ก.ล.ต. กล่าวโทษ ‘อมร มีมะโน-พวก’ รวม 4 ราย ต่อ ‘ดีเอสไอ’ ร่วมกันทุจริต-ยักยอกเบียดบังเงิน AJD กว่า 145 ล้าน
.................................
เมื่อวันที่ 23 ม.ค. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษอดีตกรรมการและผู้บริหารของบริษัท คราวน์ เทค แอดวานซ์ จำกัด (มหาชน) (AJD) ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) (AJA) กับพวกรวม 4 ราย ได้แก่ (1) นายอมร มีมะโน (2) นายพิภัทร์ ปฏิเวทภิญโญ (3) บริษัท วินซาวด์ (ประเทศไทย) จำกัด (วินซาวด์ (ไทย))
และ (4) นายธนชาต ศิริภานุเขม ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรณีร่วมกันกระทำการทุจริต ยักยอกเบียดบังเงินของ AJD จำนวน 145 ล้านบาท เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือบุคคลอื่น ทำให้ AJD เสียหาย
สำหรับกรณีการสร้างราคาหุ้น AJD นั้น ก.ล.ต. พบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานว่า ในช่วงเดือนมิถุนายน 2557 นายอมร (ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการของ AJD) และนายพิภัทร์ (ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการและกรรมการของ AJD) ได้ร่วมกันตัดสินใจ อนุมัติ และลงนามในเช็คเพื่อสั่งจ่ายเงินของ AJD จำนวน 145 ล้านบาท ระบุชื่อผู้รับเงิน คือ วินซาวด์ (ไทย) โดยอ้างว่าเป็นค่ามัดจำในการสั่งซื้อสินค้า Set Top Box จากบริษัทแห่งหนึ่งในประเทศจีน
แต่จากการตรวจสอบ ไม่พบการจ่ายค่ามัดจำสินค้าให้แก่บริษัทในประเทศจีนแต่อย่างใด กลับพบเงินถูกถอนหรือโอนออกจากบัญชีเงินฝากธนาคารของ วินซาวด์ (ไทย) โดยนายธนชาต กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนและลงนามผูกพันของวินซาวด์ (ไทย) เพื่อเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของนายอมร นายพิภัทร์ และบุคคลอื่นอีกหลายรายซึ่งมีความสัมพันธ์กับนายอมรและ/หรือนายพิภัทร์
การกระทำของนายอมรและนายพิภัทร์ เป็นการกระทำผิดหน้าที่โดยทุจริต ยักยอกเบียดบังทรัพย์สิน แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตนเองและพวก อันเป็นการเสียหายแก่บริษัท เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 307 มาตรา 308 มาตรา 311 และมาตรา 313 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา โดยมีวินซาวด์ (ไทย) และนายธนชาต เป็นผู้ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการกระทำผิด จึงเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 315 ประกอบมาตรา 307 มาตรา 308 และมาตรา 311 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ และมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษผู้กระทำผิดทั้ง 4 รายข้างต้นต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ยังได้แจ้งการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ข้างต้น ต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตามความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรม ตามลำดับ ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะติดตามความคืบหน้าในการดำเนินคดีต่อไป และจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ เพื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ในกระบวนการภายหลัง ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษแล้ว
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับ นายอมร มีมะโน เป็นก่อตั้งบริษัทในเครือ AJ Group ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ AJ เคยดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บมจ.คราวน์ เทค แอดวานซ์ (AJD) ซึ่งต่อมาจะเปลี่ยนชื่อเป็น บมจ.เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี (AJA)
นายอมร เคยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการหลายเมืองหลายตำแหน่ง เช่น ข้าราชการการเมือง ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ,คณะทำงานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ,ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี นายพินิจ จารุสมบัติ และนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ,ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์รองประธานรัฐสภา พ.อ.ดร.อภิวันท์ วิริยะชัย และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นต้น
รายงานข่าวแจ้งด้วย เมื่อเดือน มี.ค.2562 นายอมร มีมะโน กับพวกรวม 40 ราย ได้ถูก ก.ล.ต. ดำเนินการตามกฎหมาย กรณีสร้างราคาหุ้น AJD ด้วยการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อขอให้กำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราโทษสูงสุดตามกฎหมายรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,303 ล้านบาทเศษ พร้อมรายงานการดำเนินการต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผู้กระทำความผิดทั้ง 40 รายดังกล่าว ไม่เข้ามารับทราบมาตรการลงโทษทางแพ่ง หรือไม่ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนดจึงพิจารณาได้ว่า ผู้กระทำความผิดทั้ง 40 รายไม่ยินยอมที่จะระงับคดีในชั้น ก.ล.ต. ดังนั้น ก.ล.ต. จึงมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีผู้กระทำความผิดทั้งหมดต่อศาลแพ่ง เพื่อขอให้กำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราโทษสูงสุดตามกฎหมาย รวมทั้งสิ้น 2,303,065,651.33 ล้านบาท เฉพาะรายของนายอมร นั้น ก.ล.ต.ให้ชำระค่าปรับทางแพ่ง 105,900,976.25 บาท
อ่านประกอบ :
ก.ล.ต.กล่าวโทษ‘มรกต ฉายทองคำ’ต่อ'บก.ปอศ.' ปมประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ โดยไม่ได้รับใบอนุญาต
สั่งปรับ 33 ล้าน! ก.ล.ต.ลงโทษทางแพ่งผู้กระทำผิด 9 ราย ปั่นหุ้น NMG-EIC-TH
ก.ล.ต.กล่าวโทษ ‘สุรพงษ์ เตรียมชาญชัย-พวก’ รวม 13 ราย ต่อ ‘บก.ปอศ.’ ร่วมกันปั่นหุ้น FVC
ก.ล.ต.กล่าวโทษ Bybit ต่อ‘บก.ปอศ.’ ทำธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลฯโดยไม่ได้รับอนุญาต
ก.ล.ต.กล่าวโทษ 6 อดีต กก. บ.ย่อย POLAR ต่อ‘บก.ปอศ.’ปมทุจริตซื้อขายห้องชุด เสียหาย 88 ล.
ก.ล.ต.กล่าวโทษ‘ซีอีโอ WORLD-พวก’ต่อ‘บก.ปอศ.’ แสวงหาปย.มิชอบกรณีทำธุรกรรมที่ดิน 30 ล้าน
ปรับ 8 ล้าน! ก.ล.ต.ลงโทษทางแพ่ง‘นพ.กำพล พลัสสินทร์-พวก’ รวม 3 ราย อินไซเดอร์หุ้น CHG
สั่งปรับ 13.75 ล้าน! ก.ล.ต.ลงโทษทางแพ่ง ผู้กระทำผิด 3 ราย ร่วมกันปั่นหุ้น TIGER ปี 61
ก.ล.ต.กล่าวโทษ‘วิน อุดมรัชตวนิชย์-พวก’ต่อ‘บก.ปอศ.’ ร่วมกันปั่นหุ้น TIGER เมื่อปี 61
ก.ล.ต.ยื่น‘อัยการ’ฟ้องผู้กระทำผิด 13 ราย เรียก 25 ล. คดีปั่นหุ้น‘SCI-GSC-ASIAN-FLOYD-RP’
ก.ล.ต.ยื่น‘อัยการ’ฟ้อง 2 ผู้กระทำผิด ชำระเงิน 12 ล. คดีสร้างปริมาณเทียมสินทรัพย์ดิจิทัล
ปรับ 4.9 ล้าน! ก.ล.ต.ลงโทษทางแพ่ง‘ลักษณา ทรัพย์สาคร-พวก’ใช้ข้อมูลภายในซื้อหุ้น TIPCO
ก.ล.ต.ยื่น‘อัยการ’ฟ้อง‘ฉัตรแก้ว คชเสนี-พวก’เรียกชำระเงิน 68 ล้าน คดีอินไซเดอร์หุ้น PTG
ก.ล.ต.สั่ง'ณุศาศิริ' ชี้แจง-ปรับปรุงข้อมูลซื้อหุ้น'วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง'หมื่นล้าน
สั่งปรับรวม 51.5 ล้าน! ก.ล.ต.ลงโทษทางแพ่ง 'ฉัตรแก้ว คชเสนี-พวก' อินไซเดอร์ขายหุ้น PTG
ก.ล.ต.กล่าวโทษ '1000X-วรวัฒน์' ประกอบธุรกิจ'ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล' โดยไม่ได้รับอนุญาต