ความคืบหน้ากรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช.กำลังรวบรวมหลักฐาน เพื่อตรวจสอบอุทยานแห่งชาติบางแห่ง ในการเก็บค่าเข้าชมจากนักท่องเที่ยว โดยไม่ผ่านระบบ e-ticket จนอาจกลายเป็นช่องโหว่ของการทุจริต และอาจโยงขบวนการซื้อขายตำแหน่ง
โดยข้อมูลที่ทีมข่าวได้รับจากเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. พบว่า เงินที่ไม่ผ่านระบบ e-ticket ถูกนำส่งต่อไปยังระดับผู้บังคับบัญชา เพื่อใช้แปรสภาพเรื่องของการซื้อขายตำแหน่ง ด้วยมูลค่าเม็ดเงินจำนวน 7 หลัก
ขณะเดียวกัน ยังพบว่าอุทยานหลายแห่ง ไม่ได้ปฏิบัติตามมติ ป.ป.ช. ที่ให้ใช้รูปแบบ e-ticket เข้ามาดำเนินการ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และง่ายต่อการตรวจสอบ
เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ให้ข้อมูลกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่าพื้นที่จับตามี 4 เป้าหมายหลัก ประกอบด้วย
1.อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม
2.อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา
3.อุทยานแห่งชาติเกาะตะรุเตา
4.อุทยานแห่งชาติสิรินาฏ
แหล่งข่าวระดับสูงจาก ป.ป.ช. ระบุเพิ่มเติมว่า ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จากการลงพื้นที่ จ.ตรัง เพื่อรับฟังปัญหา พบว่าเจ้าหน้าที่อุทยานฯหลายคนไม่อยากทำงานเก็บค่าธรรมเนียมเป็นเงินสด โดยบางวันเก็บเงินสดได้ถึง 2 กระสอบ บริเวณหน้าแหล่งท่องเที่ยว เช่น ถ้ำมรกต และเกาะกระดาน ก่อนนำเงินที่ได้ส่งขึ้นฝั่ง เนื่องจากอุทยานฯในพื้นที่ไม่สามารถจัดจ้างทำ e-ticket ได้เอง
อีกด้านหนึ่ง ป.ป.ช.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ปลอมตัวเป็นนักท่องเที่ยว เพื่อเข้าไปสังเกตการณ์การจัดเก็บรายได้ของอุทยาน ฯ ของนักท่องเที่ยวที่มาจากอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา โดยต้องเก็บเป็นเงินสด ด้วยการใช้เรือเข้าไปเก็บนักท่องเที่ยวรายหัว หัวละ 400 บาท
จากข้อมูลที่ได้ ทาง ป.ป.ช. ได้จัดทำข้อเสนอแนะแบบเร่งด่วน 7 ข้อ คือ
1.ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดทำและพัฒนาระบบการจัดเก็บเงินค่าบริการและระบบการจองล่วงหน้าด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ ระบบออนไลน์ (E-Ticket) อย่างเร่งด่วน
2.แก้ไขระเบียบกรมอุทยานฯ ว่าด้วยการเก็บ การรักษา การใช้จ่ายเงินรายได้ เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2560 โดยให้เก็บรายโดยผ่านการโอนเข้าบัญชีของกรมอุทยานฯเท่านั้น ไม่ให้มีการเก็บเป็นเงินสดทุกรณี
3.ให้เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ตรวจสอบรายการจัดซื้อประกันชีวิตนักท่องเที่ยวของบริษัททัวร์ พร้อมนับจำนวนนักท่องเที่ยวเปรียบเทียบกับการชำระค่าบริหาร เพื่อตรวจสอบควบคู่กัน
4.ให้มีเครือข่ายภาคประชาชนเข้ามามีส่วนรวมในการเฝ้าระวัง สังเกตการณ์ พร้อมรายงานหรือเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันการทุจริตประจำจังหวัด และนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติ (PAC) โดยจะต้องเผยแพร่รายงานการประชุมให้กับสื่อมวลชนและประชาชนทราบด้วย
5.ให้ทุกอุทยานฯจัดทำเพจเพื่อรายงานผลจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้า – ออก แบบทันที และตลอดเวลา หรือ (Real Time) แต่ละอุทยานฯ
6.กรมอุทยานแห่งชาติฯ ต้องเปิดเผยผลการอนุมัติงบประมาณ ตามระเบียบว่าด้วยการเก็บ การรักษา การใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ข้อ 13 วรรคสอง กรณีการอนุมัติโดยกรณีจำเป็นเร่งด่วนว่าได้อนุมัติงบดำเนินการเรื่องอะไรบ้าง
7.เร่งดำเนินการการจัดทำเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพ (Career Path) หรือ “ระเบียบที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับบำเหน็จความชอบสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน” อย่างเป็นรูปธรรม โดยเร่งด่วน
นอกจากนี้ แหล่งข่าวจาก ป.ป.ช. ได้ยกตัวอย่าง การบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง พบว่า
1.การบริหารงานบุคคล มีบุคลากรรวมทั้งหมด จำนวน 117 คน
1.1 ตำแหน่งข้าราชการ จำนวน 1 คน
1.2 ตำแหน่งลูกจ้างประจำ จำนวน 2 คน
1.3 ตำแหน่งพนักงานราชการ จำนวน 30 คน
1.4 ตำแหน่งบุคคลภายนอก จำนวน 12 คน
1.5 ตำแหน่งพนักงานจ้างเหมาเอกชนดำเนินงาน จำนวน 72 คน
แต่ความรับผิดชอบ มีเจ้าหน้าที่แค่คนเดียว
สำหรับอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่ อ.สิเกา และอ.กันตัง จ.ตรัง ซึ่งตั้งอยู่ในทะเลอันดามัน มีผืนแผ่นดิน กว่า 20 กิโลเมตร โดยมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 144,292.35 ไร่ หรือ 230.87 ตารางกิโลเมตร
แต่กลับมีเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเพียงเท่านี้ โดยเฉพาะผู้รับผิดชอบตามกฎหมาย มีเพียงคนเดียว