ครม.ไฟเขียวเพิ่มอำนาจ ‘ผู้ว่าฯซีอีโอ’ สั่ง ‘สำนักงาน ก.พ.’ เร่งออกแนวปฏิบัติให้ ‘ปลัดกระทรวง-อธิบดี’ มอบอำนาจ ‘ประเมินผลปฏิบัติราชการ-เลื่อนเงินเดือน-ให้บำเหน็จฯ-ดำเนินการทางวินัย’ ขรก.ส่วนภูมิภาคในตำแหน่ง ‘ประเภทอำนวยการ-วิชาการระดับเชี่ยวชาญ’ ให้ผู้ว่าฯ
......................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) จ.หนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบหลักการข้อเสนอการกระจายอำนาจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานเชิงพื้นที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติสำหรับการดำเนินงานและจัดทำคำของบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป
สำหรับข้อเสนอการกระจายอำนาจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานเชิงพื้นที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด ประกอบด้วย
1.เสริมสร้างความเข้มแข็งของผู้ว่าราชการจังหวัดในการกำกับการพัฒนาตามแผนพัฒนาจังหวัด ด้วยการบูรณาการงบประมาณจากทุกแหล่งงบประมาณที่มีการดำเนินงานในพื้นที่
2.สำนักงบประมาณควรยึดแผนพัฒนาจังหวัดเป็นหลักในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณของทุกหน่วยงานที่มีการดำเนินการในพื้นที่จังหวัด เพื่อให้การจัดทำงบประมาณเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area - Based) มีการบูรณาการกันอย่างแท้จริง
3.เร่งกำหนดแนวปฏิบัติตามมาตรา 53 ของพระราชกฤษฎีกาฯ ที่กำหนดให้ปลัดกระทรวงหรืออธิบดีมอบอำนาจในการประเมินผลการปฏิบัติราชการ การเลื่อนเงินเดือน การให้บำเหน็จความชอบ และการดำเนินการทางวินัยข้าราชการส่วนภูมิภาคในจังหวัดซึ่งดำรงตำแหน่งประเภทอำนวยการและตำแหน่งประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด
4.จังหวัดต้องปรับปรุงการกำหนดตัวชี้วัดการพัฒนาจังหวัด (KPIs) ให้สามารถวัดผลการพัฒนาได้จริงและสอดคล้องกับงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร เพื่อให้การติดตามและประเมินผลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
รายงานข่าวแจ้งว่า จาก พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ระบุว่า ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งประเภทอํานวยการ ได้แก่ ตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่ต่ำกว่าระดับกรม และตำแหน่งอื่นที่ ก.พ. กำหนดเป็นต่ำตำแหน่งประเภทอํานวยการ หรือหากเปรียบเทียบกับระบบซีเดิมนั้น ตำแหน่งประเภทอํานวยการ จะเทียบเท่าระดับซี 8 เดิมและซี 9 เดิม ส่วนตำแหน่งประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญ จะเทียบเท่ากับระดับซี 9 เดิม
นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. มีมติมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1.ให้จังหวัดเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาคุณภาพ ในการจัดทำเป้าหมายการพัฒนาจังหวัด 20 ปี แผนพัฒนาจังหวัด และแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด เพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาในพื้นที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในจังหวัดได้
2.ให้กระทรวง/กรม ให้ความสำคัญกับการจัดทำข้อเสนอโครงการและงบประมาณเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาตามแผนพัฒนาจังหวัด
3.ให้สำนักงบประมาณใช้แผนพัฒนาจังหวัดเป็นแนวทางในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณของทุกหน่วยงานที่มีการดำเนินการในพื้นที่จังหวัด รวมทั้งรายงานผลการจัดสรรงบประมาณที่มีการดำเนินการในพื้นที่จังหวัดตามแผนพัฒนาจังหวัด ให้คณะรัฐมนตรีทราบ หลังจากพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีมีผลใช้บังคับ
4.ให้กระทรวงมหาดไทยรวบรวมข้อเสนอแผนงานโครงการที่จังหวัดขอรับการสนับสนุนจากกระทรวง/กรม (แบบ จ.3) แจ้งให้กระทรวง/กรมรับทราบ และพิจารณาบรรจุข้อเสนอแผนงานโครงการดังกล่าวไว้ในคำของบประมาณของกระทรวง/กรม และส่งให้สำนักงบประมาณพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป
5.ให้กระทรวง/กรม แจ้งแผนปฏิบัติราชการประจำปี หรือแผนปฏิบัติงานประจำปีของหน่วยงานในส่วนที่ดำเนินการในพื้นที่จังหวัด พร้อมทั้งระบุเวลาที่จะเริ่มดำเนินโครงการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบ ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่เห็นด้วยกับแผนปฏิบัติราชการประจำปี หรือแผนปฏิบัติงานประจำปีของหน่วยงาน หรือระยะเวลาที่จะเริ่มดำเนินโครงการตามแผนดังกล่าว ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแจ้งให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐทราบเพื่อปรับแผนหรือระยะเวลาให้เหมาะสมต่อไป
6.ให้สำนักงาน ก.พ. เร่งกำหนดแนวปฏิบัติตามมาตรา 53 ของพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ.2565 ที่กำหนดให้ปลัดกระทรวงหรืออธิบดี มอบอำนาจในการประเมินผลการปฏิบัติราชการ การเลื่อนเงินเดือน การให้บำเหน็จความชอบ และการดำเนินการทางวินัยข้าราชการส่วนภูมิภาคในจังหวัด ซึ่งดำรงตำแหน่งประเภทอำนวยการและตำแหน่งประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญให้ผู้ว่าราชการจังหวัด
7.ให้สำนักงาน ก.พ.ร. พิจารณาความเหมาะสมของตัวชี้วัดการพัฒนาจังหวัด (KPIs) ของแต่ละจังหวัด ให้สามารถวัดผลการพัฒนาได้จริงและสอดคล้องกับงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร เพื่อให้การติดตามและประเมินผลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
8.ให้กระทรวงมหาดไทย ชี้แจงและทำความเข้าใจกับผู้ว่าราชการจังหวัดเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจ และขั้นตอนการดำเนินงานตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ.2565 รวมทั้งจัดหลักสูตรฝึกอบรมพัฒนาสมรรถนะและองค์ความรู้ให้แก่เจ้าหน้าที่ของจังหวัด เกี่ยวกับการจัดทำแผน การขับเคลื่อนแผน การจัดทำโครงการและบริหารงบประมาณ และหลักสูตรอื่นที่เกี่ยวข้อง
“จากผลการดำเนินงานในระยะที่ผ่านมา พบว่า การบริหารงานของจังหวัดยังคงประสบปัญหาหลายประการ อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัดยังไม่สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้อย่างเต็มศักยภาพ การจัดสรรงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดยังมีข้อจำกัด กล่าวคือ จังหวัดมีงบประมาณในการดำเนินงานค่อนข้างจำกัด ในขณะที่กระทรวง/กรม มีโครงการและงบประมาณจำนวนมากที่จัดสรรลงพื้นที่จังหวัด
แต่ยังไม่เชื่อมโยงหรือสอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัดและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งตัวชี้วัดการพัฒนาจังหวัด (KPIs) ยังไม่ชัดเจน ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาฯ ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการใช้บังคับและยังมีความจำเป็นต้องกำหนดระเบียบ หลักเกณฑ์ และวิธีการต่าง ๆ มารองรับและสนับสนุนการดำเนินงานให้มีความชัดเจนมากขึ้น
ดังนั้น เพื่อตอบสนองนโยบายการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานของผู้ว่าราชการจังหวัด (ผู้ว่า CEO) ของรัฐบาล จึงต้องปรับปรุงกลไกการกระจายอำนาจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานเชิงพื้นที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด โดยเพิ่มความเข้มข้นในการใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีอยู่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานของจังหวัด” ส่วนหนึ่งของรายงานข้อเสนอการกระจายอำนาจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานเชิงพื้นที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด ของ สศช. ระบุ
อ่านประกอบ :
ปฏิรูปใหญ่!ย้อน‘พิมพ์เขียว’จว.ปกครองตนเอง-ว่าที่รบ.'ก้าวไกล'ดัน'ประชามติ'เลือกตั้งผู้ว่าฯ
บันทึกไว้! คำสัญญา นโยบายหาเสียง 6 พรรคการเมือง 'ก้าวไกล' ฟอร์มทีมตั้งรบ.ใหม่