เผยมติ ป.ป.ช.เสียงเอกฉันท์ตีตกข้อกล่าวหา 'สุชน วัฒนพงษ์วานิช' อดีตผอ.ยาสูบ สงสัยทุจริตจัดซื้อสินค้าตัวแทนจำหน่ายในสหรัฐฯ ระหว่างปี 2543 - 2547 หลังพิจารณาสำนวนไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฏพยานหลักฐานเพียงพอฟังได้ว่ากระทำความผิด ไม่มีมูล
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2564 ตีตกข้อกล่าวหา นายสุชน วัฒนพงษ์วานิช เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการยาสูบ โรงงานยาสูบ กับพวก กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีเหตุอันควรสงสัยว่าทุจริตในการจัดซื้อใบยาสูบจากบริษัทตัวแทนจำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างปี พ.ศ. 2543 - 2547
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 8 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นว่า จากการไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฏพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่า นายสุชน วัฒนพงษ์วานิช ผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
สำหรับกรณีนี้ สำนักข่าวอิศรา เคยรายงานข่าวไปแล้วว่า เมื่อปี 2553 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีกล่าวหา นายสุชน วัฒนพงษ์วานิช ผอ.โรงงานยาสูบ (ขณะนั้น) ระบุข้อกล่าวหาว่า กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการจัดซื้อใบยาสูบจากบริษัทตัวแทนจำหน่ายในประเทศสหรัฐฯ ระหว่างปี 2543-2547 พร้อมทั้งประสานขอข้อมูลจากอัยการเมืองวอชิงตัน ดีซี, สหรัฐฯ
หลังจากก่อนหน้านั้น ปรากฏข่าวคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา (เอสอีซี) และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ดำเนินคดีกับบริษัท ยูนิเวอร์แซล คอร์ป และบริษัท อลิอันซ์ วัน อินเตอร์เนชั่นแนล กับกลุ่มเอกชนอีก 3 แห่ง ข้อหาอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ติดสินบนเจ้าหน้าที่โรงงานยาสูบไทย เพื่อแลกเปลี่ยนสัญญาซื้อขายยาสูบ ระหว่างปี 2543-2547 โดยกรณีบริษัท ยูนิเวอร์แซลฯ ติดสินบนประมาณ 8 แสนดอลล่าร์สหรัฐฯ (ราว 25.7 ล้านบาท) เพื่อซื้อขายยาสูบมูลค่า 11.5 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ (ราว 369 ล้านบาท) ส่วนบริษัท อลิอันซ์ วันฯ ติดสินบนประมาณ 1.2 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ (ราว 38 ล้านบาท) เพื่อซื้อขายยาสูบมูลค่า 18.3 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ (ราว 587 ล้านบาท) รวมมีการจ่ายสินบนประมาณ 64 ล้านบาท
เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า ระหว่างปี 2543-2547 โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง มีการจ้างบริษัทเอกชนให้ขนส่งใบยาสูบจากประเทศสหรัฐฯถึงไทย อย่างน้อย 5 ครั้ง แต่ไม่ระบุจำนวนใบยาสูบ หรือมูลค่าในการซื้อขายใบยาสูบ ระบุแค่วงเงินค่าจ้างบริษัทเอกชนในการขนส่งเท่านั้น
โดยทั้ง 5 ครั้งที่ผ่านมา โรงงานยาสูบ ว่าจ้างบริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด และบริษัท ไทยเดินเรือประเทศไทย จำกัด ในการขนส่งใบยาสูบจากสหรัฐฯถึงไทย รวมมูลค่า 40,790,618 บาท แบ่งเป็นบริษัท ไทยเดินเรือทะเลฯ 4 ครั้ง 37,595,841 บาท และบริษัท ไทยเดินเรือประเทศไทยฯ 1 ครั้ง 3,194,777 บาท