำเนินการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2562 ที่กำหนดให้กระทรวงคมนาคมรับไปพิจารณาจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ ให้เป็นไปตามนัยกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และดำเนินการให้ถูกต้อง ครบถ้วน เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน
2. รฟท.จะต้องจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนและเสนอ ครม. ตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
3.รฟท.จะต้องพิจารณาวิธีการตามขั้นตอนของกฎหมาย กรณีผลการศึกษาที่จะนำเสนอ ครม. พิจารณาไม่สอดคล้องกับผลการประกวดราคาจะมีการดำเนินการอย่างไร
ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ มีความเห็น ดังนี้
1.เมื่อพิจารณามติ ครม. เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2562 ประกอบความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีความเห็นสรุปได้ว่า การจัดทำสัญญาร่วมลงทุนและการเจรจากับเอกชนต้องอยู่ภายใต้กรอบและหลักการของมติ ครม. เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2556 โดยหากมีการเปลี่ยนแปลงหลักการและเงื่อนไขในข้อสัญญาร่วมลงทุนไปจากเล่มการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการที่ได้เสนอคณะรัฐมนตรีไปแล้วจะต้องดำเนินการตามกฎหมายที่กำหนดต่อไป
ดังนั้น ในขั้นตอนการนำเสนอ ครม. ตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน กระทรวงคมนาคมจะต้องนำเสนอตามขั้นตอนของกฎหมายด้วย
2.ตามข้อเสนอของกระทรวงคมนาคมที่แจ้งว่า สาระสำคัญของรายงานที่ รฟท.เสนอ ไม่ครบถ้วนตามกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนนั้น ขอสอบถามกระทรวงคมนาคมว่า หาก รฟท. ดำเนินการจัดทำรายงานการศึกษาครบถ้วน และเป็นไปตามนัยกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกซนแล้ว กรณีนี้ กระทรวงคมนาคมจะถือว่าเป็นการเสนอโครงการใหม่ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดใน พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 หรือไม่ อย่างไร
3.ผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) แจ้งที่ประชุมทราบว่า กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรพิจารณาความครบถ้วนของรายงานการศึกษาข้อดีข้อเสียการกำหนดเงื่อนไขและวิธีการประมูล โดยใช้การแข่งขันเสนอราคาค่าบริการต่ำสุดเป็นเกณฑ์ในการตัดสินคัดเลือกผู้ชนะการประมูลไอซีดี ลาดกระบัง
ปรากฎข้อเท็จจริงตามที่ฝ่ายเลขานุการได้รายงานต่อที่ประชุมว่า รายงานการศึกษาข้อดีข้อเสียดังกล่าว ไม่ได้จัดทำขึ้นตามความมุ่งหมายของกฎหมายการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการของรัฐในขั้นตอนของการเสนอโครงการ โดยเป็นการศึกษาประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือกฯ และยังมีรายละเอียดในรายงานการศึกษาไม่ครบถ้วนตามหัวข้อที่ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนฯ พ.ศ.2556 หรือ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐฯ พ.ศ.2562 กำหนด เช่น ผลตอบแทนทางด้านเศรษฐศาสตร์ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น เห็นควรให้ รฟท. พิจารณาจัดทำข้อมูลไม่ว่าจะเป็นการศึกษาเพิ่มเติมหรือการศึกษาใหม่ ให้ครบถ้วนเพื่อให้สามารถนำเสนอกระทรวงเจ้าสังกัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาตามขั้นตอนกฎหมายการร่วมลงทุนฯ ต่อไป
ผู้แทนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีความเห็นว่า
ในลำดับแรกเห็นควรให้ รฟท.ปรับปรุงรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการฯ โดยจะต้องมีรายละเอียดที่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามหลักเกณฑ์ของระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวซ้อง รวมทั้งปรับปรุงรายละเอียดให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของโครงการฯ และปรับปรุงให้เป็นข้อมูลปัจจุบัน ทั้งนี้ สำหรับการพิจารณาผลการคัดเลือกเอกชนผู้ร่วมลงทุนในโครงการฯ เห็นควรให้เป็นไปตามอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ต่อไป
ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด มีความเห็นว่า
รายงานการศึกษาฯ ตามกฎหมายร่วมลงทุน รฟท.ได้จัดทำและเสนอตามขั้นตอนจนนำไปสู่การอนุมัติของ ครม.เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2556 เรียบร้อยแล้ว ส่วนรายงานการศึกษาข้อดีข้อเสียฯ ที่จัดทำขึ้นปี 2558 เป็นการจัดทำประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ซึ่งหากมีการดำเนินการศึกษาและวิเคราะห์โครงการใหม่ให้ครบถ้วนเป็นไปตามนัยกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนฯ
จึงมีข้อสังเกตว่าอาจจะเป็นการเริ่มกระบวนการใหม่และจะต้องยกเลิกการประกวดราคาที่ได้ดำเนินการมาจนแล้วเสร็จ ซึ่งเป็นการประกวดราคาถูกต้องตามขั้นตอน
ทั้งนี้ มีความเห็นว่าโครงการไอซีดีที่ลาดกระบัง สัญญาสัมปทานเดิมหมดอายุไปนานแล้ว หาก รฟท.จะต้องเริ่มจัดทำรายงานการศึกษาฯ ในลักษณะโครงการใหม่ ผู้รับสัมปทานรายเดิม (6 ราย) ก็จะต้องประกอบกิจการต่อไป ผู้ประกอบการรายใหม่ (รายเดียว) ยังไม่สามารถเข้าประกอบการได้ ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับมติ ครม.ที่เคยอนุมัติในหลักการให้โครงการดังกล่าวมีผู้ประกอบการน้อยราย โดยอาจจะเกิดความเสียหายได้
ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเห็นว่า
นอกจากหัวข้อและสาระสำคัญของความครบถ้วนของรายงานการศึกษาฯ ที่กระทรวงคมนาคมได้นำเสนอเปรียบเทียบให้เห็นว่ายังมีไม่ครบถ้วน พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนฯ พ.ศ.2556 หรือ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐฯ พ.ศ.2562 แล้ว ยังมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่า เนื้อหาของรายงานการศึกษาฯ ได้ดำเนินการสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่จะต้องดำเนินโครงการด้วยหรือไม่ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า รฟท. จะต้องปรับปรุงรายงานการศึกษาฯ ให้สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินโครงการตามที่ ครม.ได้มีมติไว้เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2562 ด้วย
ผู้แทนกรมการขนส่งทางราง มีความเห็นว่า
ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเท่าที่ปรากฎรับฟังได้ว่า หลักการแห่งกฎหมายการร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ จะกำหนดขั้นตอนให้หน่วยงานเจ้าของโครงการ (รฟท.) ต้องทำการศึกษาและวิเคราะห์โครงการก่อนถึงขั้นตอนการเสนอรัฐมนตรีเจ้าสังกัดพิจารณาและเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งในกรณีนี้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรตรวจพบว่ารายงานผลการศึกษาฯ ของ รฟท.ยังไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ใน พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนฯ พ.ศ.2556 หรือ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐฯ พ.ศ.2562
ดังนั้น เมื่อการดำเนินโครงการยังไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายที่มุ่งถึงประโยชน์ของประเทศและสาธารณะเป็นสำคัญ กระทรวงคมนาคมในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบกลั่นกรองเรื่องเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณาลงนามส่งเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรีควรต้องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการแก้ไขข้อไม่สมบูรณ์นั้นให้ครบถ้วนเสียก่อน โดยไม่ควรผลักดันให้ ครม. เป็นผู้พิจารณาทั้งที่มีความชัดเจนแล้วว่ารายงานการศึกษาฯ ของการรถไฟแห่งประเทศไทยยังไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์จริง
ผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย มีความเห็นว่า
พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมงานฯ พ.ศ.2535 พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนฯ พ.ศ.2556 และ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐฯ พ.ศ.2562 กำหนดขั้นตอนการดำเนินงานไว้ในลักษณะเดียวกัน กล่าวคือ มีขั้นตอนการเสนอโครงการ การดำเนินโครงการ และการกำกับการดำเนินโครงการ
สำหรับโครงการไอซีดีที่ลาดกระบังได้นำเสนอโครงการให้ ครม. พิจารณาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมงานฯ พ.ศ.2535 ซึ่งโดยขณะนั้นกฎหมายกำลังจะสิ้นสภาพการบังคับใช้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการโครงการและให้ดำเนินการต่อไป ตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนฯ พ.ศ.2556 ซึ่ง รฟท.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ดำเนินการประกวดราคาจนได้เอกชนผู้ร่วมลงทุน และร่างสัญญาร่วมลงทุนนำเสนอ ครม.พิจารณาในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงที่ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐฯ พ.ศ.2562 มีผลบังคับใช้แล้ว
จึงทำให้โครงการอยู่ภายใต้บทเฉพาะกาล มาตรา 68 (1) ของ พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐฯ พ.ศ.2562 กล่าวคือ ยังเป็นโครงการที่ต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนฯ พ.ศ.2556 ให้แล้วเสร็จ
สำหรับประเด็นที่ ครม.ได้มีมติเมื่อวันที่ 28 พ.ค.2562 ให้กระทรวงคมนาคม (รฟท.) รับไปพิจารณาจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการให้เป็นไปตามนัยกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง และต่อมาผู้ตรวจการแผ่นดินได้เรียกประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงมีคำวินิจฉัยและข้อเสนอตามที่กระทรวงคมนาคมรายงาน
รฟท.จึงนำผลการศึกษาเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียที่ได้จัดทำเพิ่มเติมเสนอ ครม. ตามข้อสั่งการตามมติ ครม.ดังกล่าว จึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า กรณีที่ รฟท.จะต้องจัดทำรายงานการศึกษาใหม่จะต้องดำเนินการตามกฎหมายร่วมลงทุนฉบับใด เนื่องจากขั้นตอนเสนอโครงการ รฟท. ได้ดำเนินการเสร็จไปแล้ว ทั้งนี้ หากมีการศึกษารายงานฉบับใหม่จะส่งผลต่อผลการประกวดราคาที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ
@ย้อนมติ ครม.ปี 62 สั่ง‘คมนาคม’ทบทวน‘ไอซีดี’ลาดกระบัง
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า เมื่อปี 2559 รฟท.ได้เปิดประกวดราคาโครงการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง มูลค่าโครงการประมาณ 4 หมื่นล้านบาท แต่การประกวดราคาครั้งนี้มีการร้องเรียนเกี่ยวกับขั้นตอนและกระบวนการในการประมูลที่อาจไม่โปร่งใส ตลอดจนมีการฟ้องคดีไปยังศาลปกครอง ทำให้ต่อมา รฟท.ได้ยกเลิกการประมูล
ต่อมาในช่วงปลายปี 2561 รฟท. ได้เปิดประกวดราคาโครงการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง อีกครั้ง โดยครั้งนี้มีเอกชนยื่นข้อเสนอเพียง 1 ราย คือ กิจการร่วมค้า เอ แอล จี (ประเทศไทย) (ประกอบด้วย บริษัท อีสเทิร์นซี แหลมฉบังเทอร์มินัล จำกัด ,บริษัท เอเวอร์กรีนคอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล (ประเทศไทย) จำกัด ,บริษัท โอเชี่ยนเน็ตเวิร์ค เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ไทย อินเตอร์เนชั่นแนล โลจิสติกส์ จำกัด) จากผู้ซื้อเอกสารประกวดราคาทั้งสิ้น 10 ราย
จากนั้น รฟท.ได้เสนอผลการประกวดราคา ซึ่งกิจการร่วมค้า เอ แอล จี (ประเทศไทย) เป็นผู้ชนะการประกวดราคาฯ ไปให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา เพื่อเสนอ ครม.
อย่างไรก็ตาม ต่อมาเมื่อวันที่ 28 พ.ค.2562 ที่ประชุม ครม. มติให้กระทรวงคมนาคม รับเรื่อง ผลการคัดเลือกเอกชน ผลการเจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุน โครงการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง ของ รฟท. ไปพิจารณาจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการให้เป็นไปตามนัยกฎหมายว่าด้วยการรร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน
โดยให้มีการศึกษาข้อมูลตามความเห็นของกระทรวงการคลัง และ สศช. และข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน และดำเนินการให้ถูกต้อง ครบถ้วนเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และให้รับความเห็นของกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และ สศช. รวมทั้งความเห็นเพิ่มเติมของ รมว.คลัง เกี่ยวกับการจัดทำสัญญาร่วมลงทุนและการเจรจากับเอกชนผู้ร่วมลงทุน จะต้องดำเนินการให้อยู่ภายใต้กรอบและหลักการของมติ ครม.ที่อนุมัติไว้เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2556
พร้อมทั้งเห็นควรให้กระทรวงคมนาคมรับเรื่องนี้กลับไปพิจารณาทบทวน และดำเนินการให้ถูกต้อง เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และความเห็นเพิ่มเติมของเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาที่เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงหลักการและเงื่อนไขในร่างสัญญาร่วมลงทุนไปจากรายงานผลการศึกษาที่ได้นำเสนอต่อ ครม. มิใช่อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตามมาตรา 35
นอกจากนั้น การเปลี่ยนแปลงหลักการและเงื่อนไข ไม่ว่ากรณีใดสมควรที่จะต้องมีการศึกษาและวิเคราะห์โครงการเพื่อให้เป็นไปตามนัยกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนก่อน เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะมีความเหมาะสม คุ้มค่า หรือส่งผลดีต่อภาครัฐและประเทศหรือไม่ อย่างไร และจะต้องดำเนินการให้ถูกต้อง เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนด้วย ไปพิจารณาประกอบการดำเนินการก่อนนำเสนอ ครม.ต่อไป
อ่านประกอบ :
รฟท.แจงศาลฯ ยกเลิกประกวดโครงการไอซีดี รฟท. 4หมื่นล.-หลังถูกเอกชนฟ้อง
กระบวนการไม่สมบูรณ์!รฟท.แพร่มติยกเลิกประกวดราคาไอซีดี4หมื่นล.
เปิดปมปัญหาสถานีไอซีดีรฟท.4 หมื่นล.-ก่อนโดนปูดเงินวิ่งเต้นหล่น 300 ล.
ร้อง 'บิ๊กตู่' สอบประมูลไอซีดี- รฟท. 4หมื่นล.!เอกชนชี้ขัดหลักเกณฑ์เลือกผู้เสนอราคา
เอกชนผ่านรายเดียวตามคาด! รฟท.ประกาศผลประมูลไอซีดี4หมื่นล.ซองเทคนิค