“…เราตั้งใจภายใน 4 ปี จะมีก้อน 2 แสนล้านบาท/ปี ถ่ายโอนไปที่ท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้สัดส่วนรายได้ของท้องถิ่นจากส่วนกลางเพิ่มขึ้น ส่วนการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด จะเริ่มที่การทำประชามติ ถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่ ที่จะให้ทุกจังหวัดมีผู้ว่าราชการที่มาจากเลือกตั้งทุกจังหวัด แล้วจึงจะมาดำเนินการในขั้นตอนในการแก้ไขกฎหมายต่อไป…”
.......................................
แม้ว่าขณะนี้ ‘ดีล’ จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก 310 เสียง
ของพรรคการเมือง 6 พรรค ได้แก่ พรรคก้าวไกล (152 เสียง), พรรคเพื่อไทย (พท.) (141), พรรคประชาชาติ (9 เสียง) ,พรรคไทยสร้างไทย (6 เสียง) , พรรคเสรีรวมไทย (1 เสียง) และพรรคเป็นธรรม (1 เสียง) ที่มี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี
ยังคงต้องฝ่าด่านสำคัญของรัฐธรรมนูญฯ ปี 2560 มาตรา 272 ที่บัญญัติว่า
“ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา…”
นั่นหมายความว่า ‘พรรคก้าวไกล’ ที่ได้รับฉันทามติจากประชาชนมาเป็นอันดับ 1 จะต้องรวบรวมเสียงทั้งจาก ส.ส. และ ส.ว. ให้ได้อย่างน้อย 376 เสียง เพื่อให้ พิธา ก้าวขึ้นสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย แต่หากไม่สำเร็จ ก็จะเป็นโอกาสของ 'พรรคเพื่อไทย' ในการรวบรวมเสียง ส.ส. และ ส.ว. เพื่อเลือกนายกฯ ที่เป็นคนของพรรคเพื่อไทยต่อไป
แต่ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร หรือแคนดิเดตนายกฯของพรรคการเมืองใดจะได้นั่งเก้าอี้ ‘นายกฯ’
หากการจัดตั้งรัฐบาลที่มี 2 พรรคการเมืองใหญ่ ‘พรรคก้าวไกล-พรรคเพื่อไทย’ เป็นแกนนำประสบความสำเร็จลุล่วง แน่นอนว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ‘ครั้งใหญ่’ ใน ‘การบริหารราชการส่วนภูมิภาค’
เพราะทั้ง 2 พรรคต่างก็มีนโยบายในการผลักดันให้มีการเลือกตั้ง ‘ผู้ว่าราชการจังหวัด’ จากปัจจุบันที่ผู้ว่าราชการจังหวัด 75 จังหวัด มาจากแต่งตั้งของกระทรวงมหาดไทย อันได้แก่ นโยบาย ‘ปลดล็อกเลือกตั้งผู้ว่าฯทุกจังหวัด’ ของพรรคก้าวไกล และนโยบาย ‘เลือกตั้งผู้ว่าฯจังหวัดที่พร้อม’ ของพรรคเพื่อไทย
(ที่มา : นโยบายหาเสียง ‘ปลดล็อกเลือกตั้งผู้ว่าฯทุกจังหวัด’ ของพรรคก้าวไกล ในการเลือกตั้ง ปี 2566 ที่ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.))
(ที่มา : นโยบายหาเสียง ‘เลือกตั้งผู้ว่าฯจังหวัดที่พร้อม’ ของพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้ง ปี 2566 ที่ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.))
@‘ก้าวไกล’ ย้ำโรดแมฟเดินหน้าเลือกตั้ง ‘ผู้ว่าฯจังหวัด’ 3 ขั้นตอน
“ขั้นตอนแรก คือ การปลดล็อกท้องถิ่น ซึ่งในที่นี้หมายถึงการให้อำนาจท้องถิ่นจัดทำบริการสาธารณะได้ทั้งหมด ยกเว้นบริการสาธารณะที่กำหนดห้ามไว้เท่านั้น จากเดิมที่กำหนดว่า จะทำอะไรได้บ้าง คือ ห้ามทำ แต่ของเราจะกำหนดเฉพาะที่ห้ามทำ เช่น กองทัพ เงินตรา ศาล และสัญญาระหว่างประเทศ ส่วนที่เหลือให้ทำได้ เพื่อเปิดกว้างอำนาจของท้องถิ่นฯ
ขั้นตอนที่สอง คือ การถ่ายโอนภารกิจ เดิมเรามีแผน (แผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) ฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 มาแล้ว แต่เราจะผลักดันแผนถ่ายโอนกระจายอำนาจ ฉบับที่ 3 เพื่อเร่งถ่ายโอนภารกิจจากส่วนกลางไปยังท้องถิ่นมากขึ้น
โดยเราตั้งใจภายใน 4 ปี จะมีก้อนเงิน 2 แสนล้านบาท/ปี ถ่ายโอนไปที่ท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้สัดส่วนรายได้ของท้องถิ่นจากส่วนกลางเพิ่มขึ้น ส่วนการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด จะเริ่มที่การทำประชามติ ถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่ ที่จะให้ทุกจังหวัดมีผู้ว่าราชการที่มาจากเลือกตั้งทุกจังหวัด แล้วจึงจะมาดำเนินการในขั้นตอนในการแก้ไขกฎหมายต่อไป
เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เราจึงอยากให้มีการหาฉันทามติก่อนว่า ประชาชนอยากไปทางนี้หรือไม่ พอได้ฉันทามติแล้ว ก็จะดำเนินการในขั้นตอนต่อไป” วรภพ วิริยะโรจน์ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล หนึ่งในทีมนโยบายของพรรคก้าวไกลกล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงแนวทางการผลักดันนโยบาย ‘ปลดล็อกเลือกตั้งผู้ว่าฯทุกจังหวัด’
@มอง 2 แนวทางเลือกตั้ง ‘ผู้ว่าฯ’ ขึ้นอยู่กับผลการทำประชามติ
ส่วนแนวทางการทำประชามติจากประชาชนว่า จะให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศอย่างไร นั้น วรภพ กล่าวว่า ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น เชื่อว่าน่าจะต้องมีการทำประชามติกันหลายครั้งมาก และน่าจะพอมีช่องทางให้มีการใส่เรื่องการทำประชามติเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าฯไปพร้อมๆกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้
“น่าจะมีการพ่วงเรื่องนี้ (การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด) เข้าไปในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เลยก็ได้ เพื่อให้เป็นฉันทามติของประชาชนว่า อยากเห็นการปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่ ซึ่งทั้งหมดนี้ เราแถลงเป็นนโยบายพรรคแล้ว และถ้าผ่าน เราก็ต้องมาทำแผนกันว่า จะทำอย่างไร ในขณะที่การถ่ายโอนอำนาจให้ท้องถิ่นมันก็เดินไปอยู่แล้ว” วรภพ กล่าว
วรภพ กล่าวด้วยว่า ในการทำประชามติว่า จะให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการทุกจังหวัดหรือไม่ นั้น น่าจะเกิดขึ้นภายในปีที่ 1 หรือไม่เกินปีที่ 2 หลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาล ไม่ได้เกิดขึ้นทันที เพราะเมื่อทำประชามติแล้ว ยังมีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการในขั้นตอนตามกฎหมาย ทั้งการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือการออกฎหมายจังหวัดจัดการตนเอง ซึ่งจะอยู่ภายใต้ 2 ทางเลือกหลัก
ได้แก่ ทางเลือกแรก หากทุกจังหวัดเห็นด้วยว่าให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ก็จะไปแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ และทางเลือกที่สอง หากมีบางจังหวัดเท่านั้นที่เห็นว่าควรให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ก็จะไปออกเป็น พ.ร.บ.จังหวัดจัดการตนเองฯ
ในขณะที่ประชาชนเองจะมีอำนาจในการถอดถอนผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งได้ และจะจัดให้มีรับฟังความคิดเห็นเพื่อตรวจสอบการทำงานของผู้ว่าฯกันทุกๆ 3 เดือน ทั้งนี้ เพื่อทำให้การทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้ง ยึดโยงกับประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง
“จากสมมติฐานของผม ผมยังเชื่อว่าทุกจังหวัดเขาพร้อม (เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด) แต่ถ้าเสียงออกมาว่า มีบางจังหวัดเท่านั้นที่พร้อม ก็จะไปในภาพของจังหวัดจัดการตนเอง และเรื่องที่ต้องทำคู่ขนานกันไป คือ การทำให้โปร่งใส สร้างความมั่นใจ และลบมายาคติในเรื่องการทุจริตออกไป ซึ่งไม่ใช่แค่ท้องถิ่น แต่รวมถึงราชการทั้งหมด” วรภพ กล่าว
(วรภพ วิริยะโรจน์ ที่มาภาพ : พรรคก้าวไกล)
@ต้องหารือ‘เพื่อไทย’ ก่อนผลักดันนโยบายเลือกตั้ง‘ผู้ว่าฯจังหวัด’
วรภพ กล่าวต่อว่า เมื่อมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดเดิมที่มาจากการแต่งตั้งของกระทรวงมหาดไทย จะมีบทบาทใหม่ คือ ทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจราชการประจำจังหวัด ในฐานะเป็นตัวแทนจากราชการส่วนกลาง และแน่นอนว่าอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้งในแบบเดิมจะลดน้อยลง
“ถ้าผู้ว่าราชการที่มาจากการเลือกตั้งไม่ได้ทำตามกฎหมาย หรือทำผิดกฎหมาย อย่างน้อยจะมีคนหรือกลไกจากราชการส่วนกลาง เข้าไปฟ้องศาลปกครองให้ระงับได้ หรือช่วยคุ้มครองดูแลพี่น้องประชาชนได้อยู่ แต่ไม่ได้มีอำนาจในการห้ามไม่ให้ท้องถิ่นฯทำอะไร และยังมีบทบาทในการกำกับดูแลอยู่” วรภพ กล่าว
วรภพ กล่าวด้วยว่า แม้ว่าพรรคก้าวไกลจะมีนโยบาย ‘ปลดล็อกเลือกตั้งผู้ว่าฯทุกจังหวัด’ แต่ทั้งนี้ คงต้องหารือกับพรรคเพื่อไทยที่มีนโยบาย ‘เลือกตั้งผู้ว่าฯจังหวัดที่พร้อม’ ด้วย โดยพรรคก้าวไกลยังมั่นใจว่าสิ่งที่เสนอกับประชาชนในการหาเสียงเลือกตั้งนั้น เป็นข้อเรียกร้องของประชาชนที่มีมานานมากแล้ว เพื่อให้จังหวัดของตนเจริญทัดเทียมกับกรุงเทพฯ
ส่วนแรงต่อต้านจากข้าราชการ โดยเฉพาะข้าราชการกระทรวงมหาดไทย นั้น วรภพ กล่าวว่า "พรรคฯเข้าใจในจุดนี้ แต่ต้องยึดว่าอะไรเป็นประโยชน์กับประชาชน และต้องหาวิธีสื่อสารทำความเข้าใจว่า ข้อเสนอของเราเป็นประโยชน์กับประชาชน และเรายืนยันมาตลอดว่า แม้จะมีการปฏิรูปแต่ความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ และสิทธิประโยชน์ต่างๆของข้าราชการยังเหมือนเดิม"
@ย้อนดูสาระ‘ร่าง พ.ร.บ.บริหารจังหวัดปกครองตนเอง’ ฉบับ‘คปก.’
อย่างไรก็ดี การขับเคลื่อนให้มีการเลือกตั้ง ‘ผู้ว่าราชการจังหวัด’ นั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีการผลักดันมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2557 คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 เคยมีการยกร่างกฎหมายในเรื่องดังกล่าว ได้แก่ ‘ร่าง พ.ร.บ.การบริหารจังหวัดปกครองตนเอง พ.ศ. ....’ โดยมีสาระสำคัญ เช่น
-การจัดตั้งจังหวัดปกครองตนเอง
กำหนดให้ พ.ร.บ.นี้ มีลักษณะเป็นกฎหมายกลางเช่นเดียวกับกฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชน กล่าวคือ เมื่อประชาชนในจังหวัดใดมีความพร้อมตามเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น มีสิทธิแสดงเจตนารมณ์เพื่อจัดตั้งจังหวัดปกครองตนเอง โดยการจัดตั้งจังหวัดปกครองตนเองนั้น ให้ตราเป็น พ.ร.ฎ. จัดตั้งจังหวัดปกครองตนเองตาม พ.ร.บ.นี้
การแสดงเจตนารมณ์ของประชาชนเพื่อจัดตั้งจังหวัดปกครองตนเองนั้น ให้กระทำโดยการออกเสียงประชามติ ซึ่งกระบวนการเสนอให้มีการออกเสียงประชามติสามารถกระทำได้ โดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งภายในจังหวัดจำนวนไม่น้อยกว่า 5,000 คน เข้าชื่อเสนอต่อนายกฯเพื่อให้มีการจัดทำประชามติจัดตั้งจังหวัดปกครองตนเอง
ในขั้นตอนการออกเสียงประชามติ ต้องมีผู้มาออกเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงในจังหวัดนั้น และต้องมีผลคะแนนออกเสียงประชามติจำนวน 3 ใน 5 ของผู้มาออกเสียงเห็นชอบให้จัดตั้งจังหวัดปกครองตนเอง
และเมื่อประชาชนในจังหวัดใดลงประชามติเห็นชอบให้มีการจัดตั้งจังหวัดปกครองตนเองแล้ว ให้มีการดำเนินการออก พ.ร.ฎ.จัดตั้งตามพระราชบัญญัตินี้ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ได้ประกาศผลการออกเสียงประชามติ (ร่างมาตรา 6)
-การกำหนดให้ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคในจังหวัดที่ได้จัดตั้งเป็นจังหวัดปกครองตนเอง
เมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.ฎ.จัดตั้งจังหวัดปกครองตนเองในจังหวัดใด ให้ถือว่า พ.ร.บ.นี้มีผลยกเลิกกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งจังหวัดนั้น กล่าวคือ เมื่อจังหวัดใดได้จัดตั้งเป็นจังหวัดปกครองตนเองแล้ว โดยผลของ พ.ร.บ.นี้จะทำให้จังหวัดและอำเภอในฐานะที่เป็นราชการส่วนภูมิภาค ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินยกเลิกไป
นอกจากนี้ เมื่อได้ประกาศใช้บังคับ พ.ร.ฎ.จัดตั้งจังหวัดปกครองตนเองในจังหวัดใดแล้ว ก็จะทำให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ก่อตั้งฐานะนิติบุคคลให้กับจังหวัดปกครองตนเองนั้น โดยถือว่าจังหวัดปกครองตนเองที่ก่อตั้งขึ้น เป็นราชการส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และมีอาณาเขตท้องที่ตามที่จังหวัดนั้นมีอยู่เดิม (ร่างมาตรา 9)
-การกำหนดหลักการพื้นฐานของการปกครองส่วนท้องถิ่น
กำหนดให้จังหวัดปกครองตนเอง เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลตาม พ.ร.บ.นี้ มีความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบาย การบริหาร การจัดบริการสาธารณะ การบริหารงานบุคคล การเงิน การคลังและการงบประมาณ รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
โดยหลักการดังกล่าวเป็นหลักการพื้นฐานทั่วไปของการปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักการแห่งการกระจายอำนาจที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยให้การรับรอง
เมื่อรัฐส่วนกลางได้กระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว รัฐส่วนกลางจะคงไว้ซึ่งอำนาจกำกับดูแล โดยการกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องทำเท่าที่จำเป็นและมีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ชัดเจน สอดคล้องและเหมาะสมกับรูปแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
โดยต้องเป็นไปเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม และจะกระทบถึงสาระสำคัญแห่งหลักการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น หรือนอกเหนือจากที่กฎหมายบัญญัติไว้มิได้ (ร่างมาตรา 10 และร่างมาตรา 11)
(ที่มา : ร่าง พ.ร.บ.การบริหารจังหวัดปกครองตนเอง พ.ศ. .... ของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550)
-การกำหนดให้การบริหารจังหวัดปกครองตนเอง ประกอบด้วยโครงสร้าง 3 ส่วน
ส่วนที่ 1 สภาจังหวัดปกครองตนเอง
กำหนดให้สภาจังหวัดปกครองตนเองมีหน้าที่ที่สำคัญ คือ การให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาจังหวัดและร่างข้อบัญญัติ การควบคุมการปฏิบัติงานของผู้ว่าการจังหวัดปกครองตนเอง และการส่งเสริมสนับสนุน และให้ความร่วมมือกับสภาพลเมือง
ทั้งนี้ สมาชิกสภาจังหวัดปกครองตนเองมีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี โดยการกำหนดเขตเลือกตั้งและจำนวนสมาชิกสภาจังหวัดปกครองตนเองต้องคำนึงถึงเขตพื้นที่และจำนวนประชาชน (ร่างมาตรา 17– ร่างมาตรา 20, ร่างมาตรา 23 และร่างมาตรา 29)
กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดปกครองตนเองที่สำคัญ เช่น ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ กำหนดให้สมาชิกสภาจังหวัดปกครองตนเองต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในกิจการของจังหวัดปกครองตนเอง
และกำหนดการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาจังหวัดปกครองตนเองไว้ในกรณีต่างๆ เช่น สภาจังหวัดปกครองตนเองมีมติให้พ้นจากตำแหน่ง การถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นโดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เป็นต้น (ร่างมาตรา 22, ร่างมาตรา 24 และร่างมาตรา 25) เป็นต้น
ส่วนที่ 2 ผู้ว่าการจังหวัด
กำหนดให้ผู้ว่าการจังหวัดมีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน โดยใช้เขตจังหวัดปกครองตนเองเป็นเขตเลือกตั้ง มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่า 2 วาระไม่ได้ โดยกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการจังหวัดต้องเสนอชื่อบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการจังหวัดด้วย
กำหนดให้ผู้ว่าการจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญ เช่น กำหนดนโยบายและการบริหารจังหวัดปกครองตนเอง พิจารณาและออกประกาศ ประกาศใช้แผนพัฒนาจังหวัดปกครองตนเอง เป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานเจ้าหน้าที่ของจังหวัดปกครองตนเอง และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของจังหวัดปกครองตนเอง เป็นต้น
โดยเหตุที่จะทำให้ผู้ว่าการจังหวัดจะพ้นจากตำแหน่งที่สำคัญ คือ การที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตจังหวัดปกครองตนเองได้เข้าชื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี และเพื่อให้การบริหารงานในระหว่างที่ไม่มีผู้ว่าการจังหวัดขาดความต่อเนื่อง ให้หัวหน้าสำนักงานจังหวัดปกครองตนเองปฏิบัติหน้าที่ของผู้ว่าการจังหวัดเท่าที่จำเป็นได้เป็นการชั่วคราว
ส่วนที่ 3 สภาพลเมืองจังหวัดปกครองตนเอง
กำหนดให้สมาชิกสภาพลเมืองประกอบด้วยบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์จากองค์กร ภาคชุมชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาชีพ ภาควิชาการ โดยที่สมาชิกสภาพลเมืองมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี ซึ่งเป็นการออกแบบโครงสร้างที่เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารท้องถิ่น
โดยสภาพลเมืองจังหวัดปกครองตนเอง มีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญในการกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในด้านต่างๆ การตัดสินใจทางการเมือง การจัดทำบริการสาธารณะ จัดประชุมสมัชชาพลเมือง ตลอดจนการตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยการเสนอชื่อบุคคลเป็นคณะกรรมการตรวจสอบ
-การกำหนดอำนาจหน้าที่ของจังหวัดปกครองตนเอง เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล
อำนาจหน้าที่ของจังหวัดปกครองตนเอง
ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของจังหวัดปกครองตนเองในเชิงปฏิเสธ กล่าวคือ จังหวัดปกครองตนเองย่อมมีอำนาจหน้าที่ทุกประการภายในจังหวัด
ยกเว้นอำนาจหน้าที่ 4 ประการ ได้แก่ ประการแรก อำนาจหน้าที่ด้านการป้องกันประเทศ ประการที่สอง อำนาจหน้าที่ในด้านการคลังของรัฐและระบบเงินตรา ประการที่สาม อำนาจหน้าที่ด้านการศาล และประการสุดท้าย อำนาจหน้าที่ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (ร่างมาตรา 72)
-การกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันเอง
การกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ กำหนดให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจกำกับดูแลการปฏิบัติราชการ ตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.นี้ ให้เป็นไปตามกฎหมาย
กล่าวคือ นายกรัฐมนตรี มีอำนาจกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ จังหวัดปกครองตนเอง เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล โดยกำหนดให้นายกรัฐมนตรีทำหน้าที่กำกับดูแลได้ตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเป็นอิสระในการจัดทำบริการสาธารณะภายใต้การกำกับตามกฎหมาย (ร่างมาตรา 82)
-การกำหนดหลักการในเรื่องการคลังและรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
การกำหนดหน้าที่ของรัฐต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเรื่องการคลังและรายได้ กำหนดให้รัฐมีหน้าที่ต้องให้การสนับสนุนการจัดทำบริการสาธารณะของจังหวัดปกครองตนเอง เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล โดยคำนึงถึงหลักการจัดทำบริการสาธารณะขั้นต่ำอย่างเท่าเทียมกัน เป็นต้น (ร่างมาตรา 86)
-การกำหนดให้มี “คณะกรรมการตรวจสอบ” ขึ้นในจังหวัดปกครองตนเอง
กำหนดให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งในจังหวัดปกครองตนเอง เรียกว่า “คณะกรรมการตรวจสอบ” ประกอบด้วยประธานกรรมการคนหนึ่ง และกรรมการอื่นอีก 8 คน ซึ่งสภาจังหวัดปกครองตนเองให้ความเห็นชอบตามที่สภาพลเมืองจังหวัดปกครองตนเองเสนอ โดยต้องคำนึงถึงสัดส่วนความเท่าเทียมระหว่างเพศด้วย
(ภาคีเครือข่ายรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯเชียงใหม่ (ภ.ร.ช.) และสภาพลเมืองเชียงใหม่ รณรงค์ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดือน พ.ค.2565 ที่มา : เพจ The North องศาเหนือ)
-บทเฉพาะกาล
กำหนดให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และสมาชิกองค์การบริหาร ส่วนจังหวัด ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่มีการจัดตั้งเป็นจังหวัดปกครองตนเอง
เป็นผู้ว่าการจังหวัด รองผู้ว่าการจังหวัด เลขานุการผู้ว่าการจังหวัด ที่ปรึกษาผู้ว่าการจังหวัด และสมาชิกสภาจังหวัดปกครองตนเองแล้วแต่กรณี จนกว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าการจังหวัดและสมาชิกสภาจังหวัดปกครองตนเองตาม พ.ร.บ.นี้ (ร่างมาตรา 125)
กำหนดให้เมื่อได้มีการยกเลิกกฎหมายว่าด้วยการตั้งจังหวัดซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ.นี้ ให้ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติงานสังกัดราชการส่วนภูมิภาคซึ่งเคยปฏิบัติงานอยู่ในจังหวัด ที่ได้มีการจัดตั้งเป็นจังหวัดปกครองตนเอง แสดงความจำนงว่าจะโอนย้ายกลับไปสังกัดหน่วยงานเดิมที่ตนสังกัดอยู่
หรือมีความประสงค์จะโอนย้ายมาสังกัดเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ของจังหวัดปกครองตนเอง โดยตำแหน่งหน้าที่ เงินเดือน ค่าตอบแทนอย่างอื่น หรือสิทธิประโยชน์ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่โอนย้ายมาสังกัดเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ของจังหวัด ปกครองตนเองจะต้องไม่น้อยกว่าสถานะเดิมของข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น (ร่าง 126 มาตรา 127)
กำหนดให้ในจังหวัดใด เมื่อมีการจัดตั้งเป็นจังหวัดปกครองตนเอง โดยมีการประกาศใช้ พ.ร.ฎ.แล้ว ให้กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหลายในส่วนที่ พ.ร.บ.นี้มิได้กำหนดให้นำบทบัญญัตินั้นมาใช้บังคับในเขตพื้นที่จังหวัดเดิม ไม่มีผลใช้บังคับ นับตั้งแต่วันที่ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.ฎ.จัดตั้งตาม พ.ร.บ.นี้ (ร่างมาตรา 128) เป็นต้น
@‘ร่างกม.จังหวัดปกครองตนเอง’ฉบับ‘คปก.’ขึ้นหิ้ง หลังรัฐประหารฯ
แต่ทว่าการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.การบริหารจังหวัดปกครองตนเอง พ.ศ. .... ฉบับดังกล่าว หรือที่เรียกว่ากฎหมาย ‘จังหวัดจัดการตนเอง’ ให้มีผลบังคับใช้ มีอันต้องล้มเลิกไป หลังจากมีการรัฐประหาร ปี 2557 และมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ส่งผลให้มีการยุบเลิกคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ในเดือน ก.ค.2557
“ตอนนั้นมีเครือข่ายฯ 51 จังหวัด ที่ขับเคลื่อนเรื่องจังหวัดจัดการตนเอง เราก็ปักธงว่า 24 มิ.ย.2557 จะเคลื่อนเรื่องนี้ครั้งใหญ่ และผมซึ่งเป็นกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ก็ร่าง (กฎหมาย) ไว้แล้ว แต่พอเดือน พ.ค.2557 มีการปฏิวัติ เราก็กลับบ้าน และ คปก. ก็ถูกยุบในเดือน ก.ค.2557” ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ อดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา
(ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ)
ศ.ดร.บรรเจิด ยังกล่าวถึงสาระสำคัญหลักของ ร่าง พ.ร.บ.การบริหารจังหวัดปกครองตนเอง พ.ศ. .... ฉบับ คปก. ว่า ร่างกฎหมายดังกล่าว มีลักษณะเป็น ‘กฎหมายกลาง’ หากจังหวัดใดมีความพร้อมในการจัดตั้ง ‘จังหวัดปกครองตนเอง’ ก็ให้ประชาชนลงมติว่าจะให้จังหวัดตนเองเป็นจังหวัดปกครองตนเองหรือไม่ แล้วจึงออกเป็น พ.ร.ฎ.ต่อไป ส่วนเกณฑ์ความพร้อมว่า จังหวัดใดพร้อมที่จะจัดตั้งจังหวัดปกครองตนเองแล้วหรือไม่นั้น ก็ต้องไปกำหนดหลักเกณฑ์กันอีกทีหนึ่ง
“ร่างกฎหมายของ คปก. ฉบับนี้ และวัตถุประสงค์ของเขา (ก้าวไกล) ปลายทางก็เหมือนกัน คือ ต้องการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้ง แต่การจะไปถึงต้องนั้น เป็นเรื่องวิธีการ แต่หลักการปลายทางเหมือนกัน เราต้องการลดความซ้ำซ้อนของราชการส่วนกลางกับระดับจังหวัด” ศ.ดร.บรรเจิด กล่าว
เหล่านี้เป็นสาระสำคัญของ ‘ร่าง พ.ร.บ.บริหารจังหวัดปกครองตนเอง’ ฉบับ ‘คปก.’ ก่อนที่ ‘พรรคก้าวไกล-พรรคเพื่อไทย’ จะเดินหน้านโยบายปลดล็อกให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ หากจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้สำเร็จ และคงติดตามต่อไปว่านโยบายที่ทั้ง 2 พรรค ได้ประกาศเป็นนโยบายในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง 2566 นั้น จะสำเร็จลุล่วงหรือไม่และอย่างไร?
อ่านเพิ่มเติม : ร่าง พ.ร.บ.การบริหารจังหวัดปกครองตนเอง พ.ศ. .... ของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.)
อ่านประกอบ :
บันทึกไว้! คำสัญญา นโยบายหาเสียง 6 พรรคการเมือง 'ก้าวไกล' ฟอร์มทีมตั้งรบ.ใหม่