ครม. รับทราบรายงานสถานะ ‘หนี้สาธารณะ’ ระบุ ณ สิ้นปีงบ 66 อยู่ที่ 11.33 ล้านล้าน คิดเป็นสัดส่วน 62.44% ต่อจีดีพี เผยหนี้ฯเพิ่มจากปีก่อน 7.6 แสนล้าน เหตุกู้เงินลงทุน-ชดเชยขาดดุลงบประมาณ
...................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรมว.คลัง เป็นประธาน เมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. รับทราบรายงานสัดส่วนหนี้สาธารณะ ตามมาตรา 50 และรายงานสถานะหนี้สาธารณะ หนี้ภาครัฐ และความเสี่ยงทางการคลัง ตามมาตรา 76 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ณ วันสิ้นปีงบประมาณ 2566 ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ
ทั้งนี้ รายงานฯดังกล่าว ระบุว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นจริง ณ สิ้นเดือน ก.ย.2566 ยังคงอยู่ภายใต้กรอบในการบริหารหนี้สาธารณะ ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของภาครัฐ กำหนด ได้แก่
1.หนี้สาธารณะคงค้างมีจำนวน 11.33 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 62.44% ของ GDP เพิ่มจากปีก่อน 7.6 แสนล้านบาท โดยการเพิ่มขึ้นสำคัญเกิดจากหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมถึงเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว ผ่านโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และการกู้มาให้กู้ต่อแก่รัฐวิสาหกิจเพื่อสนับสนุนโครงการลงทุนสาธารณะ
2.หนี้เงินกู้คงค้างของหน่วยงานของรัฐ ประกอบด้วย
-รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ คือ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) จำนวน 17,400 ล้านบาท
-รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะที่ทำธุรกิจให้กู้ยืมเงินธุรกิจบริหารสินทรัพย์ และธุรกิจประกันสินเชื่อที่กระทรวงการคลังไม่ได้ค้ำประกัน อาทิ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย จำนวน 6 แสนล้านบาท
-องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีจำนวน 4 หมื่นล้านบาท
-ธนาคารแห่งประเทศไทย มีจำนวน 4.21 ล้านล้านบาท
3.ความเสี่ยงทางการคลัง พบว่า ยังอยู่ภายใต้กรอบในการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการฯ กำหนด
-หนี้สาธารณะ จำนวน 11.13 ล้านล้านบาท โดยหนี้ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 98.58 เป็นหนี้ในประเทศ และร้อยละ 83.89 ของหนี้สาธารณะเป็นหนี้ที่เป็นภาระต่องบประมาณโดยตรง ซึ่งรัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อชำระคืนเมื่อถึงกำหนด สำหรับหนี้ที่ไม่เป็นภาระต่องบประมาณโดยตรง หน่วยงานจะเป็นผู้รับภาระการชำระหนี้โดยใช้แหล่งรายได้อื่นที่ไม่ใช่งบประมาณมาชำระหนี้
-หนี้เงินกู้ของหน่วยงานของรัฐที่ไม่นับเป็นหนี้สาธารณะ ไม่มีผลกระทบต่อภาระทางการคลัง หรือเงินงบประมาณแผ่นดินในภาพรวม เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีสถานะการดำเนินงานที่มั่นคงและมีรายได้เพียงพอที่จะชำระหนี้เงินกู้เองได้
“การกู้เงินของรัฐบาลแม้จะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น แต่กลับมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยการกระจายความเจริญไปทุกภูมิภาคทั่วประเทศผ่านการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ด้านการคมนาคม สาธารณูปการ และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเป็นสำคัญ ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ขยายโอกาสและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
รวมทั้งยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัว อย่างไรก็ดี การเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จะทำให้สัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการหนี้สาธารณะเพื่อสนับสนุนการลงทุนและดำเนินมาตรการทางการคลัง รวมทั้งการชำระหนี้อย่างเคร่งครัดและครบถ้วนตามกรอบการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ” รายงานสถานะหนี้สาธารณะ หนี้ภาครัฐ และความเสี่ยงทางการคลัง ตามมาตรา 76 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ณ วันสิ้นปีงบประมาณ 2566 ระบุ
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ คือ ณ เดือน ส.ค.2566 ประเทศไทยมีหนี้สาธารณะคงค้าง ทั้งสิ้น 11,027,980.02 ล้านบาท หรือคิดเป็น 61.78% ต่อจีดีพี (ประมาณการจีดีพี 17,849,550.10 ล้านบาท ,อัตราแลกเปลี่ยน 35.09 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ) โดยหนี้ส่วนใหญ่ หรือ 9,676,757.05 ล้านบาท เป็นหนี้ของรัฐบาล (หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง+หนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ+หนี้เงินกู้ล่วงหน้าเพื่อปรับโครงสร้างหนี้)
อ่านประกอบ :
ย้อนดู‘หนี้ประเทศ-ภาระผูกพัน’ ก่อน‘รบ.เศรษฐา’เร่งหาแหล่งเงิน 5.6 แสนล.โปะ‘ดิจิทัลวอลเลต’