UN เผยรายงานเหยื่อค้ามนุษย์หลายแสนคนถูกล่อลวงทำงานศูนย์ฉ้อโกงในอาเซียน พบเหยื่อกว่า 1 แสนตอนนี้อาจติดอยู่ที่กัมพูชา อีก 1.2 แสนติดอยู่ที่เมียนมา ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธฯ ชี้เหยื่อถูกหลอกทำสแกมเมอร์ไม่ใช่อาชญากร ขณะโฆษก ตร.กัมพูชาข้องใจตัวเลขถูกต้องหรือไม่
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวกรณีการค้ามนุษย์อ้างอิงข่าวจากสำนักข่าว The Business Standard ระบุว่าองค์การสหประชาชาติได้มีการเปิดเผยรายงานเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. ว่ามีประชากรจำนวนหลายแสนคนกำลังถูกแก๊งอาชญากรค้ามนุษย์และบังคับให้ทำงานในศูนย์หลอกลวงฉ้อโกง ที่กระทำกิจกรรมที่ผิดกฎหมายบนโลกออนไลน์ โดยศูนย์นี้ผุดขึ้นทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
รายงานอ้างว่ามีแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ ประเมินว่ามีเหยื่ออย่างน้อย 120,000 คน ถูกค้ามนุษย์ โดยล่อลวงไปยังฝั่งเมียนมา และอีกประมาณ 100,000 คน ที่อาจจะถูกบังคับให้ทำงานฉ้อโกงที่ประเทศกัมพูชา และคาดว่าน่าจะมีอีกจำนวนหนึ่งที่ติดอยู่ในศูนย์ในประเทศลาว โดยศูนย์เหล่านี้มีเจ้าของเป็นแก๊งอาชญากร ขณะที่ประเทศไทยและฟิลิปปินส์เองก็เป็นเป้าหมายเรื่องการฉ้อโกงสกุลเงินดิจิทัล (คริปโต) และการพนันออนไลน์ต่างๆ
“ผู้ที่ถูกบีบบังคับให้ทํางานในปฏิบัติการหลอกลวงเหล่านี้ต้องทนกับการปฏิบัติที่ไร้มนุษยธรรมในขณะที่ถูกบังคับให้ก่ออาชญากรรม พวกเขาตกเป็นเหยื่อ พวกเขาไม่ใช่อาชญากร” นายโวลเกอร์ เติร์ก ข้าหลวงใหญ่สำนักงานเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติกล่าว
ขณะที่นายเชย์ คิม โคอึน (Chhay Kim Khoeun) โฆษกตํารวจกัมพูชากล่าวว่าตัวเขายังไม่เห็นรายงานของสหประชาชาติ แต่ก็ได้มีการสอบถามเกี่ยวกับตัวเลขเหมือนกัน
“ผมไม่รู้จะตอบสนองต่อเรื่องนี้อย่างไรดี พวกเขานำตัวเลข 100,000 คนนี้มาจากไหน พวกเขาสอบสวนแล้วหรือยัง พวกเขาเอาข้อมูลมาจากที่ไหน หรือแค่คนต่างชาติพูดอะไรบางอย่างเท่านั้น” โฆษกตำรวจกัมพูชากล่าว
ส่วนรัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมาไม่ได้ตอบสนองต่อคำขอให้แสดงความเห็นแต่อย่างใด
รายงานของสํานักงานสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเป็นหนึ่งรายงานที่มีรายละเอียดมากที่สุดนับตั้งแต่การระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 และตามมาด้วยการปิดคาสิโนต่างๆ กระตุ้นให้ย้ายเข้าไปในพื้นที่ที่มีการควบคุมน้อยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
รายงานระบุอีกว่าการเติบโตของศูนย์ฉ้อโกงหลอกลวงนั้นทำรายได้เป็นจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในแต่ละปี
ข้อเท็จจริงคือการปฏิบัติงานในรูปแบบใหม่ กลุ่มอาชญากรพุ่งเป้าไปที่ผู้อพยพมากขึ้นในช่วงสถานการณ์ที่เปราะบาง โดยจะสรรหาคนที่จะมาทำกิจกรรมอาชญากรรมภายใต้คำหลอกลวงว่าจะเสนองานจริงให้พวกเขา” รายงานระบุ
รายงานระบุว่าเหยื่อการค้ามนุษย์ส่วนใหญ่มาจากประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งจีน ไต้หวัน และฮ่องกง แต่บางกรณี เหยื่อที่ถูกหลอกมาก็ไปไกลถึงแอฟริกาและละตินอเมริกา
สํานักงานสิทธิแห่งสหประชาชาติเรียกร้องให้รัฐบาลระดับภูมิภาคเสริมสร้างหลักนิติธรรมและจัดการกับการทุจริตเพื่อ "ตัดวงจรการกระทำผิด" ที่ช่วยให้องค์กรอาชญากรรมเติบโตได้