'ศรัณย์ ทิมสุวรรณ' เลขาวิปรัฐบาลเผยความคืบหน้า 'ร่างพ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ...' ขณะนี้อยู่ในขั้นกฤษฎีกา ยืนยันเข้าทันประชุมสภาสมัยนี้แน่นอน คาดหลังปีใหม่น่าจะเรียบร้อย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ สส.เลย พรรคเพื่อไทย ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศราว่า ความคืบหน้าของร่างพ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ... อยู่ในขั้นตอนของกฤษฎีกา เมื่อผ่านขั้นตอนกฤษฎีกาจึงจะมาที่การพิจารณาวิปรัฐบาล คิดว่าหลังปีใหม่นี้น่าจะเรียบร้อย
"ดูจากเงื่อนเวลาแล้ว พ.ร.บ.นี้ (พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ...) เข้าในสมัยประชุมปัจจุบันแน่ ๆ แต่จะเป็นภายในเดือนมกราคมหรือไม่ ต้องดูว่าทางกฤษฏีกาดำเนินการเรียบร้อยแล้วหรือไม่ เพราะทางวิปรัฐบาลพร้อมรับและเร่งเข้าสภา" นายศรัณย์ กล่าว
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2566 ครม.มีมติเห็นชอบ 'ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ....' โดยมีสาระสำคัญ คือ การกำหนดกลไกในการบริหารจัดการและควบคุมกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศในทุกมิติ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5
โดยสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ มีดังนี้
1. คณะกรรมการเพื่อการจัดการอากาศสะอาด
กำหนดให้มีคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนเชิงนโยบายและเชิงวิชาการ และการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ดังนี้
1.1 คณะกรรมการนโยบายอากาศสะอาด ซึ่งมี นายกรัฐมนตรี ป็นประธานกรรมการ โดยมีหน้าที่และอำนาจในการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย
1.2 คณะกรรมการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ซึ่งมี รัฐมนตรีว่าการ เป็นประธานกรรมการ โดยมีหน้าที่และอำนาจในการขับเคลื่อนเชิงวิชาการ
1.3 คณะกรรมการอากาศสะอาดจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ และ คกก. อากาศสะอาดพื้นที่เฉพาะ ซึ่งจะแต่งตั้งเมื่อพบว่ามีสถานการณ์และระดับมลพิษทางอากาศในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นการเฉพาะ โดยมีหน้าที่และอำนาจในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่
2. ระบบการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดของประเทศ กำหนดให้ คณะกรรมการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดดำเนินการพัฒนาระบบการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดของประเทศ ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยมาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด ระบบเฝ้าระวังเพื่อคุณภาพอากาศสะอาด ระบบฐานข้อมูลคุณภาพอากาศแห่งชาติ กรอบแนวทางการพัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด และแผนปฏิบัติการการพัฒนาคุณภาพอากาศ
3. มาตรการการลดและควบคุมมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิด จำแนกได้ 4 ประเภท แหล่งกำเนิดประเภทสถานที่ถาวร แหล่งกำเนิดประเภทเผาในที่โล่ง แหล่งกำเนิดประเภทยานพาหนะ และแหล่งกำเนิดประเภทมลพิษข้ามแดน
4. เขตเฝ้าระวังและเขตประสบมลพิษทางอากาศ โดยกำหนดการประกาศเขตพื้นที่ในกรณีที่มีสถานการณ์พิเศษเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ
5. เครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่ออากาศสะอาด ดังนี้ ภาษีอากรสำหรับอากาศสะอาด ค่าธรรมเนียมการจัดการมลพิษทางอากาศ การกำหนดและโอนสิทธิในการระบายมลพิษทางอากาศ การประกันความเสี่ยง และมาตรการอุดหนุน สนับสนุน หรือส่งเสริมบุคคลหรือกิจกรรมสำหรับอากาศสะอาด
6. ความรับผิดทางแพ่งและบทกำหนดโทษ
อ่านประกอบ :
นายกฯ สั่งเร่งนำ กฎหมายสมรสเท่าเทียม-อากาศสะอาด เข้าครม. ภายใน 15 วัน
เปิด‘ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ’ ดึง'กลไกภาษี-เก็บค่าธรรมเนียม’ลดมลพิษ-กำหนดโทษ‘ปรับ-จำคุก’