‘รถไฟ’ ประมูลขนตู้รถไฟรุ่น Kiha 40- kiha 48 จำนวน 20 คัน วงเงิน 49 ล้านบาท เล็งลงนามในสัญญาเร็วๆนี้ รอ ‘คมนาคม’ ทราบหลังส่งผลประมูลเมื่อ 7 ธ.ค. 66 ที่ผ่านมา ก่อนเปิดรายละเอียดต้องขนมาไทยภายใน 330 วันนับจากวันที่ลงนามในสัญญาจ้าง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 18 ธันวาคม 2566 แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า ระหว่างวันที่ 26 ก.ย. - 3 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ประกาศรับฟังคำวิจารณ์ร่างขอบเขตงาน (TOR) โครงการจ้างขนรถดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น Kiha 40 และ Kiha 48 จำนวน 20 คัน จากประเทศญี่ปุ่น ราคากลาง 49,171,000.00 บาท ด้วยวิธีประกวดราคาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-bidding) และเบื้องต้น ได้รับทราบอย่างไม่เป็นทางการว่า ทาง รฟท. ได้ดำเนินการประกวดราคาจนได้ตัวผู้รับจ้างแล้ว โดยเสนอราคาต่ำสุดที่ 48,600,000 บาท
ขั้นตอนต่อไป เนื่องจากกระทรวงคมนาคมเคยออกคำสั่งให้รายงานผลการจัดซื้อจัดจ้างทุกอย่างกลับมาที่กระทรวงให้ทราบก่อนลงนามในสัญญา โดยได้รายงานไปที่กระทรวงคมนาคมเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2566 หากหนังสือกลับมาที่ รฟท. ก็พร้อมจะลงนามได้ทันที จากนั้น จะเริ่มดำเนินการขนย้ายได้ในเดือน ก.พ. 2567
สำหรับรายละเอียดเนื้องานของการประกวดราคาดังกล่าว ผู้รับจ้างจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จไม่เกิน 330 วันนับจากวันลงนามในสัญญาจ้าง โดยแบ่งการขนย้ายเป็น 3 งวด ได้แก่
งวดที่ 1 ผู้รับจ้างจะต้องขนส่งรถดีเซลรางปรับอากาศจำนวน 20 คันจากย่านสถานีเมืองอาคิตะ ขนส่งไปยังเมืองนีงาตะ ประเทศญี่ปุ่น หรือสถานที่อื่นๆตามกำหนดภายใน 120 วัน นับถัดจากวันลงนามในสัญญาจ้าง
งวดที่ 2 ผู้รับจ้างจะต้องขนส่งรถดีเซลรางปรับอากาศจำนวน 20 คันจากท่าเรือเมืองนีงาตะหรือสถานที่อื่นๆตามกำหนด ขนส่งไปยังท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ภายใน 120 วัน นับถัดจากวันที่ดำเนินการงวดที่ 1 แล้วเสร็จ
และงวดที่ 3 ผู้รับจ้างจะต้องขนส่งรถดีเซลรางปรับอากาศจำนวน 20 คันจากท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ขนส่งมอบพัสดุที่สถานีรถไฟแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ภายใน 90 วัน นับจากวันที่ดำเนินการงวดที่ 2 แล้วเสร็จ
ทั้งนี้ มีการกำหนดอัตราค่าปรับจากการดำเนินการไว้ 2 กรณีคือ 1. กรณีผู้รับจ้างนำงานที่รับจ้างไปจ้างช่วงให้ผู้อื่นทำอีกทอดหนึ่งโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก รฟท. จะต้องชำระค่าปรับเป็นจำนวน 10% ของวงเงินงานจ้างช่วงนั้น
และ 2. กรณีผู้รับจ้างดำเนินการผิดสัญญาจ้างนอกเหนือจากข้อที่ 1 จะมีค่าปรับรายวันในอัตรา 0.10% ของราคาจ้าในแต่ละงวด
นอกจากนี้ผู้รับจ้างจะต้องรับประกันสินค้าระหว่างขนส่งจากประเทศญี่ปุ่นจนถึงท่าเรือแหลมฉบัง กำหนดระบะเวลา 330 วัน นับจากวันที่รับรถไฟจากประเทศญี่ปุ่นมายังท่าเรือแหลมฉบัง ประเทศไทย
สำหรับรถดีเซลรางรุ่น KiHa 40 เป็นรถที่ดำเนินการโดยการรถไฟแห่งชาติญี่ปุ่น (JNR) ในปี พ.ศ. 2520 และควบคุมการเดินรถโดยบริษัท Japan Railways Group โดยให้บริการในพื้นที่ชานเมืองและชนบทในญี่ปุ่น โดยรถรุ่น KiHa 40 ใช้ทดแทนรุ่น KiHa 10 และตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา รถไฟประเภทนี้มีการใช้งานโดยบริษัทรถไฟเอกชนอื่นๆ ในญี่ปุ่น หลังจากที่กลุ่ม Japan Railways เลิกให้บริการ ซึ่งเมื่อกลางปี 2566 ที่ผ่านมา ทางการญี่ปุ่นมีแนวคิดบริจาคให้ไทยแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย ยกเว้นจะต้องออกค่าขนส่งเอง
โดยรถไฟแบบ KiHa 40 และ KiHa 48 ที่ได้รับบริจาคมานั้น บางคันเป็นรถไฟดีเซลรางแบบมีห้องขับจำนวน 2 ห้อง/คัน สามารถใช้วิ่งทำขบวนด้วยรถเพียง 1 คันได้ โดยในขณะที่รถไฟรุ่นดังกล่าวให้บริการอยู่ในประเทศญี่ปุ่นนั้น จะวิ่งบนทางขนาด 1,067 มิลลิเมตร วิ่งได้เร็วสูงสุด 95 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ที่มาภาพปก: วิกิพีเดีย