นักวิชาการชี้โลกเผชิญวิกฤตหลายมิติ แนะปรับระบบ-สถานพยาบาลให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อความเสมอภาคด้านสุขภาพ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ องค์การแฟมิลี่ เฮลท์ อินเตอร์เนชั่นแนล สำนักงานภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (FHI 360) ร่วมกับกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ประจำประเทศไทย, ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB), Health Care without Harm Southeast Asia (HCWH-SEA), St. Luke’s Medical Center College of Medicine และ Health Systems Global (HSG) จัดเสวนาในหัวข้อ 'ความเสมอภาคด้านสุขภาพท่ามกลางวิกฤตหลากหลายมิติ การปรับระบบและสถานพยาบาลภายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ' (Health Equity Amidst Polycrises: Climate-Smart Healthcare in Asia-Pacific)
Thu-Ba Huynh, PhD. ที่ปรึกษาอาวุโสด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์การแฟมิลี่ เฮลท์ อินเตอร์เนชั่นแนล สำนักงานภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (FHI 360) กล่าวว่า การรับรู้และกำหนดนิยามให้กับภาวะวิกฤตที่ซับซ้อนเป็นการปูทางสู่ความเข้าใจแบบองค์รวม ต่อความท้าทายนี้ นับเป็นยุทธศาสตร์ที่สามารถแก้ปัญหาที่ต้นเหตุและช่วยส่งเสริมให้ระบบการดูแลสุขภาพและ สถานพยาบาลปรับตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้ได้
เช่นเดียวกับ สิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงาน UNFPA ประจำประเทศไทย ได้กล่าวเน้นย้ำถึงความจำเป็นสำหรับความร่วมมือกันในการจัดการกับสถานการณ์อันเป็นทางแยกระ หว่างความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่า UNFPA ไม่เพียงแต่ทำงานเพื่อปกป้องกลุ่มประชากรที่มีความเปราะบางโดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กผู้หญิง เท่านั้น แต่ยังมุ่งมั่นเพื่อมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจสำหรับนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศให้ครอบคลุมและทั่วถึงทุกกลุ่มมากขึ้น
Ramon San Pascual, MPH, ผู้อำนวยการบริหาร Health Care without Harm Southeast Asia ย้ำถึงความสำคัญของการปรับเปลี่ยนกรอบความคิดและแนวทางปฏิบัติด้านระบบการดูแลสุขภาพและสถานพยาบาลอย่างยั่งยืนว่า เราต้องการนวัตกรรมและความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในภาคส่วนด้านสุขภาพ
ทางด้าน Dr. Eduardo P. Banzon หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ สำนักงานการพัฒนามนุษย์และสังคม ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เปิดเผยถึงข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการข้อท้าทายทางการเงิน พร้อมทั้งกล่าวเน้นย้ำว่า ความท้าทายทางการเงินไม่ควรเป็นอุปสรรคต่อการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเสวนาครั้งนี้ทำให้มีการสำรวจว่าสถาบันในลักษณะเดียวกับธนาคารพัฒนาเอเชียมียุทธ ศาสตร์การลงทุนและการริเริ่มสิ่งใหม่ๆ อย่างไรบ้างที่จะสนับสนุนการรับมือต่อความเปลี่ยนแปลงและต่อสู้กับความท้าทายที่มากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ขณะที่ Renzo R. Guinto, MD DrPH ผู้อำนวยการ Planetary and Global Health Program, St. Luke’s Medical Center College of Medicine และประธาน Thematic Working on Climate-Resilient and Sustainable Health Systems และ Health Systems Global (HSG) กล่าวย้ำถึงความรับผิดชอบที่มากขึ้นของสถาบันการศึกษาและวิจัยว่า ยุคแห่งวิกฤตทับซ้อนหลายมิตินี้ ผนวกกับภัยคุกคามที่มีอยู่แล้วของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กระตุ้นให้เกิดความร่วมมือแบบสหวิทยาการมากขึ้น พวกเราที่ทำงานด้านนโยบายและระบบการดูแลสุขภาพและสถานพยาบาล ต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์ นโยบายสภาพภูมิอากาศ และอื่นๆ ด้วย
นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของนักวิชาการในการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยการสร้างฐานข้อมูลความรู้และเสนอวิธีใหม่ๆ เพื่อสร้างระบบการดูแลสุขภาพและสถานพยาบาลที่สามารถปรับเปลี่ยนอย่างเท่าทันต่อสภาพภูมิอากาศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วงเสวนานี้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมของการประชุมวิชาการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2567 ผู้เข้าร่วมการเสวนานี้ประกอบด้วยผู้กำหนดนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ นักวิจัย และตัวแทนจากภาคประชาสังคม องค์กรระหว่างประเทศ และภาคเอกชนล้วนแต่เป็นผู้เชี่ยวชาญที่จะมานำเสนอแนวแนวทางแก้ไขที่มีข้อมูลเชิงประจักษ์รองรับเพื่อจัดการกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อระบบสาธารณสุขในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีพลวัตทางภูมิศาสตร์การเมืองเฉพาะตัว มีความเหลื่อมล้ำที่ส่งผลมาจากอดีต และระบบสุขภาพที่มีความหลากหลาย
ทั้งนี้ ความพยายามร่วมกันในการประชุมวิชาการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2567 ย้ำถึงความสำคัญและความมุ่งมั่นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากหลากหลายสาขาวิชาในการแก้ไข ปัญหาที่ซับซ้อนร่วมกันท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสาธารณสุขในภูมิภาค เอเชียแปซิฟิกซึ่งจะปูทางไปสู่ผลลัพธ์ด้านสุขภาพและสภาพภูมิอากาศที่มีความพร้อมรับมือและยั่งยืนมากขึ้น