ป.ป.ช.เผยแพร่มติคกก.ชุดใหญ่ ตีตกข้อกล่าวหา 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' อดีตนายกฯ -ประธาน กขช. คดีที่สอง ละเลย เพิกเฉย ปล่อยให้มีทุจริตโครงการประกันราคาข้าว รัฐเสียหาย130,455.35 ล้านบาท หลังพิจารณาสำนวนไต่สวนข้อเท็จจริงไม่ปรากฏพยานหลักฐานเพียงพอสนับสนุนว่าได้กระทำความผิด แต่เสียงไม่เอกฉันท์ กรรมการ 1 ราย เห็นแย้งว่ามีมูลความผิด ม. 157
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตีตกข้อกล่าวหา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ละเลย เพิกเฉย ไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทางราชการตามที่มีอำนาจหน้าที่ และไม่เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่กลับปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการประกันราคาข้าว ทำให้เกิดความเสียหายด้านงบประมาณของแผ่นดิน
หลังพิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงไม่ปรากฏพยานหลักฐานเพียงพอที่จะสนับสนุนว่าได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
แต่การลงมติดังกล่าว ป.ป.ช.เสียงไม่เอกฉันท์ มีกรรมการเสียงข้างน้อย 1 ราย เห็นว่า มีมูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า เกี่ยวกับคดีนี้ ป.ป.ช. ระบุว่า พฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำผิดโดยสรุปว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในระหว่างวันที่ 17 ธันวาคม 2551 ถึงวันที่ 22 สิงหาคม 2554 ในฐานะประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ได้เสนอแนวทางการแทรกแซงตลาดข้าวของรัฐบาลโดยวิธีการประกันราคาข้าวเปลือก ต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2552 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2552 และที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบโดยให้ดำเนินการประกันราคาข้าวเปลือกแก่เกษตรกรเป็นการทั่วไป นายอภิสิทธิ์ฯ ในฐานะประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2552 และที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการแนวทางการดำเนินมาตรการข้าว ปี 2552/53 โดยให้ดำเนินการประกันราคาข้าวเปลือกแก่เกษตรกรเป็นการทั่วไป ปรากฏพฤติการณ์การทุจริตที่เรียกว่า "ทุจริตจดทะเบียนลม"
กล่าวคือ พบว่า จำนวนพื้นที่และผลผลิตจากการเพาะปลูกซึ่งเป็นเงื่อนไขในการขอรับเงินค่าชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาอ้างอิงกับราคาประกันมีจำนวนสูงกว่าความเป็นจริง ซึ่งสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้รายงานประเด็นปัญหาดังกล่าวนี้ให้คณะรัฐมนตรีทราบถึง 2 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 และวันที่ 7 ธันวาคม 2553 โดยชี้ให้เห็นว่า เมื่อเปรียบเทียบพื้นที่การปลูกข้าวทั้งประเทศ จากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) กับข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกที่ขึ้นทะเบียนและได้ใบรับรองแล้ว ปรากฏว่า พื้นที่ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนและออกใบรับรองแล้วมีจำนวนสูงกว่าพื้นที่ตามภาพถ่ายดาวเทียม ถึงกว่า 1.72 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 10.39 ของผลการขึ้นทะเบียน
นอกจากนี้ยังมีเกษตรกรบางรายซึ่งมีจำนวนมากปลูกข้าวหอมมะลิ ซึ่งมิได้อยู่ในหลักเกณฑ์ของโครงการที่จะได้รับเงินจากโครงการก็ใช้วิธีทุจริตจดทะเบียนลม ว่าปลูกข้าวเจ้าเพื่อใช้สิทธิรับเงินในโครงการ อีกทั้ง ปรากฏตามหนังสือสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ที่ ตผ 0012/0280 ลงวันที่ 30 มกราคม 2557 ซึ่งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ฯ พบว่า การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวไม่ถูกต้อง เกินความเป็นจริง ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่เป็นช่องทางนำไปสู่การสวมสิทธิ์เกษตรกรและการทุจริตได้ การตรวจสอบรับรองข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรไม่สามารถดำเนินการตรวจสอบได้อย่างทั่วถึง และการใช้การประชุมประชาคมเป็นเครื่องมือในการรับรองความถูกต้อง ความครบถ้วนของข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิผล
นายอภิสิทธิ์ฯ ในฐานะประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ละเลย เพิกเฉย ไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทางราชการตามที่มีอำนาจหน้าที่ และไม่เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่กลับปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการประกันราคาข้าว ทำให้เกิดความเสียหายด้านงบประมาณของแผ่นดินไปทั้งสิ้นตลอดระยะเวลา 2 ปี ของการปฏิบัติหน้าที่ ในภาระงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน 90,455.35 ล้านบาท และเป็นเงินกู้ในโครงการไทยเข้มแข็ง 40,000 ล้านบาท รวมความเสียหายประมาณ 130,455.35 ล้านบาท
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า องค์คณะไต่สวน (คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะ เป็นองค์คณะในการไต่สวนข้อเท็จจริง) ได้ร่วมกันพิจารณาข้อเท็จจริงจากการไต่สวนแล้ว มีความเห็นเป็นสองฝ่าย ดังนี้
องค์คณะไต่สวนฝ่ายเสียงข้างมาก มีความเห็นดังนี้
ประเด็นข้อกล่าวหาที่ 1 ผู้ถูกกล่าวหาละเลย เพิกเฉย ไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทางราชการและงบประมาณของแผ่นดินตามที่มีอำนาจหน้าที่
จากการไต่สวนข้อเท็จจริง พิจารณาว่า การดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2552/53 มีการจ่ายเงินชดเชยรายได้ให้กับเกษตรกร ทั้งหมด 2 รอบการผลิต รวมทั้งสิ้น จำนวน 47,818.878 ล้านบาท โดยเบิกจ่ายจากเงินงบประมาณจากเงินลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ได้จำนวน 31,929.180 ล้านบาท และส่วนหนึ่งเบิกจ่ายจากเงินงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายอีกจำนวน 15,889.698 ล้านบาท งบประมาณจึงมีที่มาที่ชัดเจนรองรับด้วยระเบียบและกฎหมาย และผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในทุกขั้นตอนกระบวนการ ใช้วงเงินตามงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร และบรรลุเป้าหมายของโครงการตามแผนที่กำหนดไว้ การใช้เงินงบประมาณในการดำเนินโครงการจึงชอบด้วยระเบียบและกฎหมาย กรณีตามคำกล่าวหาว่า เกิดภาระงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน จำนวน 90,455.35 ล้านบาท นั้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าวแต่อย่างใด
ทางไต่สวนไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า การดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2552/53 เกิดความเสียหายแก่ทางราชการและงบประมาณของแผ่นดินแต่อย่างใด ดังนั้น ตามประเด็นข้อกล่าวหาที่ 1 ว่า ผู้ถูกกล่าวหาละเลย เพิกเฉย ไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทางราชการและงบประมาณของแผ่นดินตามที่มีอำนาจหน้าที่ จึงยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอที่จะสนับสนุนข้อกล่าวหา
ประเด็นข้อกล่าวหาที่ 2 ผู้ถูกกล่าวหาไม่เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่กลับปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการประกันราคาข้าว
พิจารณาว่า ในระหว่างดำเนินโครงการ คณะรัฐมนตรีได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อติดตาม ตรวจสอบ และเร่งรัดการดำเนินโครงการเรื่อยมา ได้แก่ การนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมาใช้ในการตรวจสอบพื้นที่การเพาะปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียน แม้จะประสบปัญหาอุปสรรคด้วยเหตุปัจจัยหลายประการ รวมทั้งการเตรียมความพร้อม เนื่องจากเป็นการนำมาใช้ภายหลังจากที่โครงการดำเนินไปแล้ว แต่ก็แสดงให้เห็นถึงเจตนาในการหาวิธีดำเนินมาตรการตรวจสอบ อีกทั้งจะเป็นประโยชน์ในการนำข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมมาใช้ในการสอบทานการขึ้นทะเบียนเกษตรกรในคราวต่อไป ไม่ว่าจะเป็นในส่วนการเตรียมความพร้อมให้ทันช่วงระยะเวลาและนำสาเหตุที่เป็นปัจจัยที่ทำให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนมาพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้คณะกรรมการระดับตำบลได้มีการติดตามตรวจสอบและการเรียกเงินชดเชยรายได้ส่งคืนกรณีเกษตรกรแจ้งการผลิตเกินกว่าความเป็นจริงเนื่องจากเกษตรกรมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในการแจ้งข้อมูลพื้นที่การผลิต ซึ่งเป็นลักษณะการแจ้งที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน ไม่ถึงขั้นมีเจตนาทุจริต และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการแจ้งการผลิตเกินดังกล่าวแต่อย่างใด โดยเจ้าหน้าที่มีหน้าที่รับแจ้งและได้กำชับให้เกษตรกรต้องแจ้งพื้นที่ตามความเป็นจริง ซึ่ง ธ.ก.ส. สามารถเรียกเงินคืนได้ครบตามจำนวน และมีการกำหนดมาตรการดำเนินการกรณีเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดินทำกินไว้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ โดยให้กำนันหรือผู้ใหญ่บ้านหรือประธานกรรมการชุมชนเป็นผู้รับรองผ่านการทำประชาคมรับรองเกษตรกรแต่ละรายที่ได้ขึ้นทะเบียนโดยคณะกรรมการระดับตำบล และมีการตรวจสอบข้อมูล ชนิดพันธุ์ข้าวโดยคณะกรรมการระดับตำบลด้วยการสุ่มตรวจซึ่งจะสุ่มตรวจพื้นที่เพาะปลูก 10% ซึ่งพบว่ามีเกษตรกรแจ้งชนิดพันธุ์ข้าวไม่ตรงตามความเป็นจริงบ้างในจำนวนไม่มาก เนื่องจากยังไม่เข้าใจในรายละเอียดหลักเกณฑ์ของโครงการฯ เป็นสาเหตุจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งยังไม่มีผลเสียหายใดๆ เนื่องจากเกษตรกรยังไม่ได้ทำสัญญาและยังไม่ได้รับเงินชดเชยส่วนต่างแต่อย่างใด
รวมทั้งไม่ปรากฏพฤติการณ์ละเลยเพิกเฉยกรณีที่สำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีหนังสือ ที่ ปช 0012/0110 ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2553 เพื่อให้พิจารณาข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตในการแทรกแซงตลาดข้าวของรัฐบาล โดยคณะรัฐมนตรีพิจารณาและรับทราบข้อเสนอแนะและมอบหมายให้หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
เกี่ยวกับการกระทำของผู้ถูกกล่าวหา ในระหว่างดำเนินโครงการผู้ถูกกล่าวหามีส่วนในการใช้ดุลพินิจพิจารณาสั่งการข้อราชการต่างๆ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ตามที่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเสนอมา เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป และทำหน้าที่ในคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติในฐานะประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ โดยมีส่วนร่วมในการเสนอนโยบายและยุทธศาสตร์ต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับข้าวในระยะสั้นและระยะยาวให้สอดรับกันทั้งระบบ ติดตามกำกับดูแลการปฏิบัติตามนโยบายและมาตรการที่กำหนด เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นไปตามระบบราชการ รวมทั้งคณะรัฐมนตรีซึ่งได้ดำเนินการกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 โดยตลอดตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งสิ้นสุดโครงการ
ทางไต่สวนไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า การดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2552/53 มีปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือมีการทุจริตในโครงการแต่อย่างใด ดังนั้น ตามประเด็นข้อกล่าวหาที่ 2 ว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่กลับปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการประกันราคาข้าว จึงยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอที่จะสนับสนุนข้อกล่าวหา
องค์คณะไต่สวนฝ่ายเสียงข้างมากเห็นว่า ตามประเด็นข้อกล่าวหาทั้ง 2 ประเด็นดังกล่าวข้างต้น เมื่อตามทางไต่สวนไม่ปรากฏพยานหลักฐานเพียงพอที่จะสนับสนุนข้อกล่าวหาว่า การดำเนินโครงการเกิดความเสียหายแก่ทางราชการและงบประมาณของแผ่นดิน หรือมีปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือมีการทุจริตในโครงการตามที่กล่าวหา ดังนั้น กรณีกล่าวหาว่า ผู้ถูกกล่าวหาละเลย เพิกเฉย ไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทางราชการตามที่มีอำนาจหน้าที่ และไม่เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่กลับปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการประกันราคาข้าว ทำให้เกิดความเสียหายด้านงบประมาณของแผ่นดิน จึงเป็นกรณีข้อกล่าวหาไม่มีมูล เห็นควรให้ข้อกล่าวหาตกไป ตามมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554
องค์คณะไต่สวนฝ่ายเสียงข้างน้อย มีความเห็นดังนี้
เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนรับฟังเป็นที่ยุติได้ว่า ขณะเกิดเหตุนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้ถูกกล่าวหา ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติโดยตำแหน่ง ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 44/2552 ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 อาทิ กำกับโดยทั่วไปซึ่งการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อการนี้จะสั่งให้ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และส่วนราชการซึ่งมีหน้าที่ควบคุมราชการส่วนท้องถิ่น ชี้แจงแสดงความเห็น ทำรายงาน เกี่ยวกับการปฏิบัติราชการ ในกรณีจำเป็นจะยับยั้งการปฏิบัติราชการใดๆ ที่ขัดต่อนโยบายหรือมติของคณะรัฐมนตรีก็ได้ และมีอำนาจสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น ฯลฯ ส่วนตำแหน่งประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 44/2552 ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2552 อาทิ เสนอนโยบายและยุทธศาสตร์ต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับข้าวในระยะสั้นและระยะยาวให้สอดรับกันทั้งระบบ ติดตาม กำกับดูแลการปฏิบัติตามนโยบายและมาตรการที่กำหนด ฯลฯ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในคราวการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2552 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2552 ผู้ถูกกล่าวหาในฐานะประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ได้เสนอแนวทางการแทรกแซงตลาดข้าวของรัฐบาลโดยวิธีการประกันราคาข้าวเปลือกแก่เกษตรกรเป็นการทั่วไป และเป็นผู้ร่วมลงมติให้ความเห็นชอบในเรื่องดังกล่าว
จากนั้นผู้ถูกกล่าวหาในฐานะนายกรัฐมนตรีและหัวหน้ารัฐบาล ได้ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ในคราวการประชุมเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2552 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการแนวทางการดำเนินมาตรการข้าว ปี 2552/53 โดยให้ดำเนินการประกันราคาข้าวเปลือกแก่เกษตรกรเป็นการทั่วไป จากพฤติการณ์และบทบาทของผู้ถูกกล่าวหาไม่ว่าในฐานะประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติที่เป็นผู้ให้แนวทางและร่วมลงมติให้ความเห็นชอบก็ดี รวมถึงบทบาทของนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลที่มีมติเห็นชอบในหลักการก็ดี รวมถึงพฤติการณ์ที่เร่งรีบของผู้ถูกกล่าวหาที่นำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติได้เห็นชอบเพียงสี่วัน เห็นได้ชัดแจ้งว่ามาตรการประกันราคาข้าวที่ผู้ถูกกล่าวหาเสนอนั้นต้องเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อตัวผู้ถูกกล่าวหาและต่อการบริหารราชการแผ่นดินที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นหัวหน้ารัฐบาล
ข้อเท็จจริงปรากฏต่อมาว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการแล้ว การดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 จึงเริ่มขึ้น โดยแบ่งเป็นสองรอบการผลิต ผลปรากฏว่า ในรอบการผลิตที่สอง (นาปรัง) พบการทุจริตที่เรียกกันว่า "ทุจริตจดทะเบียนลม" ทั้งในส่วนของจำนวนพื้นที่ปลูกข้าวและในส่วนของชนิดพันธุ์ข้าว กล่าวคือ ในส่วนของจำนวนพื้นที่การปลูกข้าวซึ่งเป็นเงื่อนไขในการขอรับเงินค่าชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงกับราคาประกันนั้น มีจำนวนพื้นที่สูงกว่าความเป็นจริง โดยพื้นที่การปลูกข้าวทั้งประเทศที่ขึ้นทะเบียนและได้ใบรับรองแล้ว มีจำนวนพื้นที่ 16,586,976 ไร่ สูงกว่าพื้นที่จากภาพถ่ายดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ซึ่งมีจำนวนพื้นที่เพียง 14,862,030 ไร่ หรือสูงกว่า ความเป็นจริงเป็นจำนวนถึง 1.72 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 10.39 ของผลการขึ้นทะเบียน ส่วนชนิดพันธุ์ข้าวก็พบว่ามีการทุจริต เห็นได้จากการสุ่มตรวจสอบโดยคณะกรรมการระดับตำบลซึ่งมีการสุ่มตรวจพื้นที่เพาะปลูกร้อยละ 10 ของพื้นที่ทั้งหมด มีเกษตรกรที่จดทะเบียนปลูกข้าวหอมมะลิซึ่งไม่ได้อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับสิทธิเงินชดเชย กลับจดแจ้งว่าปลูกพันธ์ข้าวเจ้าเพื่อให้ได้สิทธิรับเงินชดเชย
องค์คณะไต่สวนเสียงข้างน้อยเห็นว่า เมื่อปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้นทั้งสองประการที่กล่าวมาข้างต้น เกิดขึ้นกับโครงการที่มีความสำคัญต่อตัวผู้ถูกกล่าวหาและต่อการบริหารราชการแผ่นดินที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นหัวหน้ารัฐบาล และไม่เป็นไปตามแนวทางหรือนโยบายและมติของคณะรัฐมนตรีที่ให้ความเห็นชอบ จึงมีความจำเป็นที่ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ด้วยการสั่งยับยั้งการดำเนินโครงการและสั่งสอบสวนข้อเท็จจริง แต่กลับปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 และเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2553 ซึ่งมีการรายงานสภาพปัญหาดังกล่าวให้ผู้ถูกกล่าวหาในฐานะหัวหน้ารัฐบาลได้รับรู้และรับทราบแล้ว แต่ไม่ปรากฏว่ามีการสั่งยับยั้งหรือสั่งสอบสวนตามอำนาจหน้าที่ตามที่พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 กำหนดไว้ นอกจากนี้ในฐานะที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ มีหน้าที่จะต้องติดตาม กำกับดูแลการปฏิบัติตามนโยบายและมาตรการที่กำหนด ตามที่ระบุไว้ในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 44/2552 ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2552 ข้อ 2.5 แต่ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดๆ ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้มีการเสนอสภาพปัญหาต่อคณะกรรมการ หรือคณะกรรมการมีมติอย่างใดๆ ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กรณีถือได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่แล้ว
ภาพจาก https://www.nationtv.tv/
ผลของการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกกล่าวหาทั้งในฐานะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ส่งผลให้รัฐบาลต้องเสียหายด้วยการใช้เงินชดเชยกับโครงการเป็นจำนวนมาก และแม้จะมีเกษตรกรนำเงินชดเชยรายได้ส่งคืนทั้งสิ้น 7 จังหวัด จากเกษตรกรจำนวนเกษตรกร 265 ราย เป็นเงินจำนวน 1,285,594.39 บาท แต่ก็ไม่ทำให้ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาซึ่งสำเร็จไปแล้วกลับกลายไม่เป็นความผิด และการที่คณะรัฐมนตรีซึ่งผู้ถูกกล่าวหาเป็นหัวหน้ามีมติเพียงแต่รับทราบและสั่งการว่าเพื่อประโยชน์ในการดำเนินโครงการให้นำข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมมาใช้ในการสอบทานการขึ้นทะเบียนเกษตรกรในครั้งต่อไป โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการและนำสาเหตุที่เป็นปัจจัยที่ทำให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนมาพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
มติดังกล่าวก็ยังไม่อาจฟังได้ถึงขนาดว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ได้สัดส่วนกับความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นแต่เพียงการทำในรูปแบบพิธีการ หาได้มีความจริงจังในการที่จะแก้ปัญหาไม่ อีกทั้งต่อมาคณะรัฐมนตรีก็ไม่ได้มีมติใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้อีก ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงเจตนาพิเศษของผู้ถูกกล่าวหาที่ละเว้นไม่ดำเนินการใดๆ ต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เห็นควรแจ้งข้อกล่าวหา
ทั้งนี้ องค์คณะไต่สวนมีความเห็นว่า เห็นควรส่งเรื่องให้สำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรมดำเนินการจัดทำข้อเสนอแนะในการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการดำเนินมาตรการแทรกแซงตลาดข้าวในโครงการประกันรายได้เกษตรกร เพื่อเสนอแนะให้กับรัฐบาลต่อไป ในประเด็นดังต่อไปนี้
1. การขึ้นทะเบียนเกษตรกร ควรตรวจสอบคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะต้องเป็นเกษตรกรที่แท้จริงเท่านั้น และต้องแจ้งพื้นที่เพาะปลูกที่ถูกต้องตรงตามโครงการและตรงกับความเป็นจริง และแจ้งข้อมูลด้วยว่า ในรอบปีการผลิตปลูกพืชชนิดใดในช่วงเวลาใด
2. ควรมีการสุ่มตรวจพื้นที่เพาะปลูกโดยคณะกรรมการระดับตำบลหรือหน่วยงานในระดับพื้นที่ที่เกี่ยวข้องในโครงการทุกฝ่ายร่วมกันตรวจสอบ และควรสุ่มตรวจพื้นที่มากกว่าร้อยละ 10 ของพื้นที่ทั้งหมด
3. ในกรณีที่ตรวจสอบพบเกษตรกรที่แจ้งพื้นที่เพาะปลูกหรือชนิดพันธุ์ข้าวไม่ถูกต้องหรือไม่ตรงกับความเป็นจริง ควรตัดสิทธิเกษตรกรรายดังกล่าวที่จะได้รับเงินชดเชย พร้อมทั้งจัดทำบัญชีรายชื่อเอาไว้
4. หากจะใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ (ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม) มาตรวจสอบพื้นที่การเพาะปลูกของเกษตรกรที่แจ้งขึ้นทะเบียนไว้ ควรใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมในมาตราส่วน 1 : 4,000 ซึ่งมีความแม่นยำมากกว่ามาตราส่วน 1 : 25,000 และควรตรวจสอบทั้งก่อนขึ้นทะเบียน หลังขึ้นทะเบียนและดำเนินโครงการแล้วเป็นระยะๆ
ผลสรุป คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมพิจารณาเรื่องนี้ ได้ลงคะแนนเสียงแยกเป็นสองฝ่าย ดังนี้
ฝ่ายเสียงข้างมาก จำนวน 6 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. องค์คณะในการไต่สวนข้อเท็จจริงฝ่ายเสียงข้างมาก ว่า จากการไต่สวนข้อเท็จจริงไม่ปรากฏพยานหลักฐานเพียงพอที่จะสนับสนุนว่า นายอภิิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้ถูกกล่าวหา ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
ฝ่ายเสียงข้างน้อย จำนวน 1 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. องค์คณะในการไต่สวนข้อเท็จจริงฝ่ายเสียงข้างน้อย ว่า จากการไต่สวนข้อเท็จจริงปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่า การกระทำของนายอภิิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้ถูกกล่าวหา มีมูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เห็นควรแจ้งข้อกล่าวหาตามฐานความผิดดังกล่าวให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ เพื่อให้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อไป
ประธานฯ จึงสรุปว่า ผลการลงคะแนนเสียงเพื่อมีมติของที่ประชุมเรื่องนี้ ต้องถือตามความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ฝ่ายเสียงข้างมาก จำนวน 6 เสียง ซึ่งเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนคณะกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ที่เห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. องค์คณะในการไต่สวนข้อเท็จจริงฝ่ายเสียงข้างมาก ว่า จากการไต่สวนข้อเท็จจริงไม่ปรากฏพยานหลักฐานเพียงพอที่จะสนับสนุนว่า นายอภิิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้ถูกกล่าวหา ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
ทั้งนี้ ให้ส่งเรื่องให้สำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรมพิจารณาศีกษาวิเคราะห์และจัดทำข้อเสนอแนะในการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการดำเนินมาตรการแทรกแซงตลาดข้าวในโครงการประกันรายได้เกษตรกร เพื่อเสนอแนะให้กับรัฐบาลต่อไป รวม 4 ประเด็นดังต่อไปนี้
1. การขึ้นทะเบียนเกษตรกร ควรตรวจสอบคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะต้องเป็นเกษตรกรที่แท้จริงเท่านั้น และต้องแจ้งพื้นที่เพาะปลูกที่ถูกต้องตรงตามโครงการและตรงกับความเป็นจริง และแจ้งข้อมูลด้วยว่า ในรอบปีการผลิตปลูกพืชชนิดใดในช่วงเวลาใด
2. ควรมีการสุ่มตรวจพื้นที่เพาะปลูกโดยคณะกรรมการระดับตำบลหรือหน่วยงานในระดับพื้นที่ที่เกี่ยวข้องในโครงการทุกฝ่ายร่วมกันตรวจสอบ และควรสุ่มตรวจพื้นที่มากกว่าร้อยละ 10 ของพื้นที่ทั้งหมด
3. ในกรณีที่ตรวจสอบพบเกษตรกรที่แจ้งพื้นที่เพาะปลูกหรือชนิดพันธุ์ข้าวไม่ถูกต้องหรือไม่ตรงกับความเป็นจริง ควรตัดสิทธิเกษตรกรรายดังกล่าวที่จะได้รับเงินชดเชย พร้อมทั้งจัดทำบัญชีรายชื่อเอาไว้
4. หากจะใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ (ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม) มาตรวจสอบพื้นที่การเพาะปลูกของเกษตรกรที่แจ้งขึ้นทะเบียนไว้ ควรใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมในมาตราส่วน 1 : 4,000 ซึ่งมีความแม่นยำมากกว่ามาตราส่วน 1 : 25,000 และควรตรวจสอบทั้งก่อนขึ้นทะเบียน หลังขึ้นทะเบียนและดำเนินโครงการแล้วเป็นระยะๆ
สำนักข่าวอิศรา รายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ได้เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตีตกข้อกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2552 เห็นชอบให้ออกใบอนุญาตให้แก่โครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ โดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 67 ไปแล้ว