ที่ประชุม สว.เตรียมโหวตเลือก กรรมการกกต.และป.ป.ช.คนใหม่ ลุ้น ‘สิทธิโชติ อินทรวิเศษ’ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เป็น กกต.คนใหม่ ส่วน ป.ป.ช. เป็นชื่อของ ‘แมนรัตน์’ อดีตอธิบดีกรมปกครอง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 17 ธันวาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ได้นัดประชุม ส.ว. ในวันที่ 18 ธ.ค. โดยมีวาระพิจารณาที่สำคัญ ให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แทนตำแหน่งที่ว่าง คือ นายสิทธิโชติ อินทรวิเศษ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฏีกา ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฏีกา ตามที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฏีกาเสนอ ซึ่งคณะกรรมาธิการสามัญตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และ พฤติกรรมทางจริยธรรม วุฒิสภา ที่มี พล.อ.อู้ด เบื้องบน เป็นประธาน กมธ. ได้ตรวจสอบและทำรายงานเสนอต่อที่ประชุม
ผู้สื่อข่าวรายงานของ กมธ.ในส่วนที่เปิดเผย ได้ระบุคำชี้แจงของ นายชาติชาย เหลืองอ่อน เลขานุการศาลฎีกา เกี่ยวกับกระบวนการคัดเลือกดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญคือ เนื่องจาก นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี กกต. ในสัดส่วนที่มาจากการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา พ้นจากตำแหน่งเมื่ออายุครบ 70 ปี วันที่ 27 มิ.ย. 66 ดังนั้น ตามกระบวนการต้องมีการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา โดยมีขั้นตอนประกาศรับสมัครผู้ประสงค์จะสมัครเข้ารับการคัดเลือก และพบว่า มีผู้สมัครจำนวน 2 คน คือ นายสิทธิโชติ อินทรวิเศษ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฏีกา และ นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ รองประธานศาลฎีกา
สำหรับการตรวจสอบคุณสมบัติตามกระบวนการของศาลฎีกา ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วย กกต. พ.ศ. 2560 มาตรา 8(2) พบว่า บุคคลทั้ง 2 มีคุณสมบัติตามกฎหมายและจากการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามแล้วไม่พบว่าขาดคุณสมบัติ
ทำให้เมื่อ 16 ส.ค. 66 ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ได้ลงมติคัดเลือก โดยมีผู้พิพากษาในศาลฎีกาที่มีหน้าที่เข้าประชุมใหญ่และลงมติ จำนวน 176 คน มีผู้เข้าประชุม 169 คน และลาประชุม 7 คน และใช้การลงมติโดยเปิดเผย โดยมติคัดเลือก พบว่า นายสิทธิโชติ ได้ 139 คะแนน ขณะที่ นายสิทธิศักดิ์ ได้ 26 คะแนน และมีบัตรเสีย 4 ใบ ถือว่า นายสิทธิโชติ เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เพราะเป็นผู้ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดและมีคะแนนเกินกึ่งหนึ่ง
@เลือก ป.ป.ช.ใหม่ 19 ธ.ค.นี้
นอกจากนั้น ในการประชุมวุฒิสภา (สว.) ครั้งที่ 3 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วันที่ 19 ธ.ค. 2566 นี้ มีวาระสำคัญคือ ให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 รายของนายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ผู้ได้รับการเสนอซื่อแทนนางสาวสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากครบวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี
สำหรับนายแมนรัตน์ ได้รับเลือกจากคณะกรรมการสรรหาในการสมัครรอบ 10-24 กรกฎาคม 2566 โดยรอบดังกล่าวมี ผู้สมัครเข้ารับการสรรหา จำนวน 14 คน อาทิ เช่น นายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด นายธัญญา เนติธรรมกุล อายุ 60 ปี อดีตอธิบตีกรมทรัพยากรน้ำบาตาล และอดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช, นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม , พล.ต.ท. จักรพงษ์ วิวัฒน์วานิซ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ และอดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน, นายสมศักดิ์ วรวิจักษณ์ ทนายความ และกรรมการ บริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด และนายประจวบ ตันตินนท์ อดีตผู้บริหารบริษัทมหาชน เป็นต้น
โดยในการลงมติเลือกของ คณะกรรมการสรรหาฯ มีผู้ได้รับคะแนน จำนวน 3 คน คือ นายประจวบฺ ตันตินนท์ได้ 1 คะแนน, นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ได้ 6 คะแนน และนายสมคักดี้ วรวิจักษณ์ได้ 1 คะแนน ทำให้นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ได้รับการสรรหาให้เป็นบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นป.ป.ช.คนใหม่
ประวัติของนายแมนรัตน์ มีอายุ 60 ปี 1 เดือน (นับถึงวันสมัคร) จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปี 2528 และเป็นอดีตอธิบดีกรมการปกครองที่เพิ่งเกษียณอายุเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา