เผยโฉม 2 รูปปั้นศิลปะขอม "ผู้หญิงคุกเข่า-พระอิศวรยืน" พิพิธภัณฑ์นิวยอร์กตัดสินใจส่งคืนไทย หลังสืบพบพัวพันพ่อค้างานศิลปะ ถูกตัดสินค้าโบราณวัตถุผิดกฎหมาย
สืบเนื่องจากที่เป็นข่าวในต่างประเทศ กรณีพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน (Metropolitan Museum of Art) ในนครนิวยอร์กเตรียมส่งคืนโบราณวัตถุเก่าแก่จำนวน 16 ชิ้นให้แก่กัมพูชาและไทย หลังพบว่าเป็นของที่ถูกขโมยและลักลอบนำไปขายอย่างผิดกฎหมาย โดยรูปปั้นศิลปะขอมจำนวน 14 ชิ้นจะถูกส่งคืนไปยังกัมพูชา และอีก 2 ชิ้นจะถูกส่งคืนให้แก่ไทย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าจากกรณีนี้ แหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงวัฒนธรรมได้ส่งรายละเอียดเกี่ยวข้องกับรูปปั้นทั้ง 2 ชิ้นมาให้กับสำนักข่าวอิศรามีรายละเอียดดังนี้
1.รูปปั้นผู้หญิงคุกเข่าหรือ Kneeling Female
รายละเอียดรูปปั้นผู้หญิงคุกเข่า เป็นรูปปั้นในสมัยอังกอร์ มาจากครึ่งหลังในช่วงศตวรรษที่ 11 เป็นรูปปั้นทองแดงฝังด้วยเงินและมีทองปะปน มีความสูง 42.3 เซนติเมตร ความกว้างรอบเข่า 19.7 เซนติเมตร
รูปปั้นนี้ถูกบรรยายว่าอาจจะเป็นรูปปั้นของราชินีขอมที่ทำท่าคุกเข่าเคารพบูชา บ่งบอกว่าพระนางเป็นส่วนหนึ่งของพิธีบวงสรวงเทพยดา รายละเอียดที่ตาและคิ้วที่ถูกฝังอยู่บ่งบอกว่าอาจมีแก้วสีดำเป็นส่วนประกอบ
2.รูปปั้นพระอิศวรยืน
รายละเอียดรูปั้นพระอิศวรยืนถูกระบุว่ามาจากกัมพูชา ในสมัยอังกอร์ ในช่วงศตวรรษที่ 11 เป็นรูปปั้นทำจากโลหะผสมทองแดง,ฝังเงิน
มีความสูงรวมฐานแล้ว 128.9 เซนติเมตร ความกว้าง 35.6 เซนติเมตร ความลึก 34.3 เซนติเมตร ความสูงหากไม่มีฐานจะอยู่ที่ 105.4 เซนติเมตร
โดยรูปปั้นนี้เป็นรูปปั้นโลหะที่สมบูรณ์ที่สุดที่รอดจากยุคสมัยอังกอร์ โดยเป็นส่วนหนึ่งของชุดประติมากรรมโลหะของเทพฮินดู ซึ่งเกี่ยวข้องกับพิธีในพระราชวัง โดยชุดประติมากรรมเหล่านี้ถูกพบในอาณาเขตขอมโบราณ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศกัมพูชาและอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย
ทั้งนี้การที่ท่าทางของมือซึ่งมีความไม่สอดคล้องกับลักษณะมาตรฐานตามรูปลักษณ์ในศิลปะฮินดูเป็นส่วนสำคัญ เพราะรูปปั้นนี้อาจพรรณนาถึงพระอิศวรในรูปแบบมนุษย์ ซึ่งเป็นการแสดงที่ค่อนข้างผิดปกติในศิลปะขอม ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่ารูปปั้นนี้จะถูกใช้ด้วยกันในสองแง่ได้แก่ 1.เป็นตัวแทนของสัญลักษณ์สําหรับการนมัสการในวิหารหลวงเป็นหลัก และ2.ทําหน้าที่เป็นภาพบรรพบุรุษของผู้ปกครองที่ล่วงลับไปแล้ว
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่าการคืนรูปปั้นขอมดังกล่าวนั้นสืบเนื่องจากที่รูปปั้นทั้งหมด 16 ชิ้นมีส่วนพัวพันกับ นายดักลาส แลตช์ฟอร์ด (Douglas Latchford) พ่อค้างานศิลปะ (art dealer) ชื่อดังซึ่งถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิดฐานค้าโบราณวัตถุผิดกฎหมายเมื่อปี 2562
โดยนายแม็กซ์ ฮอลเลน ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทันกล่าวว่าพิพิธภัณฑ์ได้ทำงานร่วมกับกัมพูชาและสํานักงานอัยการสหรัฐอย่างขยันขันแข็งเป็นเวลาหลายปีเพื่อแก้ไขคําถามเกี่ยวกับงานศิลปะเหล่านี้"
"ข้อมูลใหม่ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการนี้ทําให้ชัดเจนว่าเราควรเริ่มการส่งกลับของประติมากรรมเหล่านี้" นายฮอลเลนกล่าว