“…เครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่ออากาศสะอาด เป็นเครื่องมือหรือมาตรการ เพื่อสร้างและเพิ่มหรือลดแรงจูงใจ หรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคล คณะบุคคล นิติบุคคล หรือชุมชน เพื่อวัตถุประสงค์ในการป้องกัน บำบัด ขจัด หรือลดมลพิษทางอากาศ หรือส่งเสริมให้มีอากาศสะอาด หมายความรวมถึง เครื่องมือหรือมาตรการต่าง เช่น ภาษีอากรสำหรับอากาศสะอาด ค่าธรรมเนียมการจัดการมลพิษทางอากาศ…”
..........................................
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา ครม.มีมติเห็นชอบ 'ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ....' โดยมีสาระสำคัญ คือ การกำหนดกลไกในการบริหารจัดการและควบคุมกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศในทุกมิติ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอสรุปสาระสำคัญร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ.... ที่ ครม. มีมติเห็นชอบ ดังนี้
@กำหนดให้‘การจัดการอากาศสะอาด’เป็นนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ
ความทั่วไป
(1) พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า 'พระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ....' พระราชบัญญัติฉบับนี้ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบ (60) วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (มาตรา 2)
(2) ขอบเขตการบังคับใช้กฎหมาย พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับทั่วราชอาณาจักร ตลอดจนเขตเศรษฐกิจจำเพาะ เขตไหล่ทวีป และทะเลหลวง ที่ประเทศไทยมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการเพื่อมาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายระหว่างประเทศ
หรือความตกลงที่ทำกับต่างประเทศ บรรดากฎหมาย กฎ ระเบียบ และข้อบังคับอื่นใดในส่วนที่บัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน (มาตรา 3)
(3) กำหนดคำนิยาม ได้แก่ อากาศสะอาด มาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด ดัชนีคุณภาพอากาศ ภาวะมลพิษทางอากาศ แหล่งกำนิดมลพิษอากาศ เผาในที่โล่ง คณะกรรมการตามกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น (มาตรา 4)
(4) ผู้รักษาการตามกฎหมาย กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ (มาตรา 5)
หมวด 1 บททั่วไป
(1) การกำหนดนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐว่าด้วยการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด โดยกำหนดให้รัฐต้องจัดให้มีระบบการบริหารจัดการสภาพแวดล้อมเพื่อความสะอาดของอากาศอันเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของประชาชน และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการจัดการเพื่อให้เกิดอากาศสะอาด
รัฐจะต้องดำเนินการจัดให้มีนโยบายในระดับชาติเกี่ยวกับการจัดการให้มีระบบสภาพแวดล้อมเพื่อการบริหารจัดการอากาศสะอาดที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน สั่งการต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด
โดยจะต้องให้ความสำคัญกับสาเหตุพื้นฐานอันเป็นที่มาของมลพิษทางอากาศแต่ละแหล่งกำเนิด ให้การสนับสนุนการบูรณาการการปฏิบัติงานของคณะกรรมการตามกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานของรัฐและภาคส่วนอื่นในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น ควัน และอากาศเสีย ด้วยการอำนวยความสะดวก
การสนับสนุนเครื่องมือวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ข้อมูลต่างๆ การจัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอ ดำเนินการทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อสร้างความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขภาวะมลพิษทางอากาศ รวมไปถึงการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศและระดับนานาชาติ
แจ้งเตือนหรือให้ข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศที่อาจจะมีผลกระทบต่อประชาชน กำหนดสิทธิในการดูแลรักษาสุขภาพ ของประชาชนที่ได้รับอันตรายต่อสุขภาพอันเนื่องมาจากภาวะมลพิษทางอากาศโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เป็นต้น (มาตรา 6)
(2) กำหนดบุคคลทุกคนมีสิทธิในการได้รับอากาศสะอาด สิทธิของบุคคลในการดำรงชีวิตด้วยอากาศสะอาด ประชาชนทุกคนมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่สำคัญเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศและคุณภาพอากาศที่จะส่งผลกระทบต่อตนเอง สิทธิในการเฝ้าระวัง สิทธิในการปกป้อง
ป้องกันตนเองและบุคคลอื่นจากภัยอันตรายที่เกิดจากมลพิษทางอากาศ สิทธิในการเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจในกระบวนการของรัฐ รวมถึงการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวกับการจัดการเพื่ออากาศสะอาด การมีส่วนร่วมในการกำหนดแผนการจัดทำแผน
การนำแผนไปสู่การปฏิบัติ การติดตามผลการดำเนินการให้เป็นไปตามแผน รวมถึงติดตามและร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐในการร่วมแก้ไขสถานการณ์ปัญหามลพิษทางอากาศ (มาตรา 7 และมาตรา 8)
(3) กำหนดให้บุคคลมีหน้าที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศที่สร้างผลกระทบเกินสมควรต่อบุคคลอื่น รวมถึงมีหน้าที่ในการสนับสนุนและส่งเสริมดำเนินการต่างๆ ร่วมกับหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการใดๆ เพื่อให้มีอากาศสะอาดให้ (มาตรา 9)
@ตั้งคณะกรรมการ 3 ชุด มีอำนาจ-หน้าที่บริหารจัดการอากาศสะอาด
หมวด 2 คณะกรรมการเพื่อการจัดการอากาศสะอาด
กำหนดให้มีคณะกรรมการชุดต่างๆ ในกฎหมายเพื่อทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย และการขับเคลื่อนเชิงวิชการ และการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ โดยมีคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ดังนี้
-คณะกรรมการนโยบายอากาศสะอาด มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ โดยมีหน้าที่และอำนาจที่สำคัญ เช่น กำหนดนโยบายและแผนแม่บทการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดที่ปลอดภัยต่อระบบสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน พิจารณาผลการประเมินการปฏิบัติตามนโยบายและแผนแม่บทการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด
กำหนดกรอบแนวทางการพัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พิจารณาประกาศกำหนดเครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพิ่มเติมเพื่อการบริหารจัดการอากาศสะอาด กำหนดนโยบาย มาตรการ วิธีการ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศข้ามแดน
เสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการในกรณีที่ปรากฏว่าหน่วยงานของรัฐใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับการปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาดอันอาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง เป็นต้น (มาตรา 10 - มาตรา 20)
-คณะกรรมการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานกรรมการ โดยมีหน้าที่และอำนาจที่สำคัญ เช่น กำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด และดัชนีคุณภาพอากาศ กำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายหรือปล่อยทิ้งอากาศเสียจากแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศ
เสนอการประกาศเขตประสบมลพิษทางอากาศ สำหรับพื้นที่ที่ประสบปัญหามลพิษในอากาศ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข รายละเอียดการปฏิบัติเกี่ยวกับเครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์แต่ละประเภท
เสนอแนะและให้ความเห็นแก่คณะกรรมการนโยบายอากาศสะอาดเพื่อประกาศกำหนดเครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพิ่มเติมเพื่อการบริหารจัดการอากาศสะอาด
ประสานงานระหว่างคณะกรรมการตามกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน เพื่อควบคุม ป้องกัน ลด หรือขจัดมลพิษทางอากาศ รวมทั้งการจัดทำและดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการการพัฒนาคุณภาพอากาศ เป็นต้น (มาตรา 21-มาตรา 23)
-คณะกรรมการอากาศสะอาดจังหวัด และพื้นที่เฉพาะ มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานกรรมการ และกำหนดให้มีคณะกรรมการอากาศสะอาดกรุงเทพมหานคร มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานกรรมการ โดยมีหน้าที่และอำนาจที่สำคัญ เช่น จัดทำและดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาภาวะมลพิษทางอากาศ ในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ
การออกประกาศกำหนดเขตเฝ้าระวังมลพิษทางอากาศ จัดทำแผนปฏิบัติการในการบริหารจัดการเพื่อลดและขจัดมลพิษในเขตประสบมลพิษทางอากาศ กำหนดแนวทางในการตรวจสอบ กำกับ และควบคุมการประกอบกิจการ กิจกรรมที่ก่อหรืออาจก่อให้เกิดปัญหาภาวะมลพิษทางอากาศ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในเขตพื้นที่รับผิดชอบ
ออกประกาศกำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายหรือปล่อยทิ้งอากาศเสียจากแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ กำหนดแนวทางในการตรวจสอบ กำกับดูแล การอนุญาต และควบคุมการเผาในพื้นที่การเกษตร การเผาในที่โล่งในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ เป็นต้น (มาตรา 24-มาตรา 32)
@’บอร์ดจัดการฯ’มีอำนาจกำหนดมาตรฐาน‘ปล่อยทิ้งอากาศเสีย’
หมวด 3 ระบบการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดของประเทศ
กำหนดให้มีการดำเนินการพัฒนาระบบการบริหารจัดการอากาศสะอาดของประเทศอย่างน้อยต้องประกอบด้วย มาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด ระบบเฝ้าระวังเพื่อคุณภาพอากาศสะอาด ระบบฐานข้อมูลคุณภาพอากาศแห่งชาติ กรอบแนวทางการพัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดและแผนปฏิบัติการการพัฒนาคุณภาพอากาศ
กำหนดให้มีการพัฒนาระบบเฝ้าระวังคุณภาพอากาศและจัดทำระบบฐานข้อมูลคุณภาพอากาศแห่งชาติ เพื่อเป็นโครงข่ายศูนย์กลางในการเชื่อมโยงและรวบรวมข้อมูลคุณภาพอากาศของประเทศ ทั้งข้อมูลพื้นที่ ข้อมูลสถิติ ข้อมูลสถานการณ์คุณภาพอากาศปัจจุบัน ข้อมูลอากาศเสีย
ข้อมูลแหล่งกำเนิดมลพิษ ข้อมูลคาดการณ์ ขอบเขตพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่จะได้รับผลกระทบจากมลพิษในอากาศ และข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ในการเฝ้าระวัง การแจ้งเตือนภัย และการบริหารจัดการคุณภาพอากาศของประเทศ (มาตรา 33-มาตรา 41)
หมวด 4 การลดและควบคุมมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิด
กำหนด ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด มีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายหรือปล่อยทิ้งอากาศเสียจากแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศ
ประเภทของแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศที่จะต้องถูกควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียออกสู่บรรยากาศไม่เกินมาตรฐาน ประเภทของแหล่งกำเนิดมลพิษที่จะต้องจัดทำรายงานการปล่อยอากาศ
การกำหนดเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศต้องจัดให้มีระบบบำบัดอากาศเสีย อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ หรือการจัดการมลพิษด้วยวิธีการอื่นใด เพื่อควบคุม กำจัด ลด หรือขจัดมลพิษ หรือการปล่อยอากาศเสีย ให้เป็นไปตามมาตรฐานควบคุมการระบายหรือปล่อยทิ้งอากาศเสียจากแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศ โดยกำหนดมาตรการจากแหล่งกำเนิดมลพิษต่างๆ โดยแบ่งเป็นหมวดหมู่
มาตรการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดประเภทสถานที่ถาวร มาตรการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดประเภทเผาในที่โล่ง มาตรการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดประเภทยานพาหนะ มาตรการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดประเภทมลพิษข้ามแดน (มาตรา 42-มาตรา 64)
@‘คกก.ระดับจังหวัด’ มีอำนาจประกาศ‘เขตเฝ้าระวังมลพิษ’
หมวด 5 เขตเฝ้าระวังและเขตประสบมลพิษทางอากาศ
ในกรณีที่ปรากฏว่าท้องที่ใด มีข้อมูลแสดงถึงแนวโน้มจะเกิดภาวะมลพิษทางอากาศ ซึ่งอาจเกิดผลกระทบเสียหายต่อสุขภาพหรือคุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้คณะกรรมการอากาศสะอาดจังหวัด มีอำนาจพิจารณาประกาศให้ท้องที่นั้น เป็นเขตเฝ้าระวังมลพิษทางอากาศ
โดยกำหนดให้กรมควบคุมมลพิษประมวลส่งข้อมูลผลการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์มลพิษทางอากาศ และผลการคาดการณ์สถานการณ์มลพิษทางอากาศให้แก่คณะกรรมการอากาศสะอาดจังหวัดอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาประกาศให้ท้องที่ใดเป็นเขตเฝ้าระวังมลพิษทางอากาศ
และเมื่อมีการประกาศให้ท้องที่ใดเป็นเขตเฝ้าระวังมลพิษทางอากาศ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่ดูแลรับผิดชอบท้องที่นั้น มีอำนาจออกคำสั่งให้บุคคลใดที่เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครองหรือผู้มีหน้าที่ดูแลแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศแห่งหนึ่งแห่งใด ให้ท้องที่จังหวัดควบคุม หรือลดหรือหยุดหรือระงับการกระทำการที่อาจก่อให้เกิดภาวะมลพิษทางอากาศ
และมีอำนาจสั่งการให้หน่วยงานของรัฐหรือบุคคลใดกระทำหรือร่วมกันกระทำการใดๆ อันมีผลเป็นการควบคุม ระงับหรือขจัด ภาวะมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้น กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายอากาศสะอาด กำหนดแนวทาง วิธีการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการอากาศสะอาดจังหวัด
เพื่อให้มีงบประมาณสนับสนุนเพิ่มเติมที่เพียงพอต่อการดำเนินงานในเขตเฝ้าระวังมลพิษทางอากาศ เมื่อมีการประกาศให้ท้องที่ใดเป็นเขตประสบมลพิษทางอากาศ ให้คณะกรรมการอากาศสะอาดจังหวัดจัดทำแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษทางอากาศภายในหกสิบวันเพื่อประโยชน์ต่อการเร่งรัดจัดการแก้ไขปัญหาให้เกิดผลสำเร็จโดยเร็ว
ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้กำกับติดตามการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ เพื่อลดและขจัดมลพิษในเขตประสบมลพิษทางอากาศในราชการส่วนภูมิภาค และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้กำกับดูแลในราชการส่วนกลาง
ให้คณะกรรมการอากาศสะอาดจังหวัด จัดทำรายงานผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษในเขตประสบมลพิษทางอากาศ เสนอต่อคณกรรมการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดและคณะกรรมการนโยบายอากาศสะอาดทุก 6 เดือน จนกว่าจะมีการประกาศยกเลิกเขตประสบมลพิษทางอากาศ
เมื่อมีการเร่งรัดแก้ไขจัดการปัญหาภาวะมลพิษทางอากาศจนสถานการณ์มลพิษทางอากาศกลับสู่ภาวะปกติแล้ว ให้คณะกรรมการอากาศสะอาดจังหวัดและกรมควบคุมมลพิษเสนอผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดเพื่อพิจารณาออกประกาศยกเลิกเขตประสบมลพิษทางอากาศ (มาตรา 65-มาตรา 70)
@ใช้กลไก‘ภาษีอากรอากาศสะอาด’เปลี่ยนพฤติกรรมคน
หมวด 6 เครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่ออากาศสะอาด
เครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่ออากาศสะอาด เป็นเครื่องมือหรือมาตรการ เพื่อสร้างและเพิ่มหรือลดแรงจูงใจ หรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคล คณะบุคคล นิติบุคคล หรือชุมชน เพื่อวัตถุประสงค์ในการป้องกัน บำบัด ขจัด หรือลดมลพิษทางอากาศ หรือส่งเสริมให้มีอากาศสะอาด
หมายความรวมถึง เครื่องมือหรือมาตรการต่าง เช่น ภาษีอากรสำหรับอากาศสะอาด ค่าธรรมเนียมการจัดการมลพิษทางอากาศ การกำหนดและโอนสิทธิในการระบายมลพิษทางอากาศ การประกันความเสี่ยง มาตรการอุดหนุน สนับสนุน หรือส่งเสริมบุคคลหรือกิจกรรมสำหรับอากาศสะอาด
เครื่องมือหรือมาตรการอื่นที่คณะกรรมการนโยบายอากาศสะอาดประกาศกำหนด และการกำหนดให้ค่าธรรมเนียม รายได้ประเภทต่างๆ ตามความในหมวดนี้ไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
และให้นำส่งเข้ากองทุนสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อใช้เป็นงบประมาณอุดหนุนและสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในเขตเฝ้าระวังมลพิษทางอากาศ และเขตประสบมลพิษทางอากาศ (มาตรา 71-มาตรา 72)
หมวด 7 เจ้าพนักงานอากาศสะอาด
เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ กำหนดให้มีการแต่งตั้งเจ้าพนักงานอากาศสะอาดขึ้นเพื่อทำหน้าที่ในการกำกับ ติดตาม และปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งเจ้าพนักงานอากาศสะอาดมีหน้าที่และอำนาจที่สำคัญ เช่น เรียกบุคคลใด ๆ มาให้ถ้อยคำหรือแจ้งข้อเท็จจริงหรือทำคำชี้แจง เป็นหนังสือ
หรือให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานใดเพื่อตรวจสอบหรือเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ เข้าไปในอาคาร หรือสถานที่ใดๆ ในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทำการของอาคารหรือสถานที่นั้น
เพื่อตรวจสอบ ควบคุม หรือสั่งให้ยุติการกระทำที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ และหากยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จในเวลาดังกล่าวให้สามารถดำเนินการต่อไปได้จนกว่าจะแล้วเสร็จ (มาตรา 73-มาตรา 74)
@กำหนดความรับผิดทางแพ่ง ‘ผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษ’
หมวด 8 ความรับผิดทางแพ่ง
เป็นการกำหนดให้ผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษ ที่ก่อให้เกิดหรือเป็นแหล่งกำเนิดของการรั่วไหล หรือแพร่กระจายของมลพิษทางอากาศอันเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพอนามัย หรือเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นหรือของรัฐเสียหายด้วยประการใดๆ
ผู้นั้นมีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าเสียหายเพื่อการนั้น ไม่ว่าการรั่วไหล หรือแพร่กระจายของมลพิษทางอากาศนั้นจะเกิดจากการกระทำโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่อหรือไม่ก็ตาม
การกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการทำลายหรือทำให้สูญหายหรือเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นของรัฐ หรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน หรือต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือความหลากหลายทางชีวภาพ
ผู้นั้นต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายหรือซ่อมแซมหรือฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ หรือความหลากหลายทางชีวภาพที่เสียหายให้กลับคืนสู่สภาพเดิมหรือใกล้เคียงสภาพเดิม ไม่ว่าการกระทำนั้นจะเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อหรือไม่ก็ตาม เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเกิดจาก การกระทำหรือละเว้นการกระทำของบุคคลอื่น
สินไหมทดแทนหรือค่าเสียหาย ให้หมายความรวมถึงค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการที่บุคคลหรือหน่วยงานของรัฐรับภาระ ซึ่งค่าใช้จ่ายที่ได้ใช้จ่ายไปจริงเพื่อยับยั้งเหตุแห่งความเสียหาย ขจัดมลพิษที่เกิดขึ้น และการฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่เสียหายไป ให้กลับคืนสู่สภาพเดิมหรือใกล้เคียงสภาพเดิม
ในกรณีที่ไม่อาจฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติส่วนหนึ่งส่วนใดให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้ ให้ชำระเป็นค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายตามมูลค่าของคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติ ที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายไปนั้น (มาตรา 78-มาตรา 77)
@กำหนดโทษปรับเป็นพินัยไม่เกิน 1 แสนบาท-คุกไม่เกิน 1 ปี
บทกำหนดโทษ
พระราชบัญญัตินี้มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกัน ควบคุม และแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ จึงได้มีการกำหนดบทกำหนดโทษสำหรับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งได้กำหนดบทลงโทษในกรณีที่เป็นความผิดเอาไว้ 2 รูปแบบ ได้แก่ โทษปรับเป็นพินัย
เช่น หากเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศปล่อยทิ้งอากาศเสียไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดจะต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกินหนึ่งแสนบาท ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่เจ้าพนักงานอากาศสะอาดต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกินห้าพันบาท เป็นต้น
และการกำหนดโทษทางอาญา เช่น ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือขัดขวางการกระทำตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
ผู้ใดแพร่หรือไขข่าวที่ไม่เป็นความจริงเกี่ยวกับอันตรายจากแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศใด โดยมีเจตนาที่จะทำลายชื่อเสียงหรือความไว้วางใจของสาธารณชนต่อการดำเนินกิจการโดยชอบด้วยกฎหมาย ของแหล่งกำเนิดมลพิษนั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น (มาตรา 78-มาตรา 96)
บทเฉพาะกาล
กำหนดให้บรรดากฎกระทรวง ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศหรือคำสั่งที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะมีข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศหรือคำสั่งตามพระราชบัญญัตินี้
และกำหนดระยะเวลาในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง และมาตรการหรือกลไกต่าง ๆ เพื่อให้พระราชบัญญัติฉบับนี้สามารถบังคับใช้ได้ และมีประสิทธิภาพสูงสุด (มาตรา 97 - มาตรา 104)
เหล่านี้เป็นสาระสำคัญ ‘ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ....’ ที่ ครม. 'เศรษฐา ทวีสิน' มีมติให้ความเห็นชอบ และจะเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติต่อไป
อ่านประกอบ :
นายกฯ สั่งเร่งนำ กฎหมายสมรสเท่าเทียม-อากาศสะอาด เข้าครม. ภายใน 15 วัน