ป.ป.ช.เผยแพร่มติเสียงเอกฉันท์ตีตกข้อกล่าวหา 'กนก อภิรดี' อดีตกก.ผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย พวกรวม 16 ราย ทำผิด พ.ร.บ.ฮั้ว จัดซื้อจอภาพ ระบบ LED SCREEN โดยวิธีพิเศษ เอื้อประโยชน์ให้เอกชน หลังพิจารณาสำนวนไต่สวนไม่ปรากฏข้อเท็จจริงฟังได้ว่ากระทำความผิดไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. เสียงเอกฉันท์ตีตกข้อกล่าวหา นายกนก อภิรดี อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และพวกรวม 16 ราย กระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับ การเสนอราคาฯ พ.ศ. 2542 ในการจัดซื้อจอภาพ ระบบ LED SCREEN โดยวิธีพิเศษ ปีงบประมาณ 2547 ของ บมจ. การบินไทย ตามสัญญาซื้อขายเลขที่ WL-905-04 ลว. 7 ธ.ค. 47 โดยพิจารณาคัดเลือก คู่สัญญาไม่เป็นไปตามข้อกำหนด เงื่อนไข การเสนอราคา (TOR) ที่กำหนดว่าขั้นตอนการเปิดซองเสนอราคา จะพิจารณาเฉพาะผู้เสนอราคาที่ได้รับการพิจารณาให้ ผ่านการคัดเลือกทางเทคนิคในรายที่มีคะแนนสูงสุด และรายที่ได้รับคะแนนรองลงมาในช่วงคะแนนร้อยละ 3 ของผู้ได้รับคะแนนสูงสุด เนื่องจากเมื่อพิจารณาตาม TOR แล้ว บจก. ซัน อินเตอร์เนชั่นแนล ไม่มีสิทธิ ได้รับการพิจารณา แต่กลับมีสิทธิได้ทำสัญญากับ บมจ. การบินไทย ซึ่งเป็นการมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขัน ราคาอย่างเป็นธรรม และเอื้อประโยชน์ให้แก่ บจก. ซัน อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นผู้ได้งาน
หลังพิจารณาสำนวนการไต่สวนไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่จะฟังได้ว่ากระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
สำนักงาน ป.ป.ช. ระบุรายละเอียดว่า คดีนี้ มีผู้ถูกกล่าวหา จำนวน 16 ราย ได้แก่ 1.นายกนก อภิรดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) , 2.นายทัศนัย สุทัศน์ ณ อยุธยา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสฝ่ายสนับสนุนวิสาหกิจ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), 3.พันจ่าอากาศเอก กอบชัย ศรีวิลาศ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสฝ่ายวางแผนและงานบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), 4.นายประจักษ์ แจ่มรัศมีโชติ (ถึงแก่ความตายแล้วเมื่อ 26 ม.ค.60) ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), 5.นายกวีพันธ์ เรืองผกา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการเงินและการบัญชี บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
6.พลอากาศเอก ณรงค์ศักดิ์ สังขพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), 7.นาวาอากาศโท ศุภชัย ลิมปิสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการฝ่ายช่าง (ระดับรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), 8.นายเสริม เพ็ญชาติ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), 9.เรืออากาศเอก จรัสพงษ์ บุรุษรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการ สังกัดสำนักงานผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายบริหารทั่วไป บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), 10.นายจักรพร สุปิยพันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการบัญชีกลาง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), 11.นางแสงเงิน พรไพบูลย์สถิตย์ ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายวางแผน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
12.เรืออากาศโท ชินวุฒิ นเรศเสนีย์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่รักษามาตรฐานและบริหารทั่วไป บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), 13.นายขันชัย ศรลัมพ์ ผู้จัดการกองจัดซื้ออุปกรณ์และสัญญาบริการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), 14.เรืออากาศโท วีรชัย ศรีภา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), 15.นายนายวสิงห์ กิตติกุล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายบริการลูกค้าและรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), 16.นายสุเทพ สืบสันติวงศ์
สำหรับพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำผิดโดยสรุป คือ ในการพิจารณาคัดเลือกคู่สัญญาของกรรมการคัดเลือกคู่สัญญา กรณีจัดซื้อจอภาพระบบ LED SCREEN โดยวิธีพิเศษ ปีงบประมาณ 2547 ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ตามสัญญาซื้อขายเลขที่ WL - 905 - 04 ลงวันที่ 7 ธันวาคม 2547 ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดเงื่อนไขการเสนอราคา (TOR) ข้อ 8 ที่กำหนดว่า ขั้นตอนการเปิดซองเสนอราคาจะพิจารณาเฉพาะ ผู้เสนอราคาที่ได้รับการพิจารณาให้ผ่านการคัดเลือกทางเทคนิคในรายที่มีคะแนนสูงสุด และรายที่ได้รับคะแนนรองลงมาในช่วงคะแนนร้อยละ 3 ของผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด
แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในการคัดเลือกคู่สัญญา ครั้งนี้ มีผู้เสนอราคาผ่านการประเมินคุณสมบัติทางเทคนิคจำนวน 3 ราย ได้แก่ บริษัท ออลลิงค์ จำกัด บริษัทมาสเตอร์แอด จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซัน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดยได้คะแนน 90 89 และ 87 คะแนนตามลำดับ โดยบริษัท ออลลิงค์ จำกัด มีคะแนนสูงสุด และบริษัท มาสเตอร์แอด จำกัด (มหาชน) มีคะแนนรองลงมาในช่วงไม่เกินร้อยละ 3 ของบริษัท ออลลิงค์ จำกัด ทั้งสองบริษัทจึงมีสิทธิได้รับการพิจารณา ส่วนบริษัท ซัน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้คะแนนต่ำเป็นอันดับที่ 3 และต่ำกว่าคะแนนของบริษัท ออลลิงค์ จำกัด ร้อยละ 3.33 ดังนั้น เมื่อพิจารณาตาม TOR ข้อ 8 แล้ว บริษัท ซัน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ย่อมไม่มีสิทธิได้รับการพิจารณา แต่คณะกรรมการคัดเลือกคู่สัญญากลับทำรายงานเสนอรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายการพาณิชย์ (DN) เพื่อเปิดซองราคาทั้ง 3 ราย กระทั่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายการพาณิชย์ (DN) ได้นำเสนอต่อที่ประชุมฝ่ายบริหารงานนโยบายบริษัท ในการประชุมครั้งที่ 41/2547 ลงวันที่ 27 กันยายน 2547 และที่ประชุมอนุมัติให้ดำเนินการตามเสนอนั้น การมีมติให้จัดซื้อจอภาพระบบ LED SCREEN จากบริษัท ซัน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดใน TOR ข้อ 8 อย่างชัดแจ้ง เป็นเหตุให้บริษัท ซัน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเดิมไม่มีสิทธิได้รับการพิจารณา กลับมีสิทธิได้ทำสัญญา กับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยไม่เป็นธรรมกับบริษัท ออลลิงค์ จำกัด และบริษัท มาสเตอร์แอด จำกัด (มหาชน) แสดงให้เห็นถึงเจตนามุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่บริษัท ซัน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เข้าข่าย เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า ที่ประชุมพิจารณาแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 8 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะอนุกรรมการไต่สวนว่า จากการไต่สวนไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่จะฟังได้ว่า นายกนก อภิรดี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 พันจ่าอากาศเอก กอบชัย ศรีวิลาศ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 นายทัศนัย สุทัศน์ ณ อยุธยา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 นายประจักษ์ แจ่มรัศมีโชติ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 นายกวีพันธ์ เรืองผกา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 พลอากาศเอก ณรงค์ศักดิ์ สังขพงศ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 เรืออากาศโท ชินวุฒิ นเรศเสนีย์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 เรืออากาศโท วีรชัย ศรีภา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 8 นาวาอากาศโท ศุภชัย ลิมปิสวัสดิ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 9 นางแสงเงิน พรไพบูลย์สถิตย์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 10 นายนายวสิงห์ กิตติกุล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 11 นายเสริม เพ็ญชาติ ผู้ถูกกล่าหวาที่ 12 นายจักรพร สุปิยพันธุ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 13 เรืออากาศเอก จรัสพงษ์ บุรุษรัตนพันธ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 14 นายขันชัย ศรลัมพ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 15 และนายสุเทพ สืบสันติวงศ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 16 ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
สำหรับ นายกนก อภิรดี ก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 เคยปรากฏข่าวถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรง กรณี เจ้าหน้าที่ของรัฐเรียกรับเงินจากบริษัท โรลส์รอยซ์ ผู้นำเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบิน Boeing 777-200ER ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือคดีสินบนโรลส์รอยซ์ ครั้งที่ 3 ระหว่างปี 2547-2548 ในส่วนผู้ถูกกล่าวหากลุ่มอดีตคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และคณะอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 10 ราย ไปแล้ว แต่เกษียณอายุราชการไปแล้ว