เผยแพร่มติ ป.ป.ช. เสียงเอกฉันท์ตีตกข้อกล่าวหา 'สุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล' อดีตผอ.ขสมก.- พวกรวม 8 ราย ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่มิชอบโดยทุจริตในการสรรหาคัดเลือกผู้บริหารเพื่อสืบทอดตำแหน่ง หลังพิจารณาสำนวนไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงพยานหลักฐานฟังได้ว่ากระทำความผิด ไม่มีมูล แต่มีข้อสังเกตควรกำหนดเกณฑ์เงื่อนไขวิธีการรับสมัคร คกก.ต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียด้วย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2564 เสียงเอกฉันท์ตีตกข้อกล่าวหา นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กับพวก ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตในการสรรหาคัดเลือกผู้บริหารเพื่อสืบทอดตำแหน่ง (Succession Plan)
หลังพิจารณาสำนวนไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่ากระทำความผิดข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป แต่มีข้อสังเกตควรกำหนดเกณฑ์และเงื่อนไขวิธีการรับสมัครและวิธีการคัดเลือกพนักงานตามแผนสืบทอดตำแหน่ง (Succession Plan) โดยกำหนคะแนนการประเมินความเหมาะสมกับตำแหน่ง(สัมภาษณ์) และคะแนนวิสัยทัศน์ความคาดหวังและเป้าหมายในการปฏิบัติงานให้เหมาะสมกัน และคณะกรรมการสรรหาคัดเลือกต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียด้วย
คดีนี้ ปรากฏชื่อผู้ถูกกล่าวหา 8 ราย ได้แก่ 1. นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ, 2. นายยุกต์ จารุภูมิ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ, 3. นายนิพนธ์ เทียวพานิช รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์การ, 4. นายสุริยะ สาเอี่ยม รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถเอกชนร่วมบริการ , 5. นายประยูร ช่วยแก้ว ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์การ 1, 2 6. นายคมสัน โชติประดิษฐ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถเอกชนร่วมบริการ, 7. นายวีระพงษ์ วงศ์แหวน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ, 8. นางสาวศิริพร บุญเปี่ยม ผู้อำนวยการสำนักการเจ้าหน้าที่
สำนักงาน ป.ป.ช.ระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำผิดโดยสรุป ว่า องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. ได้ดำเนินการเพื่อสรรหาคัดเลือกผู้บริหารแทนตำแหน่งที่ว่างลงโดยในกระบวนการสรรหาคัดเลือกนั้น ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ในฐานะผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพได้มีคำสั่ง ที่ 264/2559 ลงวันที่ 5 เมษายน 2559 และคำสั่ง ที่ 274/2559 ลงวันที่ 18 เมษายน 2559 แต่งตั้งผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ถึงที่ 8 เป็นคณะกรรมการสรรหาคัดเลือกผู้บริหารเพื่อสืบทอดตำแหน่ง (Succession Plan) เพื่อดำเนินการสรรหาคัดเลือกผู้บริหารเพื่อสืบทอดตำแหน่ง ระดับ 7 - 10 ซึ่งคณะกรรมการสรรหาฯ ดังกล่าวได้ร่วมกันพิจารณากำหนดวิธีการรับสมัครและวิธีการคัดเลือกพนักงานตามแผนสืบทอดตำแหน่ง
โดยปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในการสรรหาคัดเลือกผู้บริหารเพื่อสืบทอดตำแหน่ง (Succession Plan) ดังกล่าว มีการแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีส่วนได้เสียเข้าร่วมเป็นกรรมการ คือ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 และผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 ได้สมัครเข้ารับการสรรหาคัดเลือกเพื่อสืบทอดตำแหน่ง รองผู้อำนวยการ ระดับ 10 และผู้ถูกกล่าวหาที่ 8 ได้สมัครเข้ารับการสรรหาคัดเลือกเพื่อสืบทอดตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการ ระดับ 9 ซึ่งบุคคลดังกล่าวได้ร่วมพิจารณาวิธีการสมัครและวิธีการคัดเลือก โดยแก้ไขวิธีการคัดเลือกจาก "การเข้ารับการอบรม" เป็น "การผ่านการอบรม" ตลอดจนอนุมัติ อนุญาต หรือเห็นชอบให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ซึ่งสมัครเข้ารับการสรรหาคัดเลือกเพื่อสืบทอดตำแหน่งรองผู้อำนวยการ ระดับ 10 ไม่ต้องเข้ารับการอบรมหลักสูตรพัฒนาผู้บริหารระดับสูงซึ่งเป็นหลักสูตรที่ ขสมก. จัดขึ้น โดยให้ใช้การอบรมในหลักสูตรอื่น คือ หลักสูตรการบริหารงานภาครัฐและกฎหมายมหาชน ของสถาบันพระปกเกล้า และหลักสูตรกฎหมายปกครองสำหรับผู้บริหารระดับสูง (กปส.) ของศาลปกครอง มาเปรียบเทียบสำหรับการประเมินในครั้งนี้
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 7 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นว่า จากการไต่สวนเบื้องต้นไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่า นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นายยุกต์ จารุภูมิ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 นายนิพนธ์ เทียวพานิช ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 นายสุริยะ สาเอี่ยม ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 นายประยูร ช่วยแก้ว ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 นายคมสัน โชติประดิษฐ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 นายวีระพงษ์ วงศ์แหวน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 และนางสาวศิริพร บุญเปี่ยม ผู้ถูกกล่าวหาที่ 8 ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
ทั้งนี้ ให้มีข้อสังเกตไปยังองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. ว่า ในโอกาสต่อไป ควรกำหนดเกณฑ์และเงื่อนไขวิธีการรับสมัครและวิธีการคัดเลือกพนักงานตามแผนสืบทอดตำแหน่ง (Succession Plan) โดยกำหนคะแนนการประเมินความเหมาะสมกับตำแหน่ง(สัมภาษณ์) และคะแนนวิสัยทัศน์ความคาดหวังและเป้าหมายในการปฏิบัติงานให้เหมาะสมกัน และคณะกรรมการสรรหาคัดเลือกต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียด้วย