ป.ป.ช. ลงพื้นที่ตามที่ได้รับแจ้งจากศูนย์ CDC กรณี รฟท. จัดซื้อหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อ 20 ตัว งบประมาณ 93 ล้านบาท แล้วไม่ได้ใช้งาน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า สำนักงาน ป.ป.ช. ลงพื้นที่ขอทราบข้อมูลข้อเท็จจริงและสังเกตการณ์การใช้งานหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโดยใช้รังสียูวีซี (UV-C) ของการรถไฟแห่งประเทศไทยตามที่ศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงาน ป.ป.ช. (ศูนย์ CDC) ได้แจ้งข้อมูลมายังสำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 กรณี การรถไฟแห่งประเทศไทย จัดซื้อหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโดยใช้รังสียูวีซี (UV-C) จำนวน 20 ตัว ภายใต้การดำเนินโครการ “งานจัดหาหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโดยใช้รังสียูวีซี (UV-C) จำนวน 20 ตัว ของการรถไฟแห่งประเทศไทย” งบประมาณวงเงิน 96,300,000 บาท โดยกรณีดังกล่าวมีการตั้งประเด็นว่า เป็นการดำเนินการที่มีความคุ้มค่าหรือไม่
โดยเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 สำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต โดยนางสาวฐิติวรดา เอกบงกชกุล ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต นายธวัชชัย สุขศิริผล นักสืบสวนคดีทุจริตชำนาญการพิเศษ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มรักษาความปลอดภัยและกิจการพิเศษ พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ ได้ลงพื้นที่ เพื่อสังเกตการณ์การใช้งานหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อฯ และร่วมพูดคุยข้อมูลข้อเท็จจริงกับ นางฐานิยาร์ เดชอุดม ผู้อำนวยการฝ่ายพัสดุ และเจ้าหน้าที่ รฟท. ณ โรงซ่อมประจำวัน (Daily Maintenance) สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
โดย รฟท. ให้ข้อมูลว่า เมื่อปี พ.ศ. 2563 สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดและมีมาตรการป้องกันให้ได้รับการยอมรับว่าการใช้บริการทางรถไฟเป็นการเดินทางที่ปลอดภัย ปลอดเชื้อ และมีมาตรฐานระดับสากล รฟท. จำเป็นต้องมีมาตรการเสริมในการทำให้ขบวนรถและสถานีปลอดเชื้อ ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพ
โดยอาศัยคุณสมบัติเฉพาะของเครื่องมือหรือเทคโนโลยีที่มีคุณสมบัติสามารถฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการสัมผัสสารเคมีในน้ำยาฆ่าเชื้อต่าง ๆ ที่มีฤทธิ์กัดกร่อนและมีอันตรายต่อผู้โดยสาร ผู้เกี่ยวข้องที่ใช้บริการบนขบวนรถและสถานีต่าง ๆ เพิ่มความเชื่อมั่นและสร้างความพึงพอใจในระบบบริการและยกระดับคุณภาพบริการ จึงมีการจัดหาหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโดยใช้รังสียูวีซี (UV-C) จำนวน 20 ตัว ดำเนินการโดยวิธีคัดเลือก วงเงินงบประมาณ 96,300,000 บาท ซึ่งหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อที่จัดหาถูกใช้งานเพื่อฆ่าเชื้อโรคบนขบวนรถไฟ และบริเวณสถานีต่าง ๆ มาโดยตลอด ทั้งนี้ มีการประสานงานเพื่อขอเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม อาทิ สัญญาการจัดซื้อ